สงครามกับคนชายขอบ

Share

สงครามกับคนชายขอบ

21687752_1721610077850286_1111240563850923878_n

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 ได้รับรู้เรื่องชาวกระเหรี่ยงรายหนึ่งที่รับราชการปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารพราน เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในวันที่ 22 กันยายน เหตุเกิดที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานีเมื่อ 22 ก.ย.2560 เวลาประมาณ 06.40 น. สภ.สายบุรี ได้รับแจ้งเหตุ คนร้ายไม่ทราบจำนวน วางระเบิด ชป.ทหารพราน 4412 จำนวน 9 นาย ขณะออก ว.เส้นทางโดยรถยนต์ บริเวณถนนสาย 42 (สายเก่า) พื้นที่ บ้านเจาะกือแย ม.1 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้ จนท.ทพ.เสียชีวิต จำนวน 6 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย

อส.ทพ พิทักคมสิต ศักดิ์วิเศษสม เกิดวันที่ 26 มิถุนายน 2539 อายุเพียง 21 ปี ตั้งใจสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นทหารพรานด้วยตนหลังจากเรียนจบมัธยม 6 ตอนเรียนมัธยมก็เรียนนักศึกษาวิชาทหาร อาจเนื่องจากมีญาติใกล้ชิดก็รับราชการเป็นทหารพรานในจังหวัดชายแดนใต้ อส.ทพ. พิทักคมสิต มีชื่อเล่นว่าเล็ก เป็นลูกชายคนเดียวมีพี่น้องรวมสี่คน เล็กเป็นลูกชายคนที่สาม การสูญเสียครั้งนี้เป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ในครอบครัวของเล็ก

ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียของบุคคลที่รักในครอบครัวของทหาร ตำรวจและประชาชนทั่วประเทศที่สูญเสียในสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึงเกือบ 14 ปี

ความร่วมสมัยและการเมืองที่วุ่นวายในสังคมไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาทำให้การศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ครบคลุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชนชายขอบที่มีส่วนในการสู้รบในนามกองทัพไทย เห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญและน่าทำการศึกษา แม้นักวิชาการหรือผู้ติดตามหลายกลุ่มจะศึกษากันแทบจะทะลุปุโป่งทั้งทางนักวิชาการทางทหารและนักวิชาการด้านสันติวิธี รวมทั้งการทำงานด้านพัฒนาหลายด้าน แล้วก็ตามแต่ส่วนใหญ่เน้นผลกระทบที่ม่ีต่อชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น

ในเชิงเปรียบเทียบเมื่อมาศึกษาถึงผลกระทบของสงครามเวียดนาม-สหรัฐเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมานั้นยังคงมีผลต่อคนสหรัฐอเมริกาที่ส่งไปรบที่เวียดนามและต่อสังคมอเมริกันอยู่ไม่น้อย แม้สงครามสหรัฐในเวียดนามจบลงไปกว่า40ปี เป็นที่ยอมรับว่ากระแสความไม่พอใจของประชาชนในการทำสงครามของรัฐบาลสหรัฐขณะนั้นเกิดขึ้นจากทหารสหรัฐอเมริกาและครอบครัวเองที่ส่งเสียงบอกรัฐบาลเขาในขณะนั้น ว่า “หยุดส่งคนไปตาย” สงครามสร้างบาดแผลในบ้าน มากกว่าที่ก่อไว้ที่สนามรบเสียอีก

เมื่อครั้งที่เคยได้ไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เมืองแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า แซนตา เฟ้ (Santa Fe) เราพบกับชาวอินเดียแดงอายุเกษียณคนหนึ่ง นั่งทำสร้อยแหวนเงินเพื่อขาย เขาเรียกเราเข้าไปคุย โดยถามว่ามาจากเวียดนามหรือเปล่า เขาเคยไปนะเวียดนาม เราก็บอกว่าเรามาจากประเทศไทย แต่เขาคงเห็นหน้าอาเซียนอย่างเราคุ้นๆ แล้วก็เล่าต่ออย่างไม่ยอมหยุด เรื่องราวที่ทำให้เราน้ำตานองหน้า เขาเล่าว่าตอนอายุ 18 ปี ถูกส่งไปรบที่เวียดนาม เขาไม่รู้ว่าที่นั้นคือที่ไหน ทำไมต้องไปรบ

วันที่เราพบเขา เขานั่งรวมกลุ่มกับอดีตทหารหลายคน ฝึกทำเครื่องเงินซึ่งเป็นโครงการบำบัดช่วยเหลืออดีตทหารอเมริกันจากสงครามเวียดนามที่เขาตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม การทำงานทำเครืื่องเงินทำให้เขามีสมาธิ ช่วยให้เขามีรายได้และช่วยบำบัดด้านจิตใจ

เขาเล่าต่อด้วยน้ำเสียงเศร้าแต่แฝงไปด้วยความจริงจังว่าเขาไม่สามารถได้ยินเสียงเด็กร้องแม้แต่ลูกหรือหลานตัวเอง ไม่สามารถได้ยินเสียงปิดประตูดังๆ มันทำให้เขาคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม และ มีวันหนึ่งเขาตั้งใจไปกินอาหารในร้านอาหารเวียดนามแห่งหนึ่ง ไม่ได้ชอบอาหาร แต่ตั้งใจไปขอโทษชาวเวียดนาม หลังจากวันนั้นเขาบอกว่าเขาดีขึ้นมาก แล้วก็ได้กุ๊กทำอาหารเวียดนามเป็นเพื่อน ทำให้เขาคุยได้และสามารถเล่าเรื่องนี้ให้เราฟังได้ เหมือนได้รับการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจได้ระดับหนึ่ง

มีชาวอัฟริกันอเมริกัน และชาวอินเดียแดงชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากต้องเข้าสู่การสู้รบในนามของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประเทศเองก็ไม่ได้รักและเคารพ หรือเข้าใจความเป็นอัฟริกันอเมริกันหรือชนเผ่าพื้นเมืองเท่าไรนัก เหตุใดคนชายขอบในหลายๆ พื้นที่สงครามกลับกลายเป็นเหยื่อสงครามโดยที่ตนอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ใดใด และวีรกรรมกลับกลายเป็นบาดแผลทางด้านจิตใจที่ยากที่จะเยียวยา
หรือเราต้องยอมรับโดยดุษฎี ว่าสงครามมักมีบาดแผล แล้วปล่อยให้มันดำรงอยู่ต่อไป

บันทึกไว้ 23 กันยายน 2560
ภาพจาก Internet

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading