[:th]CrCF Logo[:]

The Unknown Fate of the Disappeared โดย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

Share

อยู่ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่ไหม สบายดีหรือเปล่า เหงาไหม ตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร สุขภาพเป็นอย่างไร ทรมานมากไหม ใครพาเธอไป….เราอยากรู้ชะตากรรมของเธอ แต่ไม่มีใครให้คำตอบเราได้เลย…

นี่เป็นเพียงบางส่วนของคำถาม ที่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายตั้งขึ้นกับตัวเอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกคนคิดถึงคนที่ตนรัก ทุกคนอยากรู้ชะตากรรมของคนที่ตนรัก แต่การสอบสวนที่ล่าช้า การไร้ซึ่งกฎหมาย ทำให้เกิดสภาวะคลุมเคลือไร้คำตอบ ทำให้ความหวังที่จะได้พบกับคนที่ตนรักอีกสักครั้งค่อยๆลดลงไปตามระยะเวลา

จนกว่าจะรู้ชะตากรรมของคนที่ตนรัก ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อของการบังคับให้สูญหาย คือเหยื่อของการบังคับให้สูญหาย

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือที่เรียกว่า อุ้มหาย นั้นแหละ

การบังคับให้สูญหายเป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มคนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำการควบคุมตัวหรือทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเสียเสรีภาพลง เช่นจับโดยไม่มีหมาย ลักพาตัวไป แล้วปฏิเสธว่าไม่มีการจับกุม ควบคุมตัว หรือลักพาตัวเกิดขึ้น ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในภาวะขาดความคุ้มครองตามกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ เช่น ถูกซ้อมทรมาน ถูกฆ่าปิดปาก เป็นต้น

แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนจะทำเเบบนี้กับประชาชนทำไมหน่ะหรือ ก็บางครั้ง นโยบายบางอย่างละเมิดสิทธิประชาชนจนทำให้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตน ทำให้เจ้าหน้าที่บางกลุ่มต้องการส่งสัญญาณให้คนในกลุ่มเป้าหมายนั้นกลัว เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เป็นการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง ปิดปากผู้ที่เป็นกระบอกเสียงหรือคนที่เป็นแกนนำของกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในประเด็นต่างๆให้กับชุมชน เพราะความต้องการของเขาเหล่านั้นแตกต่างกับนโยบายของรัฐ

เชื่อไหม ทั่วโลกมีเหยื่อของการบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 43,250 ราย ในจำนวนนี้มาจากประเทศไทย 82 ราย ตัวเลขนี้มาจากรายงานคณะทำงานด้านการบังคับให้สูญหาย ของสหประชาชาติ ที่ได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้เยอะ

การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ดังนั้นทั่วโลกจึงได้พยายามที่จะหาเครื่องมือในการจัดการกับอาชญากรรมร้ายแรงนี้ เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัว นำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ และป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก จนกระทั่งได้มีการออก “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ” ซึ่งประเทศไทยก็ได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ในจำนวน 82 ราย ที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีแม้แต่กรณีเดียวที่ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษตามกฎหมาย คิดดูนะ พ่อของเราหายไปจากโรงพัก ก. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ในโรงพักนั้นควบคุมตัวพ่อเราไป เเต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้จับตัวพ่อเราไป แล้วเราต้องไปแจ้งความกับตำรวจที่โรงพัก ก. นั่นแหล่ะ เพื่อให้ตามหาพ่อของเราและนำตัวคนที่ทำให้พ่อเราหายไปมาลงโทษ คิดออกไหม คือการบังคับให้บุคคลสูญหายมันพิเศษตรงที่คนทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายอาญาธรรมดา วิธีพิจารณาความอาญาธรรมดา จึงไม่สามารถเอามาใช้ในกรณีอุ้มหายได้อย่างสมบูรณ์

ทำไมนะหรือ ก็ในเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนทำความผิดเสียเอง เขาก็รู้กฎหมาย รู้วิธีการในการทำลายพยานหลักฐานนะสิ ทำให้การสืบสวนสอบสวนคดีบังคับให้สูญหายยากลำบากมาก ทีนี่เมื่อยังไม่มีกฎหมายภายในประเทศกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดอาญา การดำเนินการเกี่ยวกับคดีที่เป็นการบังคับให้สูญหายก็จะเป็นแบบนี้แหล่ะ เรียกได้ว่านอกจากจะตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายแล้วยังตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมซ้ำเข้าไปอีก

การลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ทำให้อนุสัญญามีผลบังคับใช้ในประเทศ เนื่องจากศาลไทยก็ต้องใช้กฎหมายไทย เพราะสำหรับศาลไทยแล้วกฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นแค่ข้อเท็จจริง ซึ่งศาลไทยไม่ได้ถูกบังคับให้ต้อง รู้จะนำมาพิจารณาหรือไม่ก็ได้ หากรัฐมีความจริงใจต้องการให้กฎหมายมีผลบังคับในประเทศจริง รัฐก็ต้องมีการอนุวัติการผ่านกฎหมายเป็นกฎหมายภายในประเทศ

โต๊ะอิหม่ามหะยีสุหลง อับดุลกอร์เด โต๊ะมีนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หายไปกว่า 62 ปีแล้ว ครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม

คุณทนง โพธิ์อ่าน หายไปช่วงที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แรงงานในประเทศ นับถึงปัจจุบัน หายไปกว่า 26 ปีแล้ว ครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม

ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำงานส่งเสริมให้บุคคลได้เข้าถึงความยุติธรรม หายไปกว่า 13 ปีแล้ว ครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม

คุณพอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนชาวบางกลอย หายไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว กว่า 3 ปีแล้ว ครอบครัวยังรอคอยความยุติธรรม

พ่อเด่น คำเเหล้ นักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน หายไปในป่าปีกว่าแล้ว ถึงปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสถานะได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ยังมีเหยื่อนิรนามอีกมากมายที่เราไม่สามารถเอ่ยถึงพวกเขาได้ทั้งหมด แต่ตัวเลข 82 รายนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จำกันได้ไหม สุสานเผานั่งยางในเขตป่าสงวนแห่งชาติกุดจับ หมู่ 3 บ้านคำบอนเวียงชัย ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่มีการพบร่องรอยเผานั่งยาง ถึง 23 จุด ทำให้น่าเชื่อว่ามีเหยื่อไม่น้อยกว่า 23 ราย ถ้าจำกันไม่ได้ อ่านข่าวต่อที่นี่ http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000043766 ครั้งนั้นมีคนมาแจ้งความที่ สภ. บ้านผือ ว่าญาติตัวเองหายไปกว่า 40 ราย แต่หลังจากข่าวเงียบลง การสืบสวนสอบสวนก็เงียบตามไปด้วย

ทุกครอบครัวถูกบังคับให้เผชิญชะตากรรมเดียวกันคือ ไม่ทราบชะตากรรมของคนที่ตนรัก และต้องต่อสู้กับกระบวนการสอบสวน 1.0 ที่ยังไม่อัพเกรดและล้าช้า การไร้เจตจำนงทางการเมืองของรัฐที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้สูญหายอย่างแท้จริง

ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องออกกฎหมายเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดกฎหมาย ทำตามอำเภอใจ ละเมิดหลักนิติธรรม ใช้อำนาจมิชอบ เพื่อไม่ให้เขาสามารถลอยนวลทำความผิดซ้ำอีก
ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และชดเชยเยียวยาให้กับความทุกข์ทรมานที่ถูกยัดเยียดให้อย่างไม่เป็นธรรม
ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องคืนความจริงให้กับสังคม
ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย

เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้า ยังดีกว่าความยุติธรรมที่สูญหาย

ด้วยความเคารพต่อผู้สูญหายและครอบครัว
ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

RELATED ARTICLES