[:th]
เผยแพร่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560
ใบแจ้งข่าว
มารดาและบิดาของผู้ตาย 4 ครอบครัว ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 39 ล้านบาท จากกองทัพบก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีเจ้าหน้าที่ยิงประชาขนเสียชีวิต 4คน
เหตุเกิดเมื่อปี 2558 ในพื้นที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ชาวบ้าน 4 ครอบครัว ซึ่งเป็นมารดาและบิดาของผู้ตาย เป็นโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ยื่นฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 39,076,796บาท (ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง) จากกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหา ละเมิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีเมื่อปี 2558 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังปฎิบัติการในพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี แล้วเจ้าหน้าที่ได้ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 คน ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นนักศึกษา 2 คน
โจทก์ทั้งแปดได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล (ร้อยละ 2 ของจำนวนค่าเสียหายซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้อง) ไปพร้อมกับคำฟ้องด้วย ศาลกำหนดเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.397/2560 และนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลในวันที่ 18 กันยายน2560 เวลา 09.00 นาฬิกา เพื่อศาลจะได้พิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งแปดและมีคำสั่งว่าจะยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ทั้งแปดหรือไม่เพียงใดเสียก่อนในการรับฟ้องคดีนี้
เหตุแห่งคดี สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 มีการสนธิ่กำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ 25, หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวนจชายแดนภาคใต้ (ศชต.) จ.ยะลา เข้าปฏิบัติการในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน ได้แก่ นายสูไฮมี เซ็นและ นายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แม้เราะ และ นายซัดดัม วานุ ในจำนวน 4 คนที่เสียชีวิต มี 2 คนเป็นนักศึกษา ได้แก่ นายคอลิด และนายมะดารี เป็นนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน มีพฤติการณ์เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบมาก่อน มีเพียงบางรายที่เคยถูกจับเพราะเสพน้ำกระท่อม ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในขณะที่วิ่งหลบหนีเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 ราย มีอาวุธปืนแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นั้น คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากมีข้อมูลด้านข่าวกรองและข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่ ส่วนอาวุธที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบอยู่กับผู้ตาย ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงกับผู้ตาย และจากการตรวจสอบอาวุธปืนดังกล่าว ไม่พบว่าเคยใช้ในการกระทำความผิดมาก่อน จึงไม่สามารถสรุปได้ คงให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ แต่น่าเชื่อว่าไม่ใช่เป็นอาวุธของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น และได้เสนอแนะให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 คนเสียชีวิต ทั้งให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบโดยเร็ว นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับปรุงระบบการข่าวกรองให้แม่นยำมากขึ้น การเข้าปิดล้อมตรวจค้นควรมีผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดดังกล่าวอีก และถ้าเกิดเหตุคล้าย กับกรณีดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว
ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2558 พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีดำเนินการยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายนายสูไฮมีฯ กับพวก ต่อศาลจังหวัดปัตตานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.11/2558และญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าซักถามพยานของพนักงานอัยการฯ โดยศาลจังหวัดปัตตานีไต่สวนพยานทั้งหมด 21 ปาก ได้แก่พยานของพนักงานอัยการจำนวน 8 ปาก และพยานของร้องซักถาม(ญาติผู้ตาย) จำนวน 13 ปาก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ศาลได้มีคำสั่งในคดีการไต่สวนการตาย เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ช.12/2559 สรุปความได้ว่า เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ผู้ตายทั้งสี่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชุดสนธิกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
ส่วนคดีอาญากรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสี่ ซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ญาติของผู้ตายทั้งสี่ยังติดใจและอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตัดสินใจฟ้องคดีอาญาเองหรือไม่
ผู้ที่สนใจคดีดังกล่าว สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ที่ ศาลจังหวัดปัตตานี ในวันที่18 กันยายน 2560 เวลา 09.00 นาฬิกา
และติดตามเรื่องราวเหตุการณ์คดีนี้ ได้ที่ https://crcfthailand.org/?s=โต๊ะชูด หรือ Facebook page: Cross Cultural Foundation(CrCF)
[:]