[:th]
คน… ป่า… กับการมีส่วนร่วม…
ภาพและเรื่องโดย รังสี ลิมปิโชติกุล
ระยะทางจากตัวอำเภอท่าสองยาง ถึงบ้านขุนแม่เหว่ย ( แม่ปอคี ) แค่ไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตร แต่กลับต้องใช้เวลาเดินทาง ไม่ต่ำกว่า ๓ ชั่วโมง โดยเฉพาะระยะทาง เข้า หมู่บ้าน ช่วง ๑๖ กิโลเมตร สุดท้าย ใช้เวลาเดินทางมากว่า ๒ ขั่วโมง ผ่านหมู่บ้านถึง ๔ หมู่บ้าน ลัดเลาะตามแนวเขากว่า ๕ ลูก จึงจะถึงที่หมาย บ้านขุนแม่เหว่ย ( แม่ปอคี )
ชาวบ้านจากหมู่บ้านขุนแม่เหว่ย ( บ้านแม่ปอคี ) ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลท่่าสองยาง ผู้ใหญ่บ้าน จาก หมู่ที่ ๔ ๕ ๗ และพระภิกษุสงฆ์ จากวัดขุนแม่เหว่ย ได้ร่วมกันจัดพิธีบวชป่า ที่บริเวณโดยรอบน้ำตกขุนแม่เหว่ย ซึ่งเป็นต้นน้ำขุนแม่เหว่ย เพื่อเป็นการนำพิธีกรรมตามภูมิปัญญาวัฒนธรรมของคนปากเกอะญอมาประยุกต์ใช้ในการปกป้องและพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์แก่เยาวชนในหมู่บ้านให้เห็นคุณค่าการดูแลรักษาป่า และเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า
โดยใช้วิถีภูมิปัญญาของคนในชุมชน ที่สำคัญเป็นการจุดประกายประเด็นความสนใจของชุมชนที่ต้องการหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่โดยชุมชนได้มีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับพื้นที่เขตป่า โดยที่เขตป่าไม่รุกรานชุมชน และชุมชนไม่บุกรุกเขตป่า เป็นชุมชนที่อยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้
นายพาเหาะ ลำเนาไพร อายุ ๖๕ ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณ แห่งหมู่บ้านขุนแม่เหว่ย ( บ้านแม่ปอคี ) ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นความต้องการของชุมชนที่จะปลุกจิตสำนึกเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับเขตป่า ซึ่งชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยนั้นมีประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนมากว่า ๑๕๐ ปี เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้ง น้ำตก ป่าไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะในชุมชนมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ คือ มีป่าเดป่อทู่ หรือ ป่าสะดือ ที่ดูแลจัดการโดยวิถีชุมชน ที่มีความผูกพันธ์กับป่ามาตั้งแต่เกิด โดยจะมีการนำสายสะดือของเด็กแรกเกิดไปแขวนไว้กับต้นไม้เป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับต้นไม้ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน โดยห้ามใครตัดต้นไม้ต้นนั้น รวมถึงมีระบบการเกษตรแบบผสมผสาน คือการทำไร่หมุนเวียน เพราะเป็นระบบการเกษตรที่สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศน์ และถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญา ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนนั้น จะมีพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมการบอกกล่าวเจ้าป่า เจ้าเขา เพื่อขอทำไร่ข้าว เมื่อทำเสร็จก็จะมีพิธีส่งคืนให้กับเจ้าป่าเจ้าเขา โดยมีความเชื่อว่าพื้นที่ทั้งหมดนั้นเป็นของเจ้าป่า เจ้าเขา อีกทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ ยังมีการทำบุญเลี้ยงเจ้าป่า เจ้าเขาในเขตป่า ซึ่งเป็นความเชื่อ ควมศรัทธา ต่อจิตใจของชาวปาเกอะญอ
นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ รองคณะบดี ฝ่ายเครือข่ายชุมชน วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย กล่าวว่าการจัดพิธีบวชป่า ของชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าชุมชนมีความตั้งใจที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ของชุมชนเอง โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ซึ่งป่าต้นน้ำขุนแม่เหว่ย แห่งนี้มีความสำคัญต่อคนในชุมชนและละแวกใกล้เคียงเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภค บริโภค แหล่งอาหาร และที่ทำกิน การบวชป่านั้นเป็นการแสดงออกถึงจิตสำนึกของชุมชนในการพิทักษ์ผืนป่าให้คงอยู่ และถือว่าเป็นการเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ซึ่งีความคิดร่วมกัน คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรภายในชุมชน อีกทั้งอนาคตต้องมีการร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้ออาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ คนในชุมชน และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านนำร่อง ชุมชนสีเขียว โดยมีการประยุกต์ใช้ทั้งภูมิปัญญาชาวปาเกอะญอและองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาปรับใช้ ซึ่งทางวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยเองก็ได้มีการจัดการร่วมกันกับชุมชน ในการจัดทำแหล่งเรียนรู้ สร้างงานวิจัย เพื่อให้ชุมชนเกิดประโยชน์ พร้อมทั้งเสริมสร้างพลังให้ชุมชนมั่นใจในการจัดการชุมชน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ได้เห็นความตั้งใจของชุมชน บ้านขุนแม่เหว่ย ในการที่จะอยู่ร่วมกับป่า โดยชุมชนเองพยายามที่จะหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่โดยที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับพื้นที่เขตป่า โดยที่เขตป่าไม่รุกรานชุมชน และชุมชนไม่บุกรุกเขตป่า เป็นชุมชนที่อยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่องนโยบายการฟื้นฟูวิถีชาวกะเหรี่ยง โดยมีประเด็นหลักๆ ๕ ด้าน ด้วยกัน ได้แก่
๑ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม
๒ การจัดการทรัพยากร
๓ สิทธิในสัญชาติ
๔ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม
๕ การศึกษา
โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการทรัพยากร นั้น มีมาตรการคือ ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม และให้จัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกในการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม[:]