13 ปีการหายไปของทนายสมชาย ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายถือว่ารัฐยังคงล้มเหลวในการปกป้องสิทธิในชีวิตของประชาชน
นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยมีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 5 นายเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปครั้งนั้น จนถึงบัดนี้เป็นเวลา 13 ปีแล้ว ไม่มีใครทราบชะตากรรมของทนายสมชายว่าเขายังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ การค้นหาความจริงและการแสวงหาความยุติธรรมของครอบครัวทนายสมชายยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องจึงต้องตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่ตอบสนองกับสภาพความผิด โดยต้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 และ 310 ข้อหา “ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด” ซึ่งไม่ตรงกับการกระทำความผิดที่ทำลงและเจตนาที่แท้จริงของการกระทำความผิดที่ต้องการบังคับให้ทนายสมชายสูญหาย
ข้อจำกัดในเรื่องการขาดซึ่งกฎหมายในปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบกับครอบครัวผู้เสียหายหลายด้าน เช่นการที่ไม่ทราบชะตากรรมและหายไปเป็นเวลาหลายปี แม้ในทางแพ่งนายสมชายฯจะถูกสัญนิษฐานว่าได้ถึงแก่ความตายแล้ว โดยศาลแพ่งจะได้มีคำสั่งให้ทนายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 61 แต่คำสั่งนี้ครอบครัวของเขากลับไม่สามารถนำมาใช้เข้าเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาได้ เนื่องจากภรรยาและบุตรไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าทนายสมชายได้ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายแล้วหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมเองได้ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้น ทำไปโดยเจ้าหน้าที่โดยมีเจตนาให้บุคคลที่ตกเป็นเหยื่อหายไปโดยที่ไม่มีร่องรอย เนื่องจากต้องการปกปิดการกระทำความผิดของตนเอง การที่จะให้ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายแสดงหลักฐานใดๆว่าเขาถูกทำร้ายถึงตายจึงไม่อาจเป็นไปได้
การบังคับให้บุคคลสูญหายนั้นเป็นการกระทำที่มีพฤติการณ์พิเศษ คือทำโดยเจ้าหน้าที่มีเจตนาที่จะปกปิดการกระทำของตนเอง การที่ใช้กฎหมายอาญาธรรมดากับการกระทำความผิดเช่นนี้จึงไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อและครอบครัวได้ อีกทั้งการกระทำความผิดนั้นทำลงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการก่ออาชญากรรม หรือเป็นอาชญากรรมโดยรัฐซึ่งมีความรู้ทั้งทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต้องใช้กฎหมายที่มีลักษณะพิเศษด้วย หาไม่แล้วผู้กระทำความผิดก็อาศัยช่องว่างการขาดกฎหมายรลอยนวลพ้นผิดต่อไป เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมที่ใช้อยู่ในปัจจับันไม่สามารถใช้เครื่องมือที่ถูกต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นการมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดความผิดและกระบวนการในการดำเนินคดีเพื่อบังคับใช้กับกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
การบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมที่ร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance) รัฐจะต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ เหตุผล ข้ออ้าง หรือต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พบว่ายังมีการบังคับให้สูญหายเกิดขึ้นกับสังคมไทยอยู่เสมอ นอกจากกรณีของทนายสมชายแล้ว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญผู้นำชุมชนชาวกระเหรี่ยงได้เจ้าหน้ารัฐควบคุมตัวไป วันที่ 16 เมษายน 2558 นายเด่น คำแหล้ ผู้นำชุมชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินหายไป วันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดล เสาะหมานอายุ อดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้ ถูกชายฉกรรจ์จำนวน 3 คนบังคับพาขึ้นรถยนต์หายไป แต่การสอบสวนและการตามหาตัวบุคคลดังกล่าว และกการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษยังคงล้มเหลว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขา การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายถือว่ารัฐยังคงล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ…….. ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระ แต่กลับถูกส่งกลับมายังกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนในทางสาธารณะแต่อย่างใด ขาดความโปร่งใส่ ทั้งๆที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดจากความพยายามของของหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และองค์การสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งได้ผ่านการพิจารณาของตัวแทนหน่วยงานและองค์การเหล่านั้น รวมทั้งรับฟังความเห็นจากประชาชนหลายครั้งแล้วโดยได้ใช้ความพยายามด้วยความอุตสาหะในการจัดทำเป็นเวลานาน
แม้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีมติเห็นชอบในการที่รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ค.ศ. ……….. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอก็ตาม แต่การที่ คสช. ไม่พิจารณาและตรากฎหมายเพื่ออนุวัติการ หรือกฎหมายเพื่อนำพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฉบับดังกล่าวมาบังคับใช้ การเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาย่อมไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบังคับบุคคลให้สูญหายที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด จึงถือได้ว่า สนช.ได้ทำลายโอกาสในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนนี้ไปโดยการไม่รับพิจารณาร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไปโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนสาธารณะที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิในชีวิตตามพรบ.ฉบับนี้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการให้มี พรบ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายให้สอดคล้องกับหลักการสากล โดยกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศโดยเร็วตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาคมระหว่างประเทศและในระหว่างการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรสหประชาชาติ
ขอให้ยกเลิก กฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่อาจสร้างสถาพการณ์หรือเงื่อนไขที่อาจทำให้บุคคลตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหาย เช่นการควบคุมตัวในสถานที่ลับหรือโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวไม่ให้ทนายความ แพทย์ หรือญาติเยี่ยม หรือติดต่อกับบุคคลดังกล่าว หรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น การควบคุมตัวตามคำสั่ง คสช. 3/2558 และการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกจำนวน 7 วัน การควบคุมตัวตามตามพรก.ฉุกเฉิน 30 วัน การควบคุมตามพรบ.ปราบปรามยาเสพติดจำนวน 3 วัน เป็นต้น และเมื่อปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างเที่ยงธรรม ไม่เห็นแก่หน้าหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ เพื่อขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลอย่างจริงจังด้วย
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ Tel. 0639751757