HRLA: ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 15 มีค. 2560 คดีคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร 2549

Share

17121341_763871540430532_2031125754_o

เผยแพร่วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2560

ใบแจ้งข่าว

ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

คดีคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหาร 2549

 

วันพุธที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 09.30 น. ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1092/2556   ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับ นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน จำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365

 

คดีนี้สืบเนื่องจากหลังการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพียงไม่กี่วัน สนช. ได้มีการเร่งรีบพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนมาก โดยร่างกฎหมายหลายฉบับมีเนื้อหาที่ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

เหตุดังกล่าวทำให้กลุ่มบุคคลและองค์กรภาคเอกชนหลายร้อยคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความถึงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งคัดค้านการพิจารณาออกกฎหมายจำนวน 11 ฉบับ อาทิ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ โดยได้มีการมาชุมนุมกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา และได้มีการปีนเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุม 10 คนประกอบด้วย 1) นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม 2) นายสาวิทย์ แก้วหวาน3) นายศิริชัย ไม้งาม 4) นายพิชิต ไชยมงคล 5) นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท 6) นายนัสเซอร์ ยีหมะ 7) นายอำนาจ พละมี 8) นายไพโรจน์ พลเพชร 9) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และ 10) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ถูกดำเนินคดี

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศาลอาญามีคำพิพากษา ให้จำคุกและปรับจำเลย แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยทั้ง 10 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าการเข้าไปในอาคารรัฐสภาและได้มีการปราศรัยต่อประชาชนนั้นเป็นการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่จะคัดค้านการพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบธรรมของ สนช. และการชุมนุมแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 

ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าว แม้จะมีการปีนรั้วกระทั่งเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะคัดค้านการประชุมของ สนช.ที่จำเลยเห็นว่าเร่งรีบพิจารณาออกกฎหมาย ขณะที่การเข้าไปในอาคารดังกล่าว ก็ไม่ได้มีอาวุธหรือเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารรัฐสภา และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานส่วนอื่นของรัฐสภาจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยเมื่อมีการยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้องแล้วจำเลยและผู้ชุมนุมก็ได้ออกมาจากอาคารรัฐสภาโดยสงบ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ได้ให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงขาดเจตนา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตามความผิดมาตรา 215 วรรค 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

 

ดังนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 มีนาคมนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญเกี่ยวกับบรรทัดฐานเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในสังคมไทย ซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่อำนวยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้ อาทิ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การออกกฎหมาย การตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจรัฐ การจัดการทรัพยากร  ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนเอง เป็นต้น เสรีภาพในการชุมนุมยังถือเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารความคิดเห็นและความเดือดร้อนของประชาชนไปยังรัฐ อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมในทิศทางที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการใช้อำนาจของรัฐด้วย รัฐจึงมีหน้าที่เคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว  โดยไม่ละเมิด  แทรกแซง จำกัด  หรือลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุม  นอกเหนือจากที่เป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองรับรองไว้

 

อ่านคำพิพากษาได้ที่ :

https://drive.google.com/file/d/0B3MHsUTAB5sJcGh1b2VLWWJEU2c/view?usp=sharing

https://drive.google.com/file/d/0B3MHsUTAB5sJMWRBZl8yUGFQdm8/view?usp=sharing

 

รายละเอียดเพิ่มเติม:

http://naksit.net/th/?page_id=224

https://www.facebook.com/naksit.org/

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

คุณนคร  ชมพูชาติ                ทนายความ           081-8473086

คุณวราภรณ์  อุทัยรังษี           ทนายความ           084-8091997

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-275 3954

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading