เผยแพร่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560
แถลงการณ์
สามนักสิทธิถูกฟ้องยื่นหนังสือร้องเรียนอัยการสูงสุด
ยืนยันจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00 น. นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ตึก A เพื่อขอให้อัยการสูงสุดที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ความเป็นธรรมแก่นักสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดปัตตานี โดยขอให้พนักงานอัยการพิจารณาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานบุคคลสำคัญเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ว่าคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องข้อหาที่นิติบุคคลอาจไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีการปฏิบัติหน้าที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไปได้ จึงเป็นหน่วยงานที่พึงถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด มิได้มุ่งที่จะคุ้มครองนิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐจากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น ในทางกฎหมาย กอ.รมน.จึงมิใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด โดยทางอัยการจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 มีนาคม 2560
ก่อนหน้านี้นส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยถูกแจ้งความร้องทุกข์โดยกรมทหารพรานที่ 14 จังหวัดยะลา ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่า “ได้กล่าวข้อความทำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ในครั้งนั้นพนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้เคยมีหนังสือคำสั่งลงวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ไม่ฟ้องนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิฯ โดยพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า “น่าเชื่อว่าผู้ต้องหามีเจตนาเพียงให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กล่าวหาและองค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น… เป็นการติชมการทำงานขององค์กรสาธารณชนตามความเข้าใจทั่วๆไป ขาดเจตนาในการกระทำผิด …”
“หากการร้องเรียนเป็นผลให้ผู้ร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียน หรือพยานต้องถูกดำเนินคดีย่อมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การฟ้องร้องคดีต่อนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะขัดขวางการทำงานของกลไกอิสระในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่ มีผลทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการใช้สิทธิมากยิ่งขึ้น ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้” นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิฯ กล่าว
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 081-6424006
ข้อมูลเพิ่มเติม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ดำเนินการกิจกรรมด้านการส่งเสริมความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 โดยทำงาน ในการให้ความช่วยเหลือทางกฏมายต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม โดยใช้แนวทางกฎหมายและการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือทางคดีมีแนวทางเพื่อการค้นหาความจริง การเรียกร้องให้มีการรับผิดทางแพ่งและทางอาญาโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
กรณีที่ผู้เสียหายร้องเรียนว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมก็ได้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโดยได้ปฏิบัติงานในการตรวจสอบข้อมูล ทำหนังสือร้องเรียน หนังสือเปิดผนึกและทำการเผยแพร่สื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อหลักการทางสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเพื่อยุติการทรมาน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้รับความร่วมมือจากกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ และรวมทั้งหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กอรมน. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดีในการปรับเปลี่ยนแนวทาง วิธีการปฏิบัติ การออกกฎระเบียบการควบคุมตัว ทั้งนี้ยังคงมีแก้ไขช่องโหว่ให้มีการทรมานและการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการการทำงานของมูลนิธิฯ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายเพื่อให้ผู้ถูกละเมิดสามารถเข้าถึงความยุติธรรม การร้องเรียนต่อหน่วยงานดังกล่าถือเป็นขั้นตอนตามกฎมายสามารตรวจสอบได้ทั้งโดยตรงกับหน่วยงานต้นสังกัดและการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบดำเนินการเพื่อร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ได้มีความประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด
ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมีพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในการสอบสวนข้อต้องเรียนเรื่องการทรมานโดยพลัน และมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และพยานให้ได้รับความคุ้มครองพ้นจากการประทุษร้ายหรือข่มขู่ให้หวาดกลัวอันเป็นผลจากการร้องทุกข์หรือการให้พยานหลักฐานของบุคคลนั้น หากเมื่อทางหน่วยงานระดับสูงได้รับเรื่องร้องเรียนและหน่วยงานรัฐได้ทำการสอบสวนโดยพลันโดยปราศจากความลำเอียง หากหลักฐานปรากฎไม่ว่าผลการตรวจสอบจะเป็นเช่นใด สิทธิของประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองและประชาชนจะเชื่อมันต่อกระบวนการยุติธรรม