[:th]CrCF Logo[:]

[:th]ศาลจังหวัดปัตตานีนัดพร้อมคดีนายอับดุลอาซิ สาและ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว หลังเหตุการณ์ 3 ปี กรณีมารดานางสาวแยนะ สะอะ เรียกค่าสินไหมทดแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนคดีอาญาไม่มีการดำเนินการหลังคำสั่งไต่สวนการตาย[:]

Share

[:th]

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เผยแพร่วันที่ 17 มกราคม 2560

                   ใบแจ้งข่าว

ศาลจังหวัดปัตตานีนัดพร้อมคดีนายอับดุลอาซิ สาและ เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว

หลังเหตุการณ์ 3 ปี  กรณีมารดานางสาวแยนะ สะอะ

เรียกค่าสินไหมทดแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนคดีอาญาไม่มีการดำเนินการหลังคำสั่งไต่สวนการตาย

 

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 นางสาวแยนะ สะอะ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเรียกค่าสินไหมทดแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสามหน่วยงานเป็น หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่กระทำละเมิดต่อชีวิตนายอับดุลอาซิ สาและ บุตรชายของนางสาวแยนะฯ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านกำปงบือราแง อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และได้ควบคุมตัวนายอับดุลอาซิจากบ้านไปยังสวนยางพาราหลังบ้านแล้วเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยิงนายอับดุลอาซิถึงแก่ความตาย (คดีวิสามัญบ้านน้ำดำ)

ต่อมามีการโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล จนกระทั่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งศาลจังหวัดปัตตานีคือศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจเพราะคดีนี้เกิดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ศาลปกครองสงขลาจึงได้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดปัตตานี

ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งนัดพร้อมในวันที่ 23 มกราคม 2560 เวลา 9.00น. เพื่อกำหนดขั้นตอนและวันนัดในการดำเนินคดีตามกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมต่อไป (ต่างจากกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครอง)

ข้อเท็จจริงคดีนี้เบื้องต้นสรุปได้จากคดีไต่สวนการตาย ช. 14/ 2557 ว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ในขณะเกิดเหตุ       นายอับดุลอาซิ สาและ ผู้ตาย อยู่กับนางแยนะ สะอะ มารดา หลังกลับจากไปงานบุญในหมู่บ้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ตายเพื่อไปทำการตรวจค้นที่บ้านอีกหลังหนึ่ง หลังจากนั้นญาติของผู้ตายได้ทราบว่า ผู้ตายเสียชีวิตในป่าสวนยางบริเวณเดียวกันกับสองศพที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้แล้ว   แต่ญาติติดใจสงสัยในสาเหตุการเสียชีวิตเพราะพบบาดแผลจำนวนมากตามเนื้อตัวร่างกาย  รวมทั้งประเด็นสำคัญ คือกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ไม่เปิดโอกาสให้ญาติของผู้ตายได้มีส่วนร่วม ทั้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ไม่ปรากฏว่ามีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพศพในที่เกิดเหตุ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ

คดีดังกล่าวมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และต่อศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  โดยจากผลจากการลงพื้นที่ของฝ่ายยุติธรรม ศอ.บต. และการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กสม.ระบุว่า เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่นางแยนะ สะอะ มารดาของผู้ตายได้ร้องเรียนว่าบุตรของตนไม่ได้เสียชีวิตจากการยิงปะทะ แต่ถูกจับกุม   ทำร้ายร่างกาย และถูกยิงจนเสียชีวิต   โดยในขณะนั้นทางฝ่ายยุติธรรมของศอบต.กำลังอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารพราน กรมทหารพรานที่ 41 ค่ายวังพญา ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมผู้ตายทั้งสามในวันเกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่ชุดพิสูจน์หลักฐานที่เข้าร่วมตรวจสอบวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ แต่ปัจจุบันไม่มีการดำเนินการทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว

ทั้งนี้ขอเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการพิจารณีคดีตามวันและเวลาดังกล่าวข้างต้นและติดตามเรื่องราวที่ผ่านมาของคดีได้ที่ Facebook page: Cross Cultural Foundation(CrCF) หรือ https://crcfthailand.org//2016/12/02/คำสั่งชี้ขาดฯ-ให้คดีอยู/

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ            ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี โทร 081-8987408

นายปรีดา นาคผิว                                                ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 098-6222474

ลิงก์เพิ่มเติม

http://www.deepsouthwatch.org/node/5231

http://www.prachatai.com/journal/2013/10/49374