[:th]CrCF Logo[:]

ศาลสงขลา อ่านคำพิพากษา คดีนายรายู ดอคอ เยาวชนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน เมื่อปี 2551

Share

ใบแจ้งข่าว เผยแพร่วันที่ 20 ตุลาคม 2559

ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีนายรายู ดอคอ เยาวชนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน เมื่อปี 2551

ในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลากำหนดนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 94/2553 และคดีหมายเลขแดงที่ 48/2555 ระหว่างนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง ที่ 4 ตามลำดับ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

ซี่งนายรายู ดอคอถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ทำการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน และจับกุมนายรายู ดอคอไปพร้อมกับอีหม่ามยะพา กาเซ็ง และลูกชายของอี่หม่านยะพาด้วยในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 โดยได้ทำร้ายร่างกายในขณะควบคุมตัว เพื่อให้รับสารภาพ ในกรณีสงสัยว่ามีพฤติการณ์เป็นแนวร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารชุดดังกล่าวใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2475

โดยในวันนี้ (วันที่ 19 ตุลาคม 2559) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 (สำนักนายกรัฐมนตรี) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี (นายรายู ดอคอ) เป็นเงินจำนวน 348,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 303,120 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

นายรายู ดอคอเดินทางมาฟังคำพิพากษาคดีพร้อมมารดา และครอบครัวจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษาของศาล นายรายูได้กล่าวว่า ตนและครอบครัวรอคอยเวลานานกว่า 6 ปีในการเรียกร้องความเป็นธรรมของตน ตนรู้สึกพูดอะไรไม่ออก และรู้สึกดีใจที่มีวันนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 089-6222474

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดโดยย่อ

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามคำอุทธรณ์ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด

โดย ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีที่ 4 ( สำนักนายกรัฐมนตรี ) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนึ้

• กรณีค่าเสียหายต่อร่างกาย และอนามัย

จากการที่ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวนั้น โดยใช้ พรก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11คดีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จับกุมและทำร้ายร่างกายในขณะควบคุมตัว เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีรับสารภาพ กรณีผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์เป็นแนวร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานฆ่าผู้อื่นนั้น แม้การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในการควบคุมตัวจะเป็นการกระทำในขณะปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ฯ ต้องเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง

แต่พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในการร่วมกันทำร้ายร่างกาย ซ้อม และทรมานผู้ฟ้องคดีที่ขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบฯ ถือเป็นการกรทำที่โดยไม่มีเหตุอันควรหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น หรือไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีจริงในระหว่างควบคุมตัวของหน่วยเฉพาะกิจที่ 39

เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 100,000 บาท

• ค่าเสียหายจากการได้รับทุกขเวทนาต่อจิตใจ

จากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีควบคุมตัวนั้น ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย ซ้อมและทรมานผู้ฟ้องคดีเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลฟกช้ำที่หน้าอก เอว หลัง ข้อเท้า มีเลือดคั่งที่ซอกเล็บ ปัสสาวะขัด เจ็บบริเวณหน้าอก ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแพทย์ รพ. ค่ายอิงคยุทธบริหาร และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งในข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องได้กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่างให้ถ้อยคำว่าได้ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีจริง ประกอบกับนายยะพา กาเซ็งที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันกับผู้ฟ้องคดีได้ถูกทำร้ายร่างกาย และต่อมานายยะพาถึงแก่ความตายในระหว่างควบคุมตัว ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีความหวาดกลัวต่อชีวิต ทั้งมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ฟ้องคดีที่มีวุฒิภาวะเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องทนทุกข์ทรมานต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นผลมาจากที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของผู้ฟ้องคดี

เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 50,000 บาท

• ค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิ และเสรีภาพในชีวิต และร่างกาย ตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ

การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำการจับกุม และควบคุมตัวผู้ฟ้องคดี แม้จะเป็นไปเพื่อป้องกัน ระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่จังหวัดอันที่แก้ไขปัญหาเหตุการณ์ก่อเหตุรุยแรงต่อเนื่อง แต่การกระทำดังกล่าวต้องเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัวจนถึงได้รับการปล่อยตัวเป็นจำนวน 26 วัน นั้นเป็นการควบคุมตัวที่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็นและการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เยาว์ร่วมกับผู้ใหญ่

ตลอดจนมีการทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อผู้ฟ้องคดี และบุคคลอื่นที่ควบคุมพร้อมกัน โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองตลอดจนการจับกุมควบคุมตัวผู้ฟ้องคดี ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของผู้ฟ้องคดีซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองและให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี ทำให้ผู้ฟ้องหวาดกลัว กระทบกระเทือนจิตใจเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว การที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจ หรือเกินสมควรแก่เหตุ เป็นการกระทำเกินจำเป็นในการป้องกันมิให้ผู้ฟ้องคดีกระทำการหรือร่วมกระทำการ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง

เมื่อเทียบกับความเสียที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้มาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรง ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 100,000 บาท

• สำหรับค่าเสียหายต่อชื่อเสียง

เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดแจ้งหรือมีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง แต่การลงข่าวโดยระบุว่าผู้ฟ้องคดีกับพวกที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันเป็นผู้ต้องสงสัยกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีพยานผู้เสียหายชี้ตัวผู้ฟ้องคดีว่าเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงนายธนากร ภูรัตนโรจน์ และสื่อมวลชนนำความดังกล่าวไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันเผยแพร่ไปทั่วประเทศ มีผลต่อสิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ในพื้นที่ อันเป็นภูมิลำเนาตลอดจนทางทำมาหาได้ของผู้ฟ้องคดี

เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกปล่อยตัวแล้ว ก็ไม่สามารถกลับไปรับจ้างกับนายจ้างคนเดิม และไม่มีผู้ใดว่าจ้าง ด้วยเหตุที่มีการลงข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความดังกล่าวคนไม่รู้ความจริงต้องเข้าใจผิด และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้มีการลงแก้ข่าวให้ผู้ฟ้องคดีจากการที่ลงข่าวเผยแพร่เมื่อผู้ฟ้องคดีถูกปล่อยตัวโดยมิได้ถูกดำเนิน อันเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีกลับคืนมา เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ กำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 50,000 บาท

• ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้

ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะถูกจับกุม ควบคุมตัว ผุ้ฟ้องคดีมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง และรับจ้างทั่วไป รายได้วันละประมาณ 120 บาท จากที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอค่าเสียหายจากการขาดรายได้ในส่วนนี้ วันละ 120 บาท นับแต่วันที่ถูกกระทำละเมิดวันที่ 19 มีนาคม 2551 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีถูกจับเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2551 มารดาผู้ฟ้องคดีได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรรือเสาะ ว่าผู้ฟ้องคดีถูกทำร้าย และถูกควบคุมตัวอีกเป็นระยะเวลา 22 วัน รวมระยะเวลาผู้ฟ้องคดีถูกควบคุมตัว 26 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ เห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เป็นเงิน 3,120 บาท

ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้แก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 303,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2551 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2553 คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 45,468 บาท รวมเป็นเงินที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้น 348,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 303,120 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 246,621.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 210,800 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขอนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 นั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน

พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินจำนวน 348,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 303,120 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาของศาลชั้นต้น