..ข่าวคืบหน้าล่าสุด..เรื่องของ ปู่คออี้กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ถึงเวที สหประชาชาติ (UN).อนาตาเซียคลิกซ์ลี่ย์(Anastasia Crickley)ประธานคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ยื่น.หนังสือถึงรัฐบาลไทย..ที่จะต้องชี้แจง
………………………………………………………………
เรียน ฯพณฯ นายธานี ทองภักดี
ข้าพเจ้ามีสารฉบับนี้มาถึงท่านสืบเนื่องจากการประชุม ครั้งที่ 90 ของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination) ได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงตามของสถานการณ์ของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประเทศไทย ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนได้นำส่งให้กับคณะกรรมการฯ ตามขั้นตอนวิธีการแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) และกระบวนการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน (Urgent Action) ในการนี้ คณะกรรมการฯ ขอเรียนย้ำเตือน ท่านในฐานะรัฐภาคีว่า ในคราวการประชุม ครั้งที่ 80 ของคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณา และซักถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในกรณีการบังคับอพยพของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงจากพื้นที่เดียวกัน ตามรายละเอียดหนังสือลงวันที่ 9 มีนาคม 2555 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้คำตอบต่อข้อซักถามในหนังสือฉบับดังกล่าวจากรัฐภาคีแต่อย่างใด
ในขณะที่ คณะกรรมการฯ ยังคงได้รับรายงานข้อมูลการกระทำตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยกระดับการกระทำความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยรายงานดังกล่าวแจ้งว่า รัฐบาลไทยได้มีความเกี่ยวพันมานานกว่า 10 ปี ในนโยบายที่ทำให้เกิดการบังคับอพยพกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายที่มิอาจจะแก้ไขได้อันเนื่องมาจากการคุกคามต่อวิถีชีวิต และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนสิทธิในด้านต่างๆ ของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง
นอกจากนั้น ข้อมูลในรายงานยังระบุว่า ในปี 2553 ยังมีการอพยพกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน และพุระกำ ออกจากที่ดินของพวกเขา ในขณะที่มีการทำลายบ้านพักอาศัย ยุ้งข้าว และทรัพย์สินอื่นๆ ของพวกเขาด้วย รายงานระบุว่า มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นการเผาทำลายบ้านพักอาศัย ยุ้งข้าว และ
ทรัพย์สินต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งที่ถูกจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหาในขณะที่ในบางส่วนก็หลบหนีไปพักอาศัยอยู่กับเครือญาติในพื้นที่ภายนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งนี้ มีการรายงานว่า ในช่วงหลายเดือนต่อมา ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ขอเลือกที่จะกลับมายังพื้นที่เดิมของตนเอง
อนึ่ง มีการรายงานว่า การอพยพดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐภาคีพิจารณาว่า วิถีการทำการเกษตรแบบชนเผ่าพื้นเมือง (การทำไร่หมุนเวียน) ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มที่ถูกอพยพเป็นผู้ที่อพยพเข้าเมืองแบบไม่ปกติ (Irregular Migrant) นอกจากนั้น รายงานที่นำเสนอยังกล่าวว่า รัฐภาคีได้แสดงเหตุผลโต้แย้งต่อการอพยพดังกล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายป่าไม้ ซึ่งห้ามมิให้มีการประกอบอาชีพ หรือการทำมาหากินใดๆ ในพื้นที่ป่า รวมถึง การทำมาหากินของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง โดยมิต้องคำนึงกลุ่มดังกล่าวได้ถือครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวมาตามวิถีวัฒนธรรมมาแต่อย่างใด ข้อโต้แย้งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับข้อมูลจากองค์กรที่นำเสนอรายงาน ที่กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่ถูกอพยพเป็นประชาชนที่ถือครองสัญชาติไทยโดยการเกิด และเป็นทายาทของบุคคลในกลุ่มดังกล่าว
ทั้งนี้ หนังสือด่วนของคณะกรรมการฯ ก็เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐภาคีมิได้พิจารณา หรือคำนึงถึงลักษณะการถือครอง และการใช้ประโยชน์บนที่ดินถิ่นฐานของบรรพบุรุษของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ในพื้นที่ป่าเชิงซ้อนแก่งกระจาน ซึ่งได้รับการเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (World Heritage Convention) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยคณะกรรมการฯ ได้รับรายงานว่า การจารึกชื่อของพื้นที่แห่งนี้ลงในบัญชีรายชื่อของ UNESCO ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะพยายามอพยพชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงให้ออกจากพื้นที่แห่งนี้ โดยมีรายงานงาน บัญชีรายชื่อดังกล่าวจัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อการจารึกชื่อสถานที่ และจะนำเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในช่วงเดือนตุลาคม 2559
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า รัฐภาคีไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่อยู่อาศัย หรือทำกินในพื้นที่ป่า และอุทยานแห่งชาติ ตามที่บุคคลนั้นๆ ได้ถือครองมาก่อนการปักปัน หรือประกาศเขตพื้นที่ ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง “แนวนโยบายในการฟื้นฟุวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ซึ่งมีบทบัญญัติที่ให้คุ้มครองชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยและทำกินในถิ่นฐานของบรรพบุรุษ ให้สามารถทำการเกษตรตามวิถีวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีการกล่าวหาว่า แม้ว่า จะมีมาตรการคุ้มครองทั้งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม รัฐภาคียังล้มเหลวในการดำเนินมาตรการฟื้นฟู เยียวยากลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงจากการบังคับอพยพ ตลอดจนการกระทำตามที่กล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และตามข้อมูลที่ได้รับทำให้ทราบว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำฟ้องเกี่ยวข้องการบังคับอพยพที่เกิดขึ้นในปี 2554 โดยศาลระบุในคำพิพากษาว่า ศาลพิจารณาและเห็นว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีสิทธิในการเผาทำลายข้าวของและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งก็มีการกล่าวอ้างว่า คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิต และการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นอกจากนั้น ยังระบุอีกว่า การเสนอชื่อพื้นที่ป่าเชิงซ้อนแก่งกระจาน(ให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกของUNESCO)ยังเป็นการดำเนินการที่ขาดกระบวนการปรึกษาหารือที่มีนัยสำคัญ และมองข้ามการปฏิบัติตามหลักการการให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ(Free, Prior and Informed Consent) ของชุมชนชาวกะเหรี่ยง ทั้งนี้ ในรายงานระบุว่า ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นคณะกรรมการฯ มีความห่วงใยว่า หากข้อกล่าวเหล่านี้ ซึ่งต่อไปอาจจะได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา คณะกรรมการฯ จึงขอย้ำเตือนถึง ความห่วงใยที่อธิบายไว้ในหนังสือของคณะกรรมการฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม 2555 ตลอดจนข้อเสนอแนะที่แสดงไว้ในย่อหน้า 16 ของข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) (CERD/C/THA/CO/1-3, para. 16) ในเดือนสิงหาคม 2555 โดยเรียกร้องให้ “รัฐภาคีทบทวนกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ให้เคารพต่อสภาพ และวิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ และคำนึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ตามหลักการการให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ(Free, Prior and Informed Consent) ในการตัดสินใจใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง ในขณะที่ยังคงต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย”
ตามบทบัญญัติข้อที่ 9 (1) ของอนุสัญญาฯ และข้อที่ 65 ของกฎแห่งขั้นตอนการปฏิบัติของคณะกรรมการฯ กำหนดให้ รัฐภาคีต้องส่งข้อมูลในประเด็นต่างๆ รวมถึงข้อห่วงใยทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งครอบคลุมถึง การปฏิบัติใดๆ ที่รัฐภาคีได้ดำเนินการตามข้อห่วงใยเหล่านี้ โดยเฉพะอย่างยิ่ง กำหนดให้รัฐบาลไทยนำเสนอข้อมูล ดังนี้
(ก) ข้อมูลตามข้อกล่าวหาซึ่งอธิบายรายละเอียดไว้ข้างต้น
(ข) ขั้นตอนที่ดำเนินการเพื่อยุติการข่มขู่คุกคาม การทำให้กลัว การกระทำละเมิดต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามการกล่าวหาถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขต และการเยียวยา หรือดูแลความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยง
(ค) มาตรการที่ดำเนินการเพื่อดูแล หรือประกันให้เกิดการดำเนินการตามหลักการการให้ฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ(Free, Prior and Informed Consent) ต่อชุมชนชาวกะเหรี่ยง หรือการทำกระบวนการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเพื่อการตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชาวกะเหรี่ยง
(ง) ขั้นตอนที่ดำเนินการเพื่อทบทวนการเสนอชื่อพื้นที่ป่าเชิงซ้อนแก่งกระจานให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ (ตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกของ UNESCO) จนกว่ามีการทำข้อตกลงกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงก่อน
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ใคร่ขอให้ รัฐภาคียุติการอพยพกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยพลัน พร้อมกับดำเนินมาตรการป้องกันความเสียหายใดๆ ที่มิอาจจะแก้ไขได้ที่จะมีต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนดูแล และประกันสิทธิต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง
คณะกรรมการฯ ขอปวารณาตนต่อ ฯพณฯ ณ ที่นี้ ในการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างต่อเนื่อง ที่จะสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินการใดๆ ตามเจตนารมณ์ และบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาฉบับนี้อย่างจริงจังต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
อนาตาเซียคลิกซ์ลี่ย์
(Anastasia Crickley)
ประธาน
คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (Committee on the Elimination of Racial Discrimination)