[:th]เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคล 5 คนจากการควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที กรณีการตรวจค้นจับกุมประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ในกรุงเทพแล้วส่งตัวไปควบคุมตัวต่อที่ปัตตานี
นับแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังพร้อมอาวุธสงครามได้เข้า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวจากห้องพักในบริเวณถนนรามคำแหง โดยได้จับกุมบุคคลที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนใต้ไปคุมขังในสถานที่ต่างๆ จำนวนทั้งสิ้นรวม 44 ราย เป็นหญิง 8 คน และชาย 36 คน โดยบางคนมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเพื่อเป็นการทำลายแผนการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ตามนโยบายของรัฐบาลในการเฝ้าระวังภัยด้านความมั่นคง ตามที่ปรากฏภาพ และข่าวเผยแพร่เป็นการทั่วไป
โดยปรากฏว่ามีการปล่อยตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปแล้วจำนวนหนึ่งโดยไม่มีการแจ้งข้อหา มีการดำเนินคดีข้อหาอื่นและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพลเรือนจำนวนหนึ่ง และมีบุคคล 5 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำนครชัยศรี มทบ. 11 ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ข้อมูลเบื้องต้นในกรณีดังกล่าวพบว่าบุคคลทั้ง 5 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ที่สถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณรามคำแหงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 และต่อมาถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประเภทกระท่อม และมีการส่งตัวไปควบคุมตามคำสั่ง 13/2559 ตามอำนาจของ คสช. ที่เรือนจำชั่วคราวถนนแขวงนครชัยศรี ตั้งอยู่ในค่าย มทบ. 11 จังหวัดกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 ซึ่งครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 13/2559 ในวันที่ 17 ตุลาคม แต่กลับพบว่าทางหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 ดังกล่าว
ต่อมาในวันเดียวกันทางโฆษก คสช. ได้ออกมาแถลงยอมรับว่ายังคงมีประชาชนถูกควบคุมตัวบุคคลทั้ง 5 รายต่อไปแต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นการใช้กฎหมายใด และให้เหตุผลว่าการควบคุมตัวต่อนั้นเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อน
โดยภายหลังประมาณเวลา 18.30 น. ทางหน่วยงานความมั่นคงอนุญาตให้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งห้าคนเยี่ยมก่อนส่งตัวกลับไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งตัวบุคคลทั้ง 5 คนเดินทางไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีโดยเดินทางไปทางรถในเวลากลางคืนของวันที่ 17 ตุลาคม 2559
จากเหตุการณ์การติดตามจับกุม และการควบคุมตัวดังกล่าวนั้นได้นำมาซึ่งความห่วงกังวลของญาติพี่น้อง และประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ เกิดความหวาดกลัวว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเหวี่ยงแหดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอาจเป็นการสะท้อนถึงทัศนคติด้านลบ และการเลือกปฏิบัติของเจ้าหนน้าที่ต่อประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้
ทั้งมีรายงานข่าวด้วยว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 ในการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 44 คน นั้นเป็นไปโดยพลการ ทั้งหมดไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ ไม่มีการแจ้งญาติ และบุคคลเกี่ยวข้องถึงสถานที่ควบคุมตัว อีกทั้งเมื่อมีญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดชายแดนใต้เพื่อขอเข้าเยี่ยมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวาระแรก
การควบคุมตัวบุคคลย่อมเป็นไปได้โดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แม้ว่าทางราชการจะอ้างการตรวจค้น และจับกุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 3/2558 และคำสั่ง 13/2559 ดังกล่าวยังคงต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกควบคุมตัวโดยจะต้องมีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว การอนุญาตให้ญาติหรือทนายความเยี่ยม
รวมทั้งหากมีการเจ็บป่วยหรือการร้องขอให้มีการรักษาพยาบาลควรได้รับการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ที่เป็นอิสระโดยทันที เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวครบกำหนดตามคำสั่ง คสช. 7 วันแล้วจำต้องมีการปล่อยตัวบุคคลโดยทันทีมิเช่นนั้นก็ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา และนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย
ทั้งนี้หากเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายอาญาบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการแจ้งข้อหา และได้รับสิทธิผู้ต้องหาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ
การที่ทางเจ้าหน้าที่ ได้อ้างถึงการควบคุมตัวเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อนนั้น นับเป็นการอ้างความจำเป็นที่เลื่อนลอยไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายใดๆ อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องว่า หากรัฐบาล และ คสช. ยังคงควบคุมตัวปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 คนโดยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
หากทางกองทัพภาคที่ 4 ได้รับตัวบุคคลไว้ตามการส่งตัวของ คสช. ขอให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งห้าโดยทันที หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
วันที่ 18 ตุลาคม 2559
[:]