[:th]CrCF Logo[:]
ศาลปัตตานี

ศาลปัตตานี คดีแพ่งกรณีปุโละปุโย ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 แพทย์ระบุ โจทก์ทั้ง 5 ควรได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง

Share

ใบแจ้งข่าว คดีแพ่งกรณีปุโละปุโย ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจ ระบุว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ (PTSD) ควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ศาลจังหวัดปัตตานีพิจารณาคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 519/2558 ระหว่าง นายยา ดือราแม กับพวกรวม 5 คน โจทก์ กองทัพบก ที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 จำเลย ได้สืบพยานโจทก์ 1 ปาก คือ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 สำนักงานตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทำงานด้านการส่งเสริม ป้องกัน และเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยส่วนใหญ่ภาระหน้าที่จะอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

แพทย์หญิงเพชรดาว เบิกความว่า ในทางทฤษฎี ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง อาจเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรคเครียดเฉียบพลัน โรคซึมเศร้า โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post Traumatic Stress Disorder : PTSD)

สำหรับกรณีโจทก์ทั้งห้า ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเป็นโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder / PTSD) ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวช ในทางการแพทย์โจทก์ทั้งห้าต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง การพยากรณ์โรค (Prognosis) สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย จะแตกต่างกันไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะยังไม่อาการโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ(PTSD) แต่เวลาผ่านหลายปีอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ บางกรณีมีอาการ PTSD ทันทีหลังประสบเหตุการณ์ เรื่องระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะหายเป็นปกติเมื่อไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ หลังเกิดเหตุการณ์ และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยประสบด้วย เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน การรับรู้หรือเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน กับเหตุการณ์ที่ตนเองเคยประสบมา มีผลต่อสภาวะทางจิตใจที่อาจทำให้ระยะเวลาในการรักษายาวนานขึ้น ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาเยียวยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจะมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน อาจมีทั้งการรับประทานยา การบำบัดทางพฤติกรรมและความคิด การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยเข้าหาและเผชิญหน้ากับเหตุร้ายและสิ่งกระตุ้นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (Exposure Therapy) และอื่น ๆ

ศาลนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.00 -16.00นาฬิกา

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

  • นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี โทร.086-0374318
  • นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 089-6222474