2016_08_02_แถลงการณ์ เรื่องนายธวัชชัย อนุกูล death in custody
เผยแพร่วันที่ 2 กันยายน 2559
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
แถลงการณ์
หากการสืบสวนสอบสวนการตายในการควบคุมตัวนายธวัชชัย อนุกูล
ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นมืออาชีพ คนผิดลอยนวล
ขอให้พักราชการ หรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่ฯ
จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนกรณีการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตซี่งถูกจับโดยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในข้อหาเกี่ยวกับการทุจริตใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบออกโฉนดที่ดินในจังภูเก็ต-พังงา มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงาน ดีเอสไอ โดยทางรพ.มงกุฎวัฒนะได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่า ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ.กรมสอบสวนคดีพิเศษในเวลา 1.00 น.ของวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ว่านายธวัชชัย อนุกูลเป็นลมหมดสติ เวลา 01.15 น. ชุดแพทย์ฉุกเฉิน รพ.มงกุฎวัฒนะ ไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพบว่านาย ธวัชชัย อนุกูล อยู่ในภาวะวิกฤตแล้วโดยต้องทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ( CARDIOPULMONARY RESUSCITATION , CPR) ในทันทีจากนั้นได้รีบนำตัวไปรักษาที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ และดำเนินการช่วยเหลือต่อไปอีกตามวิธีการทางด้านการแพทย์ และต่อมาในเวลา 4.45 น. ได้เสียชีวิตลงหลังจากทางโรงพยาบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้
ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ นำสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบบริเวณชั้น 6 ของอาคารของ ดีเอสไอ. ซึ่งเป็นห้องควบคุมตัวเลขที่ 6008 โดยบริเวณด้านหน้าทางเข้านั้น จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลพื้นที่อย่างแน่นหนาและห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปโดยเด็ดขาด ขณะที่ภายในลักษณะของห้องขังจะใช้ประตูนิรภัยและมีกระจกใสสามารถเห็นผู้ต้องหาที่อยู่ด้านในได้ชัดเจน และมีกล้องวงจรปิด และเป็นห้องควบคุมตัวที่ติดกับห้องหัวหน้าผู้ควบคุมห้องขัง
จากการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ ดีเอสไอ ระบุว่านายธวัชชัย อนุกูล ถูกจับและนำมาควบคุมที่ห้องขังในอาคารดีเอสไอ ระหว่างรอนำตัวส่งฝากขังต่อศาลในเช้าวันนี้ (30 สิงหาคม) ได้เสียชีวิตเนื่องจาก เมื่อกลางดึก เจ้าหน้าที่ที่ดูแลความเรียบร้อยภายในห้องควบคุม พบว่า นายธวัชชัย ได้ใช้เสื้อผูกคอตัวเองและขาดอากาศหายใจ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยต่อมามีการแถลงผลการผ่าชันสูตรศพของสถาบันนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูลโดยแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพได้ระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นว่า เกิดจากเลือดออกในช่องท้อง ตับแตกจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก ร่วมกับขาดอากาศหายใจจากการผูกคอ
สำหรับการสืบสวนสอบสวนกรณีนายธวัชชัย อนุกูลที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่นั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยปฏิบัติตามกฎหมาย และพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ที่ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานและบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นกลาง ที่ไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแล ดีเอสไอโดยตรงและมิใช่ผู้รวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัวและดำเนินคดี นายธวัชชัย อนุกูล เพื่อสืบสวนสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส
- ขอให้พักราชการ หรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของ ดีเอสไอ ที่อาจเกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการควบคุมตัวนายธวัชชัย อนุกูล รวมทั้งผู้บังคับบัญชา เพื่อป้องกันมิให้เกี่ยวข้องหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานต่างๆ
- ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน) โดยการภาคยานุวัติตั้งแต่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และอนุสัญญาดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบและนำเสนอมาตรการต่างๆทั้งทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการหรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิผล เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำการทรมานในราชอาณาจักรและเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆในอนุสัญญา การตายในการควบคุมตัวทุกกรณีต้องมีการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนให้ได้รับทราบสาเหตุการตายที่แท้จริงและต้องมีการเยียวยาในทุกกรณี รวมทั้งต้องแจ้งความคืบหน้าให้แก่ญาติของผู้ตายอย่างต่อเนื่องด้วย
- หากพบว่าการเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูลเป็นการกระทำความผิดทางอาญาและทางวินัย การสอบสวนคดีดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินการทางอาญาและวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทรมานโดยผู้ใต้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาต้องแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งต้องนำเจ้าหน้าที่ที่มีพยานหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยศาลและเยียวยาความเสียหายแก่ญาติผู้เสียหายอย่างเหมาะสม
- ปัจจุบันมีสถานที่ควบคุมตัวหลายแห่งเกิดขึ้นใหม่ตามกฎหมายและอำนาจพิเศษ โดยสถานที่ควบคุมตัวหลายแห่งไม่ได้มีการประกาศสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ เป็นคุกลับ Safe house หรือสถานที่ควบคุมตัวลับตามกฎหมายพิเศษหลายฉบับ การป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขัง ผู้ต้องกัก หรือผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกนำตัวเข้าระบบราชทัณฑ์นั้นอาจเกิดจากความไม่รอบคอบในการห้ามใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจนำไปใช้ได้ในการฆ่าตัวตาย เช่น สายฝักบัวอาบน้ำในห้องขังของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ เป็นต้น ดังนั้นทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองทัพหรือกลาโหม รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีสถานที่ที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพบุคคลด้วยอำนาจใดใดก็ตามต้องมีการตรวจตราตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้นเป็นประจำและเป็นไปตามมาตรฐานและวิธีปฏิบัติตามหลักสากล โดยเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการที่เป็นอิสระเป็นประจำ และโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า
- ขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามที่ได้รับปากไว้กับนานาชาติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศตามกลไก UPR (Universal Periodical Review) เพื่อภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน OPCAT (Optional Protocol, Convention against Torture) ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และเร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อป้องกันการทรมาน
วันที่ 2 กันยายน 2559
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม