ข้อสังเกต 16 ประการ ในการสืบสวนสอบสวนเรื่องการตายในการควบคุมตัว
- ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน) โดยการภาคยานุวัติตั้งแต่ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และอนุสัญญาดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบและนำเสนอมาตรการต่างๆทั้งทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการหรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิผล เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำการทรมานในราชอาณาจักรและเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆในอนุสัญญา การตายในการควบคุมตัวทุกกรณีต้องมีการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนให้ได้รับทราบสาเหตุการตายที่แท้จริงและต้องมีการเยียวยาในทุกกรณี
- ที่ผ่านมาในระยะเวลาสองปีมีปรากฏการณ์ที่น่ากังวลนั่นคือการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขังและผู้ต้องโทษ ในระหว่างการควบคุมตัวที่อาจเกิดจากการกระทำการทรมานโดยหรือด้วยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ หรือโดยการละเลยของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดข้อกำหนดในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่สำคัญ
- แม้ปัจจุบันจะไม่มีสถิติข้อมูลที่ครบถ้วน เนื่องจากยังมีปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลสถิตการเกิดเหตุนั้นไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบและส่วนหนึ่งเพราะเป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ แต่จากการรวบรวมข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนและจากกการรายงานของสื่อมวลชน รวมทั้งการไต่สวนการตายในศาล พบว่าหลายกรณีญาติผู้เสียชีวิตจะถูกอ้างว่า “ไม่ติดใจ” และมักไม่มีการร้องเรียนหรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อกล่าวโทษว่าอาจมีผู้กระทำให้เกิดความตายก็ตามตั้งแต่ปี 2550 รายชื่อผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ as 22_04_2016
- หลายกรณีผู้ที่ตายในการควบคุมตัวนั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าก่อคดีร้ายแรง เช่นเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต่อต้านรัฐ และผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรือกรณีการรีดไถ่จากอาชญากรบางประเภท เป็นต้น ยังปรากฏว่าทหารหรือเจ้าหน้าที่ทหารบางคนก็ตกเป็นผู้เสียหายอีกด้วย ทั้งเกิดจากการที่ผู้บังคับบัญชาทหารได้ใช้การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเป็นมาตรการในการลงโทษทางวินัยหรือใช้ในการฝึกทหาร เป็นต้น
- ในบางกรณีการลงโทษระหว่างการฝึกส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต เช่นกรณีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2554 เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และในกรณีสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ เสียชีวิตในเรือนจำ มทบ.25 จ.สุรินทร์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 และการเสียชีวิตของพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด เสียชีวิต ๔ เมษายน ๒๕๕๙ และพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ชุมพันธ์ ถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ ค่ายพยัคฆ์ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นต้น
- ในบางกรณีเมื่อไม่มีการผ่าชันสูตรศพจากแพทย์นิติเวช ก็จะไม่ทราบสาเหตุจากการดูด้วยตาเปล่าด้วยการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย มีข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่บางคนหรือบางหน่วยงานได้นำวิธีการใหม่ๆที่เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีมาใช้ ในหลายกรณีก็ไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผล เช่นการใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจ หรือใช้วิธีการที่ทำให้ร่องรอยบาดแผลลบเลือนไป เช่นการควบคุมตัวโดยห้ามญาติหรือทนายความเยี่ยม หลีกเลี่ยงการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่ชำนาญการ ไม่ตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวโดยแพทย์ที่ชำนาญในขั้นตอนก่อนรับตัวเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามความผิดในประมวลกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกาย
- ปัจจุบันประเทศไทยแม้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ตั้งแต่ปี 2550 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายอนุวัตรการ ให้การทรมานเป็นความผิดอาญา โดยประเทศไทยได้ทำข้อสงวนและคำแถลงตีความไว้หลายประเด็น ในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา รวมทั้งตาม ข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญา โดยกำหนดให้การทรมานทั้งปวงเป็นความผิดที่ลงโทษได้ (เฉพาะ) ตามที่กฎหมายอาญาของไทยกำหนดให้เป็นความผิด ซึ่งจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำการทรมานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่การทรมานที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายมีร่องรอยบาดแผลจากการกระทำการทรมานเป็นต้น
- การดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมีน้อยอยู่มากเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายข้างต้น เรายังพบว่ากระบวนการในการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดนั้นยังซับซ้อน ล่าช้า เช่น มีการส่งเรื่องโดยพนักงานสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท) ไต่สวน หรือในกรณีที่ทั้งผู้กระทำผิดและผู้เสียหายเป็นทหาร การดำเนินคดีโดยศาลทหาร ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อตรวจสอบความเที่ยงธรรมของการดำเนินคดีได้เป็นต้น
- การเสียชีวิตในเกิดขึ้นในระหว่างที่บุคคลถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เมื่อไม่อาจทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงก็เป็นข้อสันนิษฐานว่าการกระทำนั้นอาจเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ หรือโดยการยุยง หรือโดยความยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานหรือญาติผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวเกิดความหวั่นเกรง หรือขาดความมั่นใจในการแสวงหาความยุติธรรม ไม่กล้าร้องเรียน ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด หรือจำใจต้องยอมรับเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้ แม้จะยังไม่ได้รับความยุติธรรมหรือการเยียวยาอย่างเต็มที่ก็ตาม เช่นยอมรับการชดเชยเป็นตัวเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อแลกกับการละทิ้งการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด หรือต่อหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด เป็นต้น
- การตายที่อาจเกิดจากการทรมานในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ตรวจสอบหรือสืบสวนสอบสวนได้ยาก ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่ชำนาญการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเช่น แพทย์นิติเวชที่ต้องทำการผ่าพิสูจน์ศพ เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง เจ้าหน้าที่ด้านพิสูจน์หลักฐาน เป็นต้น
- ถ้าหากไม่มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดจากการทรมาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้โดยพลันเมื่อมีการร้องเรียนหรือทราบว่ามีการเสียชีวิต โดยประกอบด้วยบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ และมีอำนาจที่แท้จริงที่จะตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โปร่งใส และเป็นอิสระ จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนเยียวยาต่อผู้เสียหายอย่างเหมาะสมทันท่วงที การเสียชีวิตในการควบคุมตัวก็จะยังคงเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบันมีสถานที่ควบคุมตัวหลายแห่งเกิดขึ้นใหม่ตามอำนาจพิเศษ โดยสถานที่ควบคุมตัวหลายแห่งไม่ได้มีการประกาศสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ คุกลับ Safe house หรือสถานที่ควบคุมตัวลับตามกฎหมายพิเศษหลายฉบับ การป้องกันการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขัง ผู้ต้องกัก หรือผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกนำตัวเข้าระบบราชทัณฑ์นั้นอาจเกิดจากความไม่รอบคอบในการห้ามใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่อาจนำไปใช้ได้ในการฆ่าตัวตาย เช่น สายฝักบัวอาบน้ำในห้องขังของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ เป็นต้น ดังนั้นทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองทัพหรือกลาโหม ที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคลด้วยอำนาจใดใดก็ตามต้องมีการตรวจตราตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้นเป็นประจำและเป็นไปตามมาตรฐานและวิธีปฏิบัติตามหลักสากล
- นอกจากการควบคุมกำกับสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องขังแล้วยังต้องมีการปรับปรุงและติดตามการปฏิบัติที่เคร่งครัดอีกหลายประการ เช่น การกำหนดมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่างๆในการป้องกันการทรมาน เช่นการที่ผู้ถูกควบคุมตัวต้องได้รับสิทธิในการเยี่ยมจากญาติและทนายความ และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโดยทันทีเมื่อแรกรับตัวเข้าสถานที่ควบคุมตัว อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อมีการร้องขอ
- การสอบสวนคดีโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ รับผิดชอบ และเป็นอิสระและต้องมีการดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทรมานโดยผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมกันนั้นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ให้รู้ตระหนัก และยึดถือปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและอนุสัญญาต่อต้านการทรมานอย่างเคร่งครัดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ แต่หากเสริมด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้วิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม การบังคับให้ผู้ต้องหาสารภาพก็อาจจะลดน้อยลงหรือไม่มีเลย
- ในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่ดำเนินการทำภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน- OPCAT ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ มีมาตรการที่คณะกรรมการการต่อต้านการทรมานได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการตรวจสอบและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ในย่อหน้าที่ 24 ว่า “…ประเทศไทยรายงานว่า หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังได้ รวมทั้งองค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมีการร้องขอและได้รับอนุญาตก่อน คณะกรรมการฯตั้งข้อสังเกตว่า ถ้อยแถลงของคณะผู้แทนของประเทศไทยที่ว่าจะดำเนินการภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน OPCAT ในอนาคตอันใกล้
- อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯยังไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสถานที่คุมขัง จึงยังคงห่วงใยว่า สถานที่คุมขังทุกประเภทและทั้งหมดมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระ และสามารถตรวจสอบได้หรือไม่…” และมีข้อเสนออีกด้วยว่าให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจาก คณะกรรมการการต่อต้านการทรมาน องค์กรสหประชาชาติ ว่าด้วย (ก) ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งโดยการตรวจเยี่ยมปกติ และการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยการตรวจสอบระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจสอบจากองค์กรเอกชน เพื่อป้องกันการทรมานและการประติบัติและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (ข) นำเสนอข้อเสนอแนะจากการตรวจเยี่ยมเผยแพร่สู่สาธารณะ และติดตามผลของระบบการตรวจสอบดังกล่าว (ค) เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ เวลา และระยะเวลา การตรวจสอบ รวมถึงการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตามสถานที่ที่ทำให้สูญสิ้นเสรีภาพ ตลอดจนข้อค้นพบและการติดตามผลของการตรวจเยี่ยมดังกล่าว (ง) ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และจัดตั้งกลไกป้องกันแห่งชาติ
หมายเหตุ: ทั้งนี้ในทางกฎหมายในกรณีที่มีการตายของบุคคลใดระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ซึ่งต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดังปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ โดยในคดีนี้จะเรียกว่าเป็นคดีช. (คดีชันสูตรพลิกศพ) พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายต่อศาล ระหว่างพนักงานอัยการ ผู้ร้อง และต้องมีการติดต่อให้ญาติผู้ตายเข้ามาเป็นผู้ร้องและกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง (ชันสูตรพลิกศพ)ในชั้นศาล เพื่อมีคำสั่งว่าใครเป็นผู้ตาย พฤติกรรมการตาย และใครเป็นผู้ทำให้ตาย