[:th]CrCF Logo[:]

การฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อความรุนแรง ในโอกาสวันต่อต้านการซ้อมทรมานแห่งสหประชาชาติ (Rehabilitation of victims of violence) Thai & English

Share

14012219_1277640745580557_27411416_n

Torture Day Presentation by David

การฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อความรุนแรงในโอกาสวันต่อต้านการซ้อมทรมานแห่งสหประชาชาติ

นำเสนอในเวทีกฎหมายต่อต้านการทรมาน ความยุติธรรมที่รอคอยอยู่ วันที่ 29 มิถุนายน 2559

โรงแรมสุโกศล

โดย Dr. David W. Engstrom,

ศาสตราจารย์สาขาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานดิเอโก

 

ประการแรก ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานในโอกาสวันต่อต้านการซ้อมทรมานแห่งสหประชาชาติและเพื่อรำลึกเหยื่อการซ้อมทรมานทั่วโลก

เหยื่อความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายทางเพศ การละเมิดต่อเด็ก และการซ้อมทรมาน มีคุณลักษณะร่วมกันหลายประการ

ประการแรก ผู้กระทำความรุนแรงไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเห็นการกระทำของตน เพื่อปกปิดความรุนแรงให้เป็นความลับ พวกเขามักข่มขู่ที่จะทำร้ายเหยื่ออีก หรืออาจบอกกับเหยื่อว่า ถ้าเอาเรื่องนี้ไปเปิดเผย จะไม่มีใครเชื่อข้อมูลหรอก

ความพยายามปิดปากเหยื่อ ยิ่งตอกย้ำความอยุติธรรมเนื่องจากการกระทำที่รุนแรงนี้

ประการที่สอง กรณีที่เหยื่อความรุนแรงเอาสิ่งที่ผู้กระทำไปเปิดเผย หน่วยงานของรัฐก็อาจไม่ยอมรับข้อกล่าวหานั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตำรวจ หรือศาลอาจปฏิเสธว่า เหตุการณ์เช่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือกล่าวโทษผู้เป็นเหยื่อความรุนแรง พวกเขาอาจบอกว่า “พวกที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราก็สมควรแล้วล่ะ พวกเขาแต่งตัวไม่เรียบร้อยเอง ส่วนภรรยาก็คงทำอะไรซึ่งเป็นเหตุผลให้สามีต้องแสดงความโกรธกับเธอ เหยื่อการซ้อมทรมานเป็นผู้ก่อการร้ายหรือสมควรจะได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายเช่นนั้น”

การทำให้สาธารณะและเจ้าหน้าที่ยอมรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำที่รุนแรง เป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่ความยุติธรรม และต้องเป็นเหตุให้ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อสืบสวนสอบสวนการกระทำนั้น และนำตัวผู้กระทำผิดมาไต่สวนเพื่อลงโทษ ในขั้นตอนปฏิบัติเหล่านั้น เราควรระวังไม่ให้ผู้เป็นเหยื่อได้รับความเจ็บปวดทรมานซ้ำสอง และต้องประกันให้พวกเขาได้รับความปลอดภัย ในเวลาเดียวกัน ขั้นตอนปฏิบัติเหล่านั้นควรประกันให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเที่ยงตรงและละเอียด เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าการกระทำที่รุนแรงนั้นเกิดขึ้นจริง ในสหรัฐฯ เรามีบทเรียนที่จะไม่ให้เด็กต้องให้การในห้องพิจารณาคดีในขณะที่ผู้กระทำตามข้อกล่าวหาอยู่ร่วมด้วย เรามีบทเรียนว่าผู้เป็นเหยื่อการทำร้ายทางเพศต้องได้รับการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษเพื่อรวบรวมหลักฐาน

เหยื่อการซ้อมทรมานต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน แต่อาจท้าทายมากขึ้นอีกกรณีที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาลมักปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้เป็นผู้ซ้อมทรมาน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลของนายบุชปฏิเสธว่าไม่ได้ซ้อมทรมาน แม้จะมีพยานหลักฐานมากมายที่พิสูจน์ตามข้อกล่าวหา

ในขณะที่ขั้นตอนการขอที่พักพิงของสหรัฐฯ ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากสำหรับเหยื่อการซ้อมทรมานที่จะพิสูจน์ตามข้ออ้างว่าได้รับอันตรายมา โดยในขั้นตอนการขอที่พักพิง ภาระพิสูจน์จะตกอยู่ที่ผู้แสวงหาที่พักพิงเหล่านั้น พวกเขาต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้พิพากษาเห็นว่าได้ถูกคุกคามและมักถูกซ้อมทรมานมาก่อน เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานและไม่มีหลักฐานที่รวบรวมได้ จึงมักมีการปฏิเสธที่จะให้สิทธิในการขอที่พักพิง (ผมจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกในภายหลัง)

เหยื่อความรุนแรงยังมีลักษณะร่วมกันประการที่สาม โดยความรุนแรงมักทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจอย่างชัดเจนให้กับผู้เป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการแตกหักของกระดูก ความเสียหายของกล้ามเนื้อและอวัยวะ แต่บาดแผลด้านจิตใจมักเป็นปัญหาลึกซึ้งสุดและยากที่จะเยียวยา เราตระหนักดีว่า ความรุนแรงก่อให้เกิดอาการความเครียดภายหลังความเจ็บปวด (Post Trauma Stress Disorder – PTSD) ความซึมเศร้า ความตื่นเต้นกังวล ความเครียด และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ด้อยลง

การซ้อมทรมานส่งผลกระทบอย่างรุนแรงด้านจิตใจ เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากหลักฐานในทางวิทยาศาสตร์มากมาย จากฐานข้อมูลด้านจิตวิทยาแห่งหนึ่ง มีบทความ 334 ชิ้นเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและ PTSD และในฐานข้อมูลอีกแห่งหนึ่งมีบทความเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและความซึมเศร้า 198 ชิ้น

ความเจ็บปวดที่ลึกซึ้งด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ยากจะเยียวยา หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการรักษา จากการสังเกตในงานวิจัยและการแพทย์พบว่า แม้เหตุการณ์ซ้อมทรมานผ่านไปหลายปี ผู้ถูกกระทำก็ยังมีระดับความทุกข์ใจที่รุนแรง

เนื่องจากความรุนแรงส่งผลเสียหายอย่างมาก เราจำเป็นต้องจัดให้เหยื่อความรุนแรงได้รับบริการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความยุติธรรม ผู้เสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวอาจต้องได้รับที่พักพิงชั่วคราว ได้รับการบำบัดและความช่วยเหลือให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เหยื่อการทำร้ายทางเพศอาจต้องได้รับความสนับสนุนแบบกลุ่มและการรักษาพยาบาลเพื่อบำบัดอาการ PTSD และเหยื่อการซ้อมทรมานอาจต้องได้รับบริการทางการแพทย์และจิตวิทยาหลายประการ เพื่อให้สามารถสร้างชีวิตใหม่ได้

โชคร้ายที่บริการฟื้นฟูเยียวยาเหล่านี้มักได้รับการพัฒนาอย่างเชื่องช้า ไม่ค่อยได้รับทุนสนับสนุนและขาดความต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริการสำหรับเหยื่อการซ้อมทรมาน ในขณะที่การซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายพันปี แต่ช่วง 30 ปีนี้เองที่เริ่มมีการพัฒนาบริการเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา

ถึงอย่างนั้น มีการกำหนดอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนที่ต้องให้บริการฟื้นฟูเยียวยากับเหยื่อการซ้อมทรมาน ข้อ 14 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานกำหนดไว้ว่า

“ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันในระบบกฎหมายของตนว่า ผู้ถูกทำร้ายจากการกระทำการทรมานได้รับการชดใช้ทดแทนและมีสิทธิซึ่งสามารถบังคับคดีได้ที่จะได้รับสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ รวมทั้งวิถีทางที่จะได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในฐานะประเทศที่ลงนามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน รัฐบาลไทยแสดงพันธกิจที่จะปฏิบัติตามข้อบทนี้ รวมทั้งการจัดให้มีบริการฟื้นฟูเยียวยา แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังคงไม่มีบริการอย่างเป็นทางการเช่นนั้นให้กับผู้เป็นเหยื่อการซ้อมทรมาน

คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ได้ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาที่ไม่มีบริการดังกล่าว โดยระบุว่า “รัฐไม่สามารถจัดให้มีบริการฟื้นฟูและเยียวยาอย่างเป็นระบบ ให้กับผู้ตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมานที่ส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ”

ข่าวดีก็คือ รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน กล่าวคือมีแม่แบบการฟื้นฟูเยียวยาหลายประการที่ไทยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเยียวยาบาดแผลของการซ้อมทรมาน โดยแม่แบบเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในกัมพูชา อินเดีย ซิมบับเว และประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยได้จัดอบรมผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และจิตวิทยาเพื่อให้การบำบัดเช่นนี้ ในประเทศไทยยังมีชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งสามารถให้ความสนับสนุนช่วยเหลือผู้เสียหายได้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อทำให้บริการฟื้นฟูเยียวยาเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นองค์รวม

อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ กับการฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อการซ้อมทรมาน ในสหรัฐฯ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาสามารถทำการประเมินทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างเป็นอิสระโดยใช้เครื่องมือที่มีการรับรอง เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับการขอที่พักพิง เพื่อประเมินข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวอ้างว่าได้ถูกซ้อมทรมานและถูกทำร้ายมา รายงานของพวกเขามักมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจที่จะให้สิทธิหรือไม่ให้สิทธิการพักพิง ส่วนในประเทศไทย การมีผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสุขภาพจิตที่เป็นอิสระและผ่านการอบรมเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบร่องรอยการทรมานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ ย่อมทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เสียหายและรัฐบาลในเวลาเดียวกัน

ผมอยากจบด้วยการตั้งข้อสังเกตสองประการ ประการแรก บาดแผลจากการซ้อมทรมานที่ขาดการรักษาพยาบาลอาจมีอาการเลวร้ายลงไปอีก และอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกอยากแก้แค้น กรณีที่เราไม่จัดให้มีบริการฟื้นฟูเยียวยาสำหรับเหยื่อการซ้อมทรมาน พวกเขาก็อาจต้องกลับมาหาเราอีกและส่งผลกระทบในเชิงลบกับเรา ในสภาพการณ์ที่เลวร้ายสุด การซ้อมทรมานจะเพิ่มความเกลียดชังต่อสังคมและรัฐมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราควรรำลึกว่าอัยมาน อัล ซาวาฮีรี (Ayman al-Zawahiri) ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มอัลเคด้า ก็เคยเป็นเหยื่อการซ้อมทรมานก่อนที่เขาจะเข้าร่วมกลุ่มกับอุสมะ บินลาเดน (Osama bin Laden)

ประการที่สองและเป็นเรื่องในเชิงบวก ในการฟื้นฟูเยียวยาควรจะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสามารถในการฟื้นฟูตนเองสำหรับเหยื่อการซ้อมทรมาน ผู้ที่ผ่านประสบการณ์การซ้อมทรมานมักเป็นคนที่เข้มแข็ง แม้จะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่พวกเขาก็ยังอาจสามารถฟื้นฟูชีวิตตนเองได้ บางคนอาจเข้มแข็งมากขึ้นอีกโดยเป็นผลมาจากการทรมานที่ได้รับ ผู้เป็นเหยื่อการซ้อมทรมานจึงมีความสามารถในการฟื้นฟูตนเอง และเราควรสนับสนุนให้เกิดความสามารถในการฟื้นฟูตนเองมากขึ้นโดยเป็นการต่อยอดจากความเข้มแข็งนั้น

 

TAG

RELATED ARTICLES