[:th]CrCF Logo[:]

กรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเนื่องจากแจกเอกสาร อันมีเนื้อหาเป็นการแสดงความเห็นต่อการลงประชามติ

Share

IMG_0045-1

เผยแพร่วันที่ 19 สิงหาคม 2559          

แถลงการณ์

กรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเนื่องจากแจกเอกสาร
อันมีเนื้อหาเป็นการแสดงความเห็นต่อการลงประชามติ

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวขณะแจกเอกสารความเห็นประชามติที่จังหวัดชัยภูมิ
ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และถูกฝากขังผลัดแรกที่เรือนจำภูเขียว จ.ชัยภูมิ พร้อมได้ประกาศอดอาหารประท้วงจนถึงปัจจุบัน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559 สภ.เมืองขอนแก่น ส่งหมายเรียกไปยังนายจตุภัทร์ เนื่องจากถูกกล่าวว่าร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ภายหลังจากจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” เวทีเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับประชามติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

และในวันนี้ ทนายความของนายจตุภัทร์ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังระหว่างพิจารณาและยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยศาลจังหวัดภูเขียวได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ซึ่งนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร์ ใช้ตำแหน่งทนายความค้ำประกันพร้อมกับวางเงินสดเพิ่มอีกจำนวน 30,000 บาท

จากกรณีดังกล่าวฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. มูลนิธิฯ มีความเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 19 และเป็นสิทธิ เสรีภาพ บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
    (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ตลอดจนพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ก็ได้บัญญัติรับรองหลักการดังกล่าวไว้ว่า“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ด้วยเหตุนี้ การกระทำโดยการแสดงความคิดเห็นต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน โดยการแจกเอกสารซึ่งมีเนื้อหาอันเป็นการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แม้ในเอกสารจะมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากคำอธิบายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ได้กระทำไปโดยสุจริตเพื่อชี้ให้เห็นถึงแง่มุมที่แตกต่างของร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการตัดสินใจลงประชามติตามเจตจำนงของตนอย่างรอบคอบและอิสระ กระทำดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้และไม่ควรถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
  2. มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการทบทวนมาตรการในการจับกุมและควบคุมตัว ตลอดจน
    ยุติการดำเนินคดีทุกคดีต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ เนื่องจากประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้โดยปราศจากการแทรกแซง รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความคิดทุกประเภท หากมิได้เป็นการสร้างความเสียหายหรือความเสื่อมเสียต่อบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

19 สิงหาคม 2559

TAG

RELATED ARTICLES