วันนี้ (วันที่ 2 สิงหาคม 2559) เวลา 9.00 นาฬิกา ทนายความจากศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยนางสุภาพ คำแหล้ ได้เดินทางไปยัง ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีระะหว่างพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวโจทก์ ยื่นฟ้องนายเด่น คำแหล้ กับพวกรวม 5 คน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้
โดยนางสุภาพ คำแหล้ แถลงต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 นายเด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของนางสุภาพ คำแหล้ ได้เข้าไปเก็บของป่ายัง เขตรักษาพันสัตว์ป่าภูเขียว และไม่ได้กลับออกมา โดยนางสุภาพ คำแหล้ ได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานยัง สภ. ห้วยยาง ซึ่งภายหลังจากที่นางสุภาพ คำแหล้ ไปแจ้งความดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจได้ออกติดตามหาตัวของนายเด่น คำแหล้ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่พบตัวนายเด่น คำแหล้ นางสุภาพ จึงขออนุญาตเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีกสักนัดหนึ่ง โดยศาลได้อนุญาตให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 20 กันยายน 2559 เวลา 9.00 นาฬิกา
ที่มา: ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา พ่อเด่น หรือนายเด่น คำแหล้กับพวก กรณีบุกรุกป่าสงวนและความคืบหน้าการหายตัวไป “นายเด่น คำแหล้”
ศาลจังหวัดภูเขียวได้มีหมายศาลถึง นายเด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 กับนางสุภาพ คำแหล้ จำเลยที่ 4 นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว กับนายเด่น คำแหล้ กับพวกรวม 5คน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้และ พ.ร.บ. ป่าสงวน ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 นี้เวลา 9.00น. ณ ศาลจังหวัดภูเขียว
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายเด่น นางสุภาพ และชาวบ้านรวม10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม มีการแยกสำนวนฟ้อง ออกเป็น 4 คดี รวมจำนวนชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหา 10 คน ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ตามเงื่อนไขข้อตกลงกับรัฐบาลในสมัยนั้นว่า “ให้สามารถทำประโยชน์ได้ตามปกติสุข จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาได้ข้อยุติ”
ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 สำหรับนายเด่น และนางสุภาพ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้จำคุกทั้งคู่สามีภรรยาที่ทำกินอยู่บนแปลงเดียวกันเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัวในชั้นฎีกา เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ทำให้เกิดความยากลำบาก และเมื่อมีร้องขอความเป็นธรรมจากกลุ่มชาวบ้านในวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 ศาลฎีกาก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายเด่น และนางสุภาพชั่วคราว โดยตีหลักทรัพย์ประกันตัวไว้ที่ 300,000 บาท พร้อมทั้งศาลชั้นต้นได้รับรองให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนความคืบหน้าการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการค้นหาตัวนายเด่น คำแหล้ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายหลังจากได้รับหนังสือเรียกร้องจากชาวบ้านขอให้เร่งติดตามการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559
โดยในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ทางตำรวจได้แบ่งเป็นชุดค้นหาทั้งหมด 4 ชุด ดำเนินการค้นหาติดตามบริเวณในพื้นที่เกิดเหตุที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการหายไปของนายเด่นดังนี้
1. บริเวณจุดต้นไฮตาก, 2. จุดที่พบเปลนอนของนายเด่น และ 3. จุดป่าซ้อ ทั้งนี้เป็นความพยายามอีกครั้งที่จะค้นหายนายเด่น คำแหล้ หลังหายตัวไปกว่าสามเดือนโดย
ไร้ร่องรอย
“การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ญาติผู้เสียหายโดยเฉพาะภรรยาที่ตกเป็นจำเลยในคดีพิพาทกับรัฐในที่ดินนั้นตกทนทุกข์ทรมาน การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างจริงจัง และเป็นอิสระอย่างเร่งด่วนเท่านั้นที่จะช่วยคลี่คลายได้ว่านายเด่นหายไปโดยการบังคับหรือโดยสมัครใจ หากไม่พบว่ามีเหตุธรรมชาติหรือมีแรงจูงใจอื่นใด รัฐมีหน้าที่จะต้องดำเนินการสืบค้นจนกว่าจะทราบชะตากรรมนายเด่น คำแหล้” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อศูนย์ศึกษา และพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
– นายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความ 089-6222474
– นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความ 081-8428754
ประเด็นความขัดแย้งข้อพิพาทในเรื่องที่ดินกรณีบ้านโคกยาว โดยศูนย์ศึกษา และพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
พื้นที่พิพาทถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ตำบลทุ่งลุยลาย ตำบลทุ่งพระ ตำบลทุ่งนาเลา ตำบลห้วยยาง ตำบลดงกลาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อประมาณ 290,000 ไร่ ในส่วนพื้นที่โคกยาว ได้มีการดำเนินโครงการปลูกสร้างสวนป่าทดแทนพื้นที่ที่ให้สัมปทานด้วยการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่เมื่อปี 2528
โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพรานได้เข้ามาดำเนินการอพยพขับไล่ผลักดันให้ชุมชนออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าจะดำเนินการปลูกฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นป่าธรรมชาติ ตามเงื่อนไขการสัมปทานตัดไม้ โดยสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่รายละ 15 ไร่ แต่มีชาวบ้านที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่ เตรียมการจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินที่มีเจ้าของเดิมครอบครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ชาวบ้านกลุ่มที่ถูกอพยพจึงกลายเป็นผู้ไร้ที่ดิน
นายเด่น คำแหล้ ณ ปัจจุบันจะมีอายุ 64 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอภุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี (หนองบัวลำภู) ช่วงชีวิตประมาณปี 2512 เข้ามาอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยยึดอาชีพรับจ้างเกษตรกร ต่อมาช่วงสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นายเด่น เข้าไปเป็นทหารป่าในเขตงานภูซาง 196 ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.) ในนามชื่อจัดตั้งว่า “สหายตาวอีปุ่ม” ต่อมาประมาณปี 2521
ภายหลังออกจากป่า เข้ามายึดอาชีพรับจ้างเป็นจับกังแบกหามข้าวโพด ที่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คนสาร จ.ชัยภูมิ ต่อมาได้พบรักกับนางสุภาพ สนิทนิตย์ จากนั้นปี 2527 จดทะเบียนสมรส เป็นคู่สามี – ภรรยา ยึดอาชีพเกษตรกร บนพื้นที่ของพ่อตา และแม่ยาย ที่มอบเป็นมรดกตกทอดนับแต่นั้นเรื่อยมา และต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2527
กรณีปัญหาสวนป่าโคกยาวที่กรมป่าไม้ทำโครงการปลูกป่าทับพื้นที่ทำกินของชุมชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 7 นครราชสีมา ในเนื้อที่ 1,500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกิน ของราษฎร บ้านทุ่งลุยลาย และบ้านโนนศิลา ที่ถือครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2511 โดยช่วงปี 2548 นายเด่น คำแหล้ (ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว) เป็นแกนนำชาวบ้านกลับเข้ามายังผืนดินเดิม เพื่อร่วมต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน เรียกร้องสิทธิชุมชนเพื่อให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา
วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา 30 นาที เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ที่ 4 จังหวัดชัยภูมิ (ชย.4) ได้สนธิกำลัง ฝ่ายปกครองนำโดยนายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสาร และ อส. ประมาณ 200 นาย ได้เข้าไปควบคุมตัว ชาวบ้าน 10 ราย แจ้งข้อกล่าวหา บุกรุกแผ้วถาง สร้างสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม แยกเป็นฟ้องคดีเป็น 4 คดี ซึ่ง 2 ใน 10 นั้นคือนายเด่น คำแหล้ และนางสุภาพ คำแหล้ ภรรยา
25 เมษายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกนายเด่น และภรรยา เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว เป็นเหตุให้นายเด่นและภรรยาถูกกักขังอยู่ในเรือนจำอำเภอภูเขียว ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. 56 ทนายความเข้าขอยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงจะหลบหนี
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 เครือข่ายองค์กรประชาชนในนามพีมูฟ ที่มาร่วมชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบ ได้ร่วมเดินรณรงค์จากที่ชุมนุมเดินทางไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา (สนามหลวง) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีนายเด่น และภรรยา ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอำเภอภูเขียว ต่อมามีคำสั่งศาลฎีกาให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 เป็นรายละ 300,000 บาท
ภายหลังรัฐประหาร วันที่ 26 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช. ที่ 64/57 ให้ชุมชนโคกยาวอพยพออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน แต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ นายเด่น คำแหล้ ได้ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ และได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ มติที่ประชุมให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหา
โดยมีหนังสือข้อตกลงจากการการประชุมร่วมของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงปนัดดา ดิษกุล กับเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันเป็นปกติสุขของประชาชนของเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แม้ว่าจะมีหนังสือฉบับดังกล่าวโดยขอให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ กับชุมชนโคกยาว แต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐในระดับพื้นที่ยังคงมีแผนที่จะดำเนินการผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
ดังจะเห็นได้จากทางจังหวัดโดยรองผู้อำนวยการกองกำลังชัยภูมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสวนป่าคอนสาร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา มีการเรียกตัวแทนชาวบ้านไปพูดคุยเรื่องการนำเอาชุมชนโคกยาว ลงมาอยู่กับชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อำเภอ คอนสาร จ.ชัยภูมิ และไม่เป็นผลสำเร็จตามที่หน่วยงานประสงค์ จนถึงปัจจุบันปัญหาที่ดินทำกินชุมชนโคกยาว ยังไม่คลี่คลายและชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร เข้ามาปิดป้ายประกาศไล่รื้ออีกครั้ง นายเด่นได้เป็นแกนนำคัดค้าน พร้อมกับเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้เดือดร้อนมาโดยตลอด