มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ใบแจ้งข่าว
เผยแพร่วันที่ 1 สิงหาคม 2559
คดีระเบิดเซ็นทรัลพลาซ่าเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
พลเรือนสองคนเข้าสู่การพิจารณาคดีศาลทหาร
ศาลเกาะสมุยเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามคำสั่งคสช.
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559 เวลา 09.00 น. ศาลมณฑลทหารบกที่ 45 อ่านความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 22 ก./2558 ระหว่าง อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 45 โจทก์ กับ นายอับดุลรอนิง ดือราแม จำเลยที่ 1 และอับดุลเลาะ สาแม จำเลยที่ 2 ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันมีและใช้วัตถุระเบิดในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน, ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยศาลมณฑลทหารบกที่ 45 อ่านความเห็นของศาลจังหวัดเกาะสมุยว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เนื่องจาก การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใดๆที่ใช้บังคับกับประชาชนเพื่อการบริหารประเทศ ส่งผลให้พลเรือนทั้งสองต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยมีนัดพิจารณาคดีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 45 ครั้งต่อไปเป็นนัดจะนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้วันที่ 25 และ 26 ตุลาคม 2559 เวลา 09.00 น.
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมาทนายจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจพิพากษาของศาลว่าควรขึ้นพิจารณาในศาลยุติธรรม(ศาลจังหวัดเกาะสมุย) ไม่ใช่ศาลทหาร เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นพลเรือนและคดีนี้เหตุเกิดขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ได้ยุติการประกาศใช้กฎอัยการศึกไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2558 จึงส่งผลให้คำสั่งฉบับที่ 38/2557 และ 50/2557 ที่อาศัยอำนาจกฎอัยการศึกในการบังคับใช้จึงได้สิ้นผลลงไปด้วย
ศาลจังหวัดเกาะสมุยมีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เนื่องจาก การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศด้วยการรัฐประหารเป็นผลสำเร็จ ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งใดๆที่ใช้บังคับกับประชาชนเพื่อการบริหารประเทศ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 มิใช่คำสั่งที่มีผลให้บุคคลต้องรับโทษทางอาญา เพียงแต่เพื่อให้ความชัดเจนว่าคดีลักษณะประเภทใดให้ศาลใดเป็นผู้พิจารณาพิพากษา หาได้จำกัดสิทธิของจำเลยในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 มาตรา 47 ได้บัญญัติรับรองแล้วว่าบรรดาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 081 898 7408
2. นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 086 037 4318