คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

Share

IMG_4269

ความคืบหน้าของคดีฯ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม  2559 ที่สภ.เมือง ปัตตานี ผู้ต้องหาทั้งสามรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนต่อไป  พตท.วิญญู เทียมราชา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสามโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวแต่อย่างใด และให้โอกาสผู้ต้องหาไปทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อสั่งให้แก่พนักงานสอบสวนในภายหลัง

เผยแพร่วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

แถลงการณ์

คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่

                         รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี

ในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย  ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์  http://voice fromthais.wordpress.com”   โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สภ.ปัตตานีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558         ขอแถลงว่า

  1. ่การกระทำทรมาน เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รัฐมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว
  2. นับตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ความไม่สงบกล่าวคือกรณีปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในปี 2547เป็นต้นมาปรากฎว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ และการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยที่ทางการไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาอย่างได้ผลแต่อย่างใด
  3. แม้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำดังกล่าว จะได้ร้องเรียน ร้องทุกข์หรือดำเนินมาตรการต่างๆด้วยตนเอง หรือโดยการช่วยเหลือสนับสนุนขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยา แต่มักไม่ได้ผล เนื่องจากวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลในหมู่เจ้าหน้าที่ยังเข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ผู้ที่ร้องทุกข์ร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเยียวยาจากองค์การและกลไกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสหประชาชาติ
  4. การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI)  ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ
  5. ในการเขียนรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือเป็นการกระทำทรมานเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นการกระทำที่แพร่หลาย กว้างขวางในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การจำลองวิธีการประหารชีวิต การซักถามที่ใช้เวลานานโดยไม่ให้พักผ่อน การขังเดี่ยว การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส การทุบตีทำร้ายร่างกาย การทำให้สำลักหรือบีบคอ การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ และการให้อยู่ในห้องร้อน ห้องเย็น เป็นต้น
  6. ร่างรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานที่จัดทำรายงานแต่อย่างใด มีเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคน ได้โทรศัพท์สอบถามผู้เขียนรายงานบางคน เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำรายงานไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากความยินยอมของผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นอกจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองความมั่นคง ปลอดภัยของผู้เสียหายด้วย ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรม หลายคนมีอาการคับแค้นด้านจิตใจและวิตกกังวล ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้
  7. การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลียนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสาม ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน ใช้วิธีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป โดยยังไม่ได้ตระหนักว่า การทรมานอย่างอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบที่ยังดำเนินต่อไปในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวหาโดยนานาชาติว่าเป็น “การก่อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)” ได้

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี

 

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading