แถลงการณ์ HAP รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยกเลิกดำเนินคดี 3 นักสิทธิ และปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

Share

 

11186261_825377780885551_511891618_n

แถลงการณ์  HAP รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยกเลิกดำเนินคดี 3 นักสิทธิ และปกป้องนักสิทธิมนุษยชน

วันที่  26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี  ให้มีการดำเนินคดี นายสมชาย  หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะ  ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยออกเอกสารและความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  กลุ้มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ได้จัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558 และเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกสถาบันทดสอบภาษาอาหรับ  วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)ก่อตั้งขึ้นด้วยนักกิจกรรมในพื้นที่ ที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ตกเป็นผู้เสียหายจากการทรมานด้วยตนเอง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือระดับหนึ่งในการทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงเพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จชต.

การที่องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเข้ามาร้องเรียนและทำการจดบันทึกจากผู้เสียหายจากการทรมานนั้นเป็นกิจกรรมที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพ การปกปิดชื่อบุคคลผู้ร้องเรียนและการเปิดเผยได้แต่เฉพาะรายชื่อผู้ที่ยินยอมเท่านั้นเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลและยังคงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นต่อกันและกันและยังคงเป็นช่องทางที่ผู้เสียหายเลือกที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรมต่อไป

แม้ว่าที่ผ่านมาการร้องเรียนต่อองค์กรหน่วยงานต่างๆ จะยังไม่เกิดผลในเรื่องการเยียวยาแต่อย่างใด แต่เป็นหนทางเดียวที่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาว่า การทรมานนั้นยังคงมีอยู่จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และต้องการการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และในระดับปฏิบัติ การฟ้องร้องคดีเพียงเพื่อใช้เป็นช่องทางในการให้องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่รายงาน เปิดเผยรายชื่อของผู้ร้องเรียนนั้น ขัดกับหลักการสากลในเรื่องการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน และอาจเป็นการหลีกเลี่ยงการสอบสวนเพื่อนำคนผิดในฐานความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญาเรื่องการทรมานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดและสี่อำเภอชายแดนใต้   และยังเป็นองค์กรที่ร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558 อีกด้วย  เราในฐานะผู้ร่วมจัดทำรายงานขอยืนยันต่อจุดยืนขององค์กรว่า การจะให้ข้อมูลละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นเรื่องที่ยังต้องการหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยก่อน

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ขอเรียกร้องให้ทางการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยกเลิกความพยายามที่จะดำเนินคดีกับนักสิทธิ ตลอดจนยุติการข่มขู่ คุกคามใดๆ และสอบสวนข้อมูลเรื่องของการซ้อมทรมานในรายงานอย่างตรงไปตรงมา  ซึ่งการดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามคน จะไม่เกิดผลดีและประโยชน์ใดๆเลยต่อสังคมเรา  แต่จะกลายเป็นการจุดกระแสให้มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยอมรับการทำงานของนักกิจกรรมเพื่อสังคมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้นองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap มีความเชื่อมั่นว่า รัฐไทยมีความพยายามในการสร้างสังคมสันติสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง

ดังนั้น  องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี Hap ขอแนะนำให้

  1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน. ) ถอนแจ้งความดำเนินคดีต่อนักสิทธิทั้งสามคน
  2. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง มีความน่าเชื่อถือ และมีองค์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นสมาชิกร่วมคณะกรรมการ
  3. สร้างกลไกในการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากการทรมาน
  4. นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระวนการยุติธรรม และเยียวยาผู้เสียหาย

 

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (Hap)

26 มิถุนายน 2559

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายอิสมาแอ เต๊ะ  ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี 085 2527824

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading