https://www.hrw.org/news/2016/06/08/thailand-drop-case-against-rights-defenders
8 มิถุนายน 2559
ประเทศไทย: ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ทหารฟ้องคดีอาญาเพื่อตอบโต้รายงานการซ้อมทรมาน
ภาพประกอบ ทหารมองผ่านรอยกระสุนปืน เพื่อตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุระเบิดและยิงโจมตีที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาสของไทย 14 มีนาคม 2559 © 2016 Reuters
(นิวยอร์ก) – กองทัพไทยควรถอนฟ้องข้อกล่าวหาอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคนโดยทันที กรณีการรายงานข้อมูลกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซ้อมทรมานบุคคลในจังหวัดชายแดนใต้ ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าวในวันนี้
การกระทำของกองทัพเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการติดตามและรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งปวงในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอย่างกว้างขวางในประเทศ ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว
“กองทัพไทยพุ่งเป้าโจมตีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่รายงานการปฏิบัติมิชอบร้ายแรง และการเป็นปากเสียงให้กับผู้เสียหาย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว “รัฐบาลควรสั่งการให้ถอนฟ้องคดีอาญาเหล่านี้ และควรทำสิ่งที่น่าจะได้ทำตั้งแต่ในอดีตคือ การสอบสวนอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมาน”
มีรายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งดูแลปฏิบัติการด้านความมั่นคงในประเทศในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แจ้งความดำเนินคดีที่จังหวัดยะลาต่อนักสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รวมทั้งนายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ กล่าวหาว่ามีการหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลเท็จทางอินเตอร์เน็ต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์
เป็นการแจ้งความสืบเนื่องจากรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนแห่งปัตตานี รวบรวม 54 กรณีที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงถูกกล่าวหาว่าได้ซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงซึ่งเป็นชาวมาลายู ระหว่างปี 2547-2558 หากมีการตั้งข้อหาและตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับ 100,000 บาท
ทางการไทยมีพันธกรณีต้องดูแลให้บุคคลและหน่วยงานทั้งปวงที่ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว สิทธิในการแจ้งความดำเนินคดีเมื่อมีการทรมานและการปฏิบัติมิชอบ และสิทธิที่จะให้มีการสอบสวนโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง เป็นสิทธิตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) นอกจากนั้น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Declaration on Human Rights Defenders) ยังย้ำข้อห้ามต่อการตอบโต้ ข่มขู่ และคุกคามบุคคลซึ่งดำเนินการอย่างสงบเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามอาชีพและนอกเหนือจากนั้น
ที่ผ่านมากองทัพไทยมีแนวโน้มจะปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานและการปฏิบัติมิชอบร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว โดยทางการไทยมักจะตอบโต้เมื่อมีการรายงานข้อมูลกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิ โดยการแจ้งความดำเนินคดีผู้วิจารณ์ กล่าวหาว่าให้ข้อมูลเท็จโดยประสงค์จะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของกองทัพ
ความพยายามของกองทัพไทยในการแจ้งความอาญาเพื่อตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคำสัญญาที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้ไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าจะเอาผิดทางอาญากับการทรมานและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยเพื่อต่อต้านการปฏิบัติดังกล่าว ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าว
การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นข้อห้ามตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองตั้งแต่ปี 2550 กำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนและดำเนินคดีต่อการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินคดีจนประสบความสำเร็จต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติมิชอบต่อผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่มีเชื้อสายมาลายู
ในเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเสนอแนะให้ไทย “ควรดำเนินมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อ (ก) ยุติการคุกคามและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และผู้นำชุมชนโดยทันที และ (ข) ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นระบบต่อรายงานการข่มขู่ คุกคาม และทำร้าย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด และประกันให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล”
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ที่มีชื่อว่า กลุ่มนักรบเพื่อเสรีภาพ (Pejuang Kemerdekaan Patani) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหลวม ๆ ของ BRN-Coordinate (Barisan Revolusi Nasional) ยังคงดำเนินงานในหลายร้อยหมู่บ้าน แม้จะประสบความถดถอยที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้ประโยชน์จากการปฏิบัติมิชอบและการปราบปรามที่หนักหน่วงของรัฐ เป็นเหตุผลเพื่อหาสมาชิกใหม่ ๆ และเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการที่ความรุนแรงและสร้างความหวาดกลัว อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน นับแต่การสู้รบเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2547
“ความโหดร้ายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่ได้เป็นเหตุผลให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องปฏิบัติมิชอบ” อดัมส์กล่าว “การปกปิดข้อมูลว่ามีการซ้อมทรมานและความผิดอาญาอื่น ๆ โดยพุ่งเป้าโจมตีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน มีแต่จะทำลายความพยายามในการแก้ไขสถานการณ์ความมั่นคงใน