[:th]CrCF Logo[:]
[:th]ฟาเดล เสาะหมาน[:]

มีเพียง ‘ดุอาอฺ’ ที่หน้าประตู…กว่า 4 เดือนแล้วที่บุตรชายถูกอุ้มหาย: เสียงสะท้อนจากมารดา‘ฟาเดล เสาะหมาน’ การรอคอยที่ไร้จุดสิ้นสุด

Share

มีเพียง ‘ดุอาอฺ’ ที่หน้าประตู…กว่า 4 เดือนแล้วที่บุตรชายถูกอุ้มหาย: เสียงสะท้อนจากมารดา‘ฟาเดล เสาะหมาน’ การรอคอยที่ไร้จุดสิ้นสุด เรื่องและภาพโดย : ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมด้วยนางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า กรณีการหายตัวไปของนายฟาเดล เสาะหมาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เคยเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2559 ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนหลังได้รับการร้องเรียนว่าการสืบสวนสอบสวนกรณีหายตัวไปของนายฟาเดล เสาะหมาน ไม่คืบหน้า

โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเคยตั้งข้อสงสัยต่อการหายตัวไปของนายฟาเดลซึ่งเป็นอดีตผู้ต้องขังที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ทว่า หน่วยงานความมั่นคงก็ยังคงเฝ้าติดตามพฤติกรรมของนายฟาเดลมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 นายฟาเดลได้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ แล้วถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 7 วัน

นอกจากนี้ จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ยังอ้างอิงถึงข้อมูลของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ระบุว่าเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ของวันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดลได้ออกจากบ้านพร้อมรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ทะเบียน ก 670 ปัตตานี โดยขณะที่เข้าไปทำภารกิจในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้มีคนร้ายขับรถยนต์เก๋งสีดำเข้าไปในโรงเรียน และจอดรถบริเวณสนามฟุตบอล

ทันใดนั้น ได้มีชายฉกรรจ์ 3 คน ลงจากรถ และวิ่งไปทางอาคารห้องพักครูซึ่งห่างจากรถที่จอดอยู่ประมาณไม่เกิน 5 เมตร จากนั้นชายฉกรรจ์ 2 คน ได้เข้าล็อคแขนนายฟาเดลคนละข้าง ลากตัวมาที่รถยนต์ซึ่งกำลังจอดอยู่ ขณะที่ชายอีกคนวิ่งมาเปิดประตูรอไว้ก่อนแล้ว จากนั้นได้ไปนั่งที่นั่งคนขับ

โดยมีบุคคลที่อยู่ในโรงเรียนเห็นเหตุการณ์ และเห็นนายฟาเดลขณะที่ถูกลากตัวได้ขัดขืน โดยการเอามือดันไว้ที่ขอบประตูบนของรถ แต่ได้มีชายอีกคนฝั่งขวามือพยายามยกขาของนายฟาเดล และยัดขาเข้าไปในรถจนรองเท้าตกลงพื้น คนขับรถจึงได้รีบขับรถออกไปจากบริเวณโรงเรียน

สำหรับการติดตามความคืบหน้าล่าสุดของครอบครัวนายฟาเดล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น เมื่อเดินทางไปถึงพบว่าบ้านของนายฟาเดลเงียบเหงา มีเพียงญาติ และน้องสาวของนายฟาเดล และหลานๆ ที่เป็นเด็กๆ ทางเข้าประตูหน้าบ้าน มีกระดาษสีขาว แนบรูปถ่ายของนายฟาเดล และมีบทดุอาอฺ หรือบทขอพรติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้าบ้าน โดยครอบครัวของนายฟาเดลหวังว่าคำดุอาอฺซึ่งเป็นพึ่งทางใจเพียงทางเดียวที่เหลืออยู่นี้จะช่วยนำพานายฟาเดลให้คืนกลับมาหาครอบครัวในที่สุด

จากการสอบถามญาติของนายฟาเดล ได้ความว่าบ้านเรือนที่เงียบเชียบคล้ายไม่มีใครนี้ เนื่องจากพี่น้องคนอื่นๆ ของนายฟาเดล อาทิ พี่ชาย ไปทำงาน ส่วนแม่ของนายฟาเดลอยู่กับญาติที่บ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลกันนัก ญาติรายนี้จึงพาคณะศูนย์ข้อมูลมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ไปพบมารดาของนายฟาเดลที่บ้านหลังดังกล่าว

เมื่อได้พบกับมารดาของนายฟาเดล นางสาวอัญชนา กลุ่มด้วยใจได้สอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีการหายตัวไปของนายฟาเดล รวมทั้งสอบถามถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และความคืบหน้าในกรณีอื่นๆ

มารดาของนายฟาเดลกล่าวกับนางสาวอัญชนา และเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า นับแต่นายฟาเดลหายไป ยังไม่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมาสอบถามใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่จำได้ว่า มีเจ้าหน้าที่คนไทยที่ทำงานกับยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) ลงมาสอบถาม ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีใครมาสอบถามใดๆ เกี่ยวกับการหายตัวไปของฟาเดล

นอกจากนี้ มารดาของนายฟาเดลกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เชิญไปให้ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถามว่า นายฟาเดล เคยมีเรื่องกับใครหรือไม่ ซึ่งมารดาของนายฟาเดลยืนยันว่า นายฟาเดลไม่เคยมีเรื่องกับใคร ลูกชายเป็นคนเงียบ เรียบร้อย

มารดาของนายฟาเดล เปิดเผยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา กลุ่มด้วยใจถึงข้อเท็จจริงในช่วงเวลาก่อนที่นายฟาเดลจะหายตัวไปด้วยว่า หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ฟาเดลจะหายตัวไป มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยหนึ่งในพื้นที่เชิญให้ไปเข้าค่ายที่กรุงเทพฯ โดยมารดาไม่รู้ว่าเป็นค่ายใดที่กรุงเทพฯ และไปทำอะไร แต่เมื่อมีการเชิญตัวไป ฟาเดลก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยนายฟาเดลกล่าวถึงชื่อของนายทหารรายหนี่งในพื้นที่ ที่เชิญนายฟาเดลไป

มารดาฟาเดลกล่าวว่าจำได้ว่า หลังจากนั้น หนึ่งสัปดาห์ ฟาเดลกลับมาบ้านในคืนวันเสาร์ วันต่อมาคือวันอาทิตย์ เวลาประมาณบ่ายโมง มารดาฟาเดลจำได้เพียงว่าวันนั้นบุตรชาย สวมกางเกงสีดำ เสื้อสีขาว ฟาเดลเดินออกจากบ้านไปตามปกติเป็นกิจวัตรประจำวัน ก่อนจะถูกนำตัวไป โดยในช่วงนั้น มารดาไม่เห็นเหตุการณ์ แต่มีเพื่อนบ้านผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าให้ฟังว่า มีคนขับรถมาจอด และมีผู้ชาย 3 คน มานำตัวฟาเดล ขึ้นรถไป ฟาเดลพยายามขัดขืนแต่ก็ไม่สามารถต้านทานกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ โดยในจำนวนนี้ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า คนขับรถสวมเสื้อเกราะด้วย

มารดานายฟาเดลกล่าวทั้งน้ำตาว่า ทุกวันนี้ทุกข์ และท้อใจอย่างยิ่ง จิตใจเหนื่อยล้า ไม่คิดจะสู้หรือทวงถามถึงความเป็นธรรมทางคดีใดๆ สิ่งเดียวที่ต้องการคือต้องการให้บุตรชายกลับมาบ้าน แม้นับจากวันที่ฟาเดลหายตัวไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 จนถึงวันนี้เวลาจะผ่านไปถึง 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังหวังว่าสักวันบุตรชายจะต้องกลับมา

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 11 พค. ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องนายฟาเดลต่อ คณะทำงานว่าด้วยเรื่องคนหาย องค์การสหประชาชาติ ผ่านทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน ถนน ราชดำเนินนอก เพื่อให้ทางยูเอ็นผลักดันให้ทางการไทยสืบสวนสอบสวนคดีนี้อย่างจริงจัง การหายตัวไปเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2559

*หมายเหตุ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม: เรื่องราวการอุ้มหายนายฟาเดล เสาะหมาน คืออีกหนึ่งข้อเท็จจริงจากพื้นที่ชายแดนใต้ที่การบังคับให้บุคคลสูญหายยังคงเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ โดยที่ครอบครัวของผู้สูญหาย ไร้หนทางและช่องทางใดๆ ในการติดตามทวงถามถึงความเป็นธรรมที่พวกเขาควรได้รับ ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เคยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ดำเนินการในกรณีการหายตัวไปของฟาเดล ดังข้อเรียกร้องต่อไปนี้

1. ขอให้ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวน คดีอาญาทั้งปวงต้องดำเนินการให้มีตรวจสอบอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนใน กรณีนายฟาเดล เสาะหมาน เพื่อคลี่คลายคดีร้องเรียนดังกล่าว และสืบสวนสอบสวนจนทราบชะตากรรมโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่

เนื่องจากมาตรการที่จริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเรื่องร้องเรียนจะเป็น มาตรการที่ป้องปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายรายต่อๆไป การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญกรรมที่ร้ายแรงที่สุดจึงต้องมีการสืบสวนสอบ สวนอย่างคดีอาญาสำคัญโดยพลัน อย่างจริงจัง อิสระ เป็นมืออาชีพ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าทางคดีต่อญาติอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ

2. ขอให้รัฐบาล และกระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการ ตรากฎหมายคือ พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญ หายให้สอดคล้องกับหลักการสากล โดยกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา และให้สัตยาบันใน อนุสัญญาการคุ้มครองบุคคลไม่ให้มีการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติโดย ไม่ชักช้า เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศโดยเร็วตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับ ประชาคมระหว่างประเทศ และในระหว่างการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนต่อองค์การสหประชาชาติ