[:th]CrCF Logo[:]

เวทีวิชาการ 2 ปี บิลลี่: อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ

Share

กำหนดการ เวทีเสวนาวิชาการ 2 ปีบิลลี่ : อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ วันที่ 10 พฤษภาคม2559 เวลา 13.00 -17.00 น. ณ. ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12.00– 13.00 น. ลงทะเบียน
13.00– 13.30 น. เสียงจากพื้นที่: จากบิลลี่ ถึง เด่น คำแหล่ ผู้ซึ่งอาจถูกบังคับสูญหายรายล่าสุด โดย คุณพิณภา พฤกษาพรรณ* และตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน
13.30 – 15.30 น. ทบทวน และวิเคราะห์สถานการณ์การบังคับสูญหายและการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อ นำการแลกเปลี่ยนโดย
– อุ้มคนโดยพลการ อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
– อุ้มหายบิลลี่ อุ้มหายความยุติธรรม โดย คุณวราภรณ์ อุทัยรังสี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
– อุ้มหายกฎหมาย อุ้มหายความรับผิดชอบ โดย คุณไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนโดยองค์กรต่างๆ และผู้เข้าร่วม

15.30 – 16.30 น. ออกจากวังวนการอุ้มหาย: ว่าด้วยเสนอแนะต่อการป้องกันการบังคับสูญหายและการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อ นำการแลกเปลี่ยนโดย คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอโดยผู้เข้าร่วม

16.30 – 17.00 น. แถลงการณ์ข้อเรียกร้องขององค์ภาคประชาสังคมต่อกรณีบิลลี่และคนอื่นๆ และต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ. …

เวทีเสวนาวิชาการ 2 ปีบิลลี่: อุ้มหายคน อุ้มหายความยุติธรรม อุ้มหายสิทธิเสรีภาพ วันที่ 10 พฤษภาคม2559 เวลา 13.00 -17.00 น. ณ. ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการ และเหตุผล

ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีแกนนำชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคาม ถูกสังหารหรือแม้แต่ถูกบังคับให้หายสาบสูญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยนั้น จากสถิติที่มีการรวบรวมจากการร้องเรียนโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี โดยใน 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ด้วย[1]และกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 นายฟาเดล เสาะหมาน อดีตผู้ต้องขังถูกที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คนใช้กำลังบังคับเอาตัวและหายสาบสูญไป จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีทราบชะตากรรม[2]

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้หายสาบสูญส่วนใหญ่คือผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ หรือแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender)และการบังคับสูญหายจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หากรัฐมีนโยบายในด้านความมั่นคงหรือการปราบปรามอย่างหนัก อาทินโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย และนโยบายสงครามยาเสพติด ในปี 2546[3]และปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร ได้มีการประกาศใช้นโยบายบางประการที่ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิและการคุกคามอย่างกว้างขวางต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าก็คือ “ปฏิบัติการทวงคือผืนป่า” ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะหนักหน่วงขึ้น ประกอบกับภายใต้รัฐบาลทหาร คสช. ได้มีการออกคำสั่งที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ[4] และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ[5]โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2559 ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน7 วัน และมีการควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับ บุคคลทั่วไปหรือแม้กระทั่งญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ ทำให้บุคคลอยู่นอกความคุ้มครองของกฎหมาย[6]สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการบังคับให้หายสาบสูญเพิ่มขึ้นไปอีก

การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติมักจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายคดีและสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมได้รวมทั้งไม่สามารถสืบสวนเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายได้  ทั้งนี้  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าหายังขาดความอิสระและมีประสิทธิภาพ ระบบการเยียวยาเหยื่อและการคุ้มครองพยานก็ยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิผล[7]

แม้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งข้อกล่าวอ้างที่มักได้ยินจากฝ่ายรัฐคือ ต้องการที่จะตรากฎหมายขึ้นมารองรับอนุสัญญาดังกล่าวเสียก่อน และแม้จะมีการยกร่างกฎหมายแล้ว โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในชื่อของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ. … แต่ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาเลย

ดังนั้น เนื่องในโอกาสการครบรอบ 2 ปีที่บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวบางกลอยได้หายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้เมื่อ 17 เมษายน 2557ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบชะตากรรม แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามใช้กลไกทางกฎหมายเท่าที่มีอยู่และสามารถใช้การได้เพื่อดำเนินการให้มีการสืบหาตัวบิลลี่และนำผู้กระทำผิดมารับโทษ แต่การดำเนินการเหล่านั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีได้มากนักส่วนการใช้ช่องทางตุลาการในการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ปัจจุบันกระบวนการนี้ก็สิ้นสุดลงแล้ว โดยทุกชั้นศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์และฎีกา ต่างก็มีคำพิพากษายกคำร้องดังกล่าว ทั้งนี้ ความไม่คืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ดังกล่าวและการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำในอดีตที่ผ่านมาประกอบกับปัจจุบันภายใต้รัฐบาลทหารมีการดำเนินนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายลักษณะพิเศษ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการบังคับให้บุคคลสูญหาย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงได้กำหนดจัดเวทีแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน และจัดทำข้อเสนอของภาคประชาสังคมต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ. … ตลอดจนร่วมผลักดันให้มีการออกกฎหมายดังกล่าวโดยเร่งด่วนเพื่อที่จะยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและผลักดันกลไกในการป้องกันการบังคับสูญหายและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อถอดบทเรียนและวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันในมิติของการปกป้องคุ้มครองและการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อจากการถูกบังคับสูญหาย
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะต่อการปกป้องคุ้มครองและการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อจากการถูกบังคับสูญหาย
  3. เพื่อสร้างพื้นที่ร่วมขององค์กรที่เกี่ยวข้องในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ. ….เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว

ผู้เข้าร่วม ประมาณ 30 คน ประกอบด้วย

  1. องค์กรและเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นการบังคับให้หายสาบสูญ
  2. นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
  4. สื่อมวลชน
  5. ประชาชนที่สนใจ

องค์กรร่วมจัด:

  1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

          [1] Human Rights Council, Report of the Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances, A/HRC/30/38, 10August 2015,P.29

          [2]ใบแจ้งข่าว กรณีการถูกอุ้มตัวและบังคับให้สูญหายของนายฟาเดล เสาะหมาน, http://th.macmuslim.com/?p=1070

          [3]โปรดดู การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดนมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ,2555

[4]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 15 ง วันที่ 20 มกราคม 2559

[5]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 74 ง วันที่ 29 มีนาคม 2559

[6]โปรดดู รายงาน  1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติจัดทำโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เมื่อ 1 เมษายน 2559

[7]โปรดดู การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดนมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ,2555 และข้อสังเกตส่งท้ายสำหรับรายงานฉบับแรกของประเทศไทยโดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (CAT/C/THA/1) ในการประชุมครั้งที่   1214 และ 1217 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 (CAT/C/SR.1214 และ 1217)[:]

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [32.10 KB]