ปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราว: มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน
สมชาย หอมลออ เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
นำเสนอ เวทีเสวนาเรื่อง การปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราว
จัดโดยสถาบันวิจัยระพีพัฒน์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559
หลักการด้านสิทธิมนุษยชน ถือว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระ เสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ...” และ “ ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตน” (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ข้อที่ 1 และข้อที่ 3 ) หลักการพื้นฐานดังกล่าวได้ นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ ที่สำคัญคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยกำหนดไว้ในข้อที่ 9 (3) ที่กำหนดว่า
“มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลผู้อยู่ระหว่างพิจารณาคดี หากแต่ควรจะปล่อยชั่วคราวโดยอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และมาปรากฎตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้นก็ได้”
(คำว่า “ระหว่างพิจารณาคดี” หมายรวมถึงการควบคุมผู้ต้องหาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งในชั้นก่อนฟ้องคดี และหลังฟ้องคดี)
เช่นเดียวกับ หลักการสหประชาติเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังหรือจำคุก 1988 (Body Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment 1988) ข้อ 38 ที่ว่า
“ผู้ถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดีอาญาพึงมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว”
หลักการสากลดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติในหลายมาตราที่ได้กำหนดแนวทางการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้หลายประการ รวมทั้งเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว โดยยึดถือหลักการสากลและยังได้กำหนดรายละเอียดเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปกฎหมายระดับรอง เช่น ในมาตรา 40 (7)ที่กำหนดว่า
“ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว”
และมาตรา 239 ที่กำหนดว่า
“คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินสมควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมาย และต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบโดยเร็ว”
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ดังกล่าว เป็นการเน้นย้ำว่า การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิของผู้ต้องหา/จำเลย จึงต้องถือเป็นหลัก ส่วนการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการจำกัดสิทธิ จึงต้องถือเป็นข้อยกเว้น ส่งผลให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ แม้ว่าต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จะได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหารของกองทัพในปี 2549 แต่หลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ยังคงอยู่ในประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา
เมื่อพิจารณาประกอบกับหลักการสำคัญในเรื่อง การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ที่ว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลที่เป็นอิสระ และโดยการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิด
ดังนั้น การควบคุมตัวบุคคลโดยเฉพาะผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา จึงต้องทำเฉพาะในกรณีทีมีเหตุผลและมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหา/จำเลยขัดขวางหรือสร้างอุปสรรคหรือขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และมีตัวอยู่ในกระบวนการสอบสวน การพิจารณาคดีของศาลและการบังคับโทษ การควบคุมตัวผู้ต้องหา/จำเลยไว้โดยเหตุผลทีต่างไปจากหลักการดังกล่าวข้างต้น อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม
อ่านต่อในบทความฉบับเต็มที่ บทความ การปล่อยตัวชั่วคราว จากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน _โดย สมชาย หอมลออ-เผยแพร่2