[:th]
12-04-2016_บันทึกการทำงานกลุ่มด้วยใจกรณีส่งเสริมสิทธิของผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง
บันทึกกลุ่มด้วยใจ
วันที่ 12 เมษายน 2559
บันทึกโดย อัญชนา หีมมิหน๊ะ
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 กลุ่มด้วยใจได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวกรณีเหตุการณ์โรงพยาบาลเจาะไอร้องและกลุ่มด้วยใจได้พบกับผู้ถูกเชิญตัวที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ทางกลุ่มด้วยใจก็ตอบตกลงในทันทีเพราะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่เจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้ถูกเชิญตัวที่มีความทุกข์ ความห่วงกังวล กับการพลัดพรากจากผู้นำครอบครัว หรือ ลูกๆ ได้พบทั้งผู้ถูกเชิญตัวและเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้อำนาจ หน้าที่และกฎหมาย และเป็นความก้าวหน้าในการสร้างกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เกิดเป็นมาตรฐานและยอมรับได้ อันจะนำไปสู่ การสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐในที่สุด
ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2559 กลุ่มด้วยใจได้พบกับครอบครัวผู้ที่ถูกเชิญตัวจำนวนหนึ่งมาพูดคุยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัวของพวกเขา หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ทางกลุ่มด้วยใจจึงได้ไปเก็บข้อมูลและให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาที่พวกเขาเจอ คือ การบังคับใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน กฎหมายอาญา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนและสอบถามทำให้ทราบว่ามีผู้ที่ถูกควบคุมจากการให้ข้อมูลของชาวบ้านที่มาในวันนั้นจำนวน 23 คน
- การควบคุมตัวมีบางครอบครัวที่ถูกควบคุมเป็นพี่น้องกัน มี 3 คน 1 ครอบครัว และ 2 คนมี 1 ครอบครัว เป็น น้าและ หลาน 1 ครอบครัว
- บางกรณีถูกเคยถูกควบคุมตัวมาแล้ว 4 ครั้ง 3 ครั้ง ลดหลั่นกันมา
- สถานที่ที่ควบคุมตัวมีที่เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี และ ศชต จังหวัดยะลา
และมีประเด็นที่ครอบครัวกังวลใจ คือ
- การแจ้งสถานที่ควบคุมตัว และ การเคลื่อนย้าย ผู้ถูกเชิญตัว บางกรณีมีการแจ้งให้ครอบครัวทราบ บางกรณีไม่ได้แจ้งให้ครอบครัวทราบ
- บางกรณีเมื่อไปเยี่ยมสามีพบว่าเขามีอาการมือสั่น
- บางกรณีบอกว่า ถูกอยู่ในห้องที่มืด
- บางกรณีอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 ชั่วโมง
- บางกรณีเพิ่งจะไปเยี่ยมและพบว่า สามีไม่มีแรงที่จะเดินหรือยืนเลย
- บางกรณีได้พบหรือเยี่ยมเจ้าหน้าที่บอกว่าได้แค่สลาม และบอกว่ากำลังสอบสวนอยู่
- บางกรณีบอกว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาในบ้านและวางกระสุนปืนในบ้านตอนที่เข้ามาตรวจค้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้ามา 5 คน แต่ให้เจ้าบ้านพาตรวจแค่คนเดียวทำให้พวกเขาเกิดความกลัวถึงความโปร่งใสในการทำงาน
- เวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นในบ้านที่มีเด็กและผู้หญิง มีการจี้ปืนไปที่ศีรษะของผู้หญิงที่นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น หรือจี้ปืนตามหลังเขา
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 กลุ่มด้วยใจจึงได้เชิญครอบครัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวน 28 ครอบครัว มาพูดคุยและยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อห่วงกังวลที่ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวได้รับทราบ และพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงความสภาพปัญหาที่ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวเผชิญหลังผู้นำครอบครัวถูกควบคุมตัว จึงได้รับทราบถึงข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
- การเซ็นเอกสารโดยที่ไม่ได้อ่านหรือตรวจทานเพราะ เจ้าหน้าที่บอกให้เซ็นแล้วจะได้รับการปล่อยตัว
- บางกรณีเจ้าหน้าที่ที่เขาตันหยงได้บอกภรรยาผู้ที่ถูกควบคุมตัวว่า 3 วันนี้ไม่ต้องมาเยี่ยมเพราะเขาจะดำเนินการสอบสวน
วัตถุประสงค์ที่ทางกลุ่มด้วยใจได้พบปะ พูดคุย กับ ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัว ก็เพื่อ สร้างความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจำแนกแยกแยะถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมาย และ เพื่อ ให้ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวได้มีกำลังใจ พลังใจ ในการเผชิญกับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเข้าใจและไม่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่ขับเคลื่อนความรุนแรงให้คงอยู่
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 13:30 น กลุ่มด้วยใจจึงเดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้พบกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ติดต่อมา และได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการเยี่ยมญาติ ซึ่งสถานที่ที่ให้ครอบครัวได้พบกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวนับได้ว่ามีการพัฒนาไปในทางที่ดีมาก มีห้องน้ำที่เพียงพอ มีสถานที่ละหมาดแยก ชายหญิง และมีห้องเยี่ยมญาติที่ทางญาติและครอบครัวได้พบกันอย่างเป็นส่วนตัว ที่นี้เราได้พบกับผู้ต้องที่ถูกเชิญตัวด้วยกรณีเจาะไอร้องพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเขามีความเป็นอยู่ที่ดี แต่อยากกลับบ้านเพราะเป็นห่วงภรรยาและลูกที่ยังไม่ถึง 1 ขวบ หลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปในอาคารที่เรียกว่าห้องมหาราชซึ่งอยู่ด้านในสุด และได้พบกับผู้ที่ถูกเชิญตัวและครอบครัวจำนวน 7 คน เพราะบางคนได้ถูกส่งตัวไปยัง ศชต บางคนยังอยู่ที่เขาตันหยง และบางคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว ซึ่งในโอกาสนี้เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงถึง
- ความจำเป็นในการควบคุมตัว
- และขั้นตอนในการเยี่ยมญาติให้กับกลุ่มด้วยใจและญาติได้รับทราบ
และในประเด็นนี้ ทางเจ้าหน้าที่และผู้ที่ถูกเชิญตัวได้ร่วมกันชี้แจงถึงข้อกังวลใจที่ในประเด็นการเยี่ยมญาติคือ
- กรณีที่ญาติไม่ทราบถึงการย้ายตัวไปของผู้ที่ถูกเชิญตัวอาจมีสาเหตุมาจาก เบอร์โทรศัพท์ที่ญาติได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้
- เวลาในการเยี่ยมซึ่งยังมีกรณีที่ครอบครัวได้แค่สลามจริงแต่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากนั้นก็ได้รับความสะดวกสบายในการเยี่ยมญาติ
- สำหรับกรณีที่ควบคุมตัวที่เขาตันหยงและเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ต้องมาเยี่ยม 3 วัน นั้น ทางกลุ่มด้วยใจจะแจ้งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบและทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
- ในกรณีที่บอกว่า ถูกอยู่ในห้องที่มืด นั้น ในจำนวนที่ได้พูดคุยทุกคนปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ในห้องมืด
- และในกรณีอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 ชั่วโมงนั้นผู้ที่ถูกเชิญตัวที่มาในวันนี้ก็ได้ปฏิเสธเช่นเดียวกันว่าไม่มี
- สำหรับกรณีที่พบว่าสามีไม่มีแรงที่จะเดินหรือยืนเลยนั้นเนื่องจากบางคนที่ถูกเชิญตัวเป็นโรคแขนขาอ่อนแรงจึงทำให้ไม่มีแรงแต่ก็สามารถมาพบปะกับญาติได้ทุกวัน
- ในกรณีที่บอกว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาในบ้านและวางกระสุนปืนในบ้านตอนที่เข้ามาตรวจค้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้ามา 5 คน แต่ให้เจ้าบ้านพาตรวจแค่คนเดียวทำให้พวกเขาเกิดความกลัวถึงความโปร่งใสในการทำงานนั้นทางกลุ่มด้วยใจจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบอีกครั้งว่าเกิดขึ้นกับกรณีไหนและจะมีการตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อไป
- เวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นในบ้านที่มีเด็กและผู้หญิง เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น หรือจี้ปืนตามหลังเจ้าบ้าน ในกรณีนี้ผู้ที่ถูกเชิญตัวที่พบในวันนี้ได้เล่าว่าในวันนั้น เขานอนอยู่ในบ้านกับน้องๆซึ่งเป็นเด็กๆหลายคน เพราะแม่ไปทำงานที่มาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงได้ให้น้องๆออกไปนอกบ้านและใช้ปืนจี้ที่หลังของเขาผ่านโล่ในมือเจ้าหน้าที่เพื่อค้นบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อธิบายถึงความจำเป็นในปฏิบัติการเพื่อป้องกันความสูญเสียของเจ้าหน้าที่และทางเจ้าหน้าที่ก็ได้กล่าวขอโทษต่อครอบครัวของเขาที่ปฏิบัติการได้สร้างความตกใจให้กับเด็กๆ ในบ้าน
นอกจากนี้ทางครอบครัวผู้ที่ถูกเชิญตัวก็ได้แสดงออกถึงความรู้สึกและได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ได้จัดกิจกรรมในวันนี้อีกทั้งได้จัดรถเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเป็นความน่ายินดีอีกประการเมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทราบว่าในวันนี้จะมีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกเชิญตัวจำนวน 7 คน
ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงข้อมูลเรื่องกรณีทรมานจำนวน 54 รายที่ปรากฏในรายงานร่วมของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ปาตานี เพื่อนำไปตรวจสอบ และทางกลุ่มด้วยใจก็จะได้นำไปเสนอต่อองค์กรร่วมจัดทำรายงานต่อไป ซึ่งจากกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานได้มีข้อเสนอร่วมกันดังนี้
- ทางองค์กรร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้จะดำเนินการในการสนับสนุนการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆที่ปรากฏในรายงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลและความยินยอมของผู้ให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและองค์กรร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์ฯ จะดำเนินการกำหนดมาตรการและกลไกการร้องเรียนและการป้องกันการกระทำทรมานในระดับพื้นที่ต่อไป
นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมากสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ในการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ( Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT ) อนุสัญญานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำการสองประการที่ต้องห้ามเด็ดขาด ไม่ว่าในสถานการณ์หรือข้ออ้างใดๆ ไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการ รวมทั้งละเว้นกระทำการ ยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งรัฐภาคีของอนุสัญญามีพันธะกรณีจะต้องปฏิบัติ โดยการจัดให้มีและใช้มาตรการต่างๆทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำดังกล่าวกับทั้งต้องชดใช้เยียวยาด้วยวิธีการต่างๆ แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการลงโทษเจ้าพนักงานที่กระทำผิด สำหรับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 โดยอนุสัญญามีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา มีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา และจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยเสนอต่อคณะกรรมการการต่อต้านการทรมาน (UN Committee Against Torture) โดยรายงานฉบับแรกให้เสนอภายในหนึ่งปีหลังจากอนุสัญญามีผลใช้บังคับ และทุกๆสี่ปีหลังจากนั้น“
กลุ่มด้วยใจขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่ทหารที่อำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวและผู้ที่ถูกเชิญตัวได้พบปะกัน เพื่อลดความกังวลใจและสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การสร้างกลไกในการตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน และ การสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการยุติการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป[:]