[:th]CrCF Logo[:]

กรณีเหตุการณ์ระเบิดที่สถานีรถไฟจะนะในวันที่ 11 เมษายน 2559 ขอให้ทุกฝ่ายให้การปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้บริสุทธิ์ ใน จังหวัดชายแดนใต้

Share

 

25580221-114445.jpg

11-04-2016_แถลงการณ์ระเบิดเด็กเสียชีวิตเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟจะนะ

แถลงการณ์ กลุ่มด้วยใจ และ Children Voice for Peace Project

กรณีเหตุการณ์ระเบิดที่สถานีรถไฟจะนะ ในวันที่ 11 เมษายน  2559

ขอให้ทุกฝ่ายให้การปกป้องและคุ้มครองเด็กและผู้บริสุทธิ์ ใน จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่วันที่ 11 เมษายน 2559

เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความรุนแรงของระเบิดในวันที่ 11 เมษายน 2559 เวลา  17.30 น.ที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ใกล้กับสวนสาธารณะ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.จะนะ เสียชีวิต 1 นาย และเด็กชายอายุ 4 ปีถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต 1 ราย    ประชาชนได้รับบาดเจ็บ  5 ราย รวมทั้งมีเด็กหญิงได้รับบาดเจ็บ 2 ราย รวมในเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ  8  ราย  ทางกลุ่มด้วยใจขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

ตลอดระยะเวลา 12 ปีของความรุนแรงมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเสียชีวิต 85 ราย กลุ่มด้วยใจขอประณามการใช้ความรุนแรงโดยระเบิดจากทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะจนส่งผลให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเสียชีวิตและบาดเจ็บ  ทั้งนี้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ  นอกจากที่รัฐบาลต้องปราบปรามการก่อความไม่สงบภายใต้กฎหมายไทยแล้วรัฐบาลยังต้องดำเนินการทั้งมาตรการทางกฎหมายและในทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการสากลที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีที่สำคัญต่อเด็กอันได้แก่

  • อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ข้อ 3  (2) รัฐภาคีรับที่จะประกันให้มีการคุ้มครองและการดูแลแก่เด็กเท่าที่จำเป็นสำหรับความอยู่ดีของเด็กโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นที่รับผิดชอบเด็กนั้นตามกฎหมายด้วย และเพื่อการนี้จะดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติและบริหารที่เหมาะสมทั้งปวง

ข้อ 6  (1) รัฐภาคียอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต (2) รัฐภาคีจะประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ให้มีการอยู่รอดและการพัฒนาของเด็ก

ข้อ 38  รัฐบาลต้องคุ้มครองประชาชนพลเรือนและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการพิพาทกันด้วยอาวุธ

อีกทั้งประเทศไทยได้รับรองให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ที่ส่งผลให้รัฐต้องสร้างมาตรการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งไปกว่านั้นในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งรัฐและคู่ขัดแย้งที่ใช้อาวุธหรือผู้ที่ต่อสู้นั้นจะต้องให้การเคารพสิทธิมนุษยชนตามกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครพึงปรารถนาแต่ก็มีการกล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการกระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตน แต่การกระทำที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อชีวิตเด็ก 4 ขวบ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรับได้ กลุ่มด้วยใจขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ  และขอเรียกร้องในประเด็นต่อไปนี้คือ

  1. ขอให้ผู้ใช้ความรุนแรงยุติการใช้ระเบิดและความรุนแรงทุกรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติในพื้นที่สาธารณะ
  2. ขอเรียกร้องให้รัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยต่ออนุสัญญาสิทธิเด็กกำหนดนโยบายคุ้มครองเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งทางอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง

2.1     จำเป็นต้องมีการบันทึกมาตรการคุ้มครองเด็กและเผยแพร่ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้สาธารณชนได้ทราบ มีการสื่อสารให้บุคลากรทุกฝ่ายได้ถือปฏิบัติ

2.2      จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมทบทวนและพัฒนาให้นโยบายดังกล่าวเป็นปัจจุบันอยู่เป็นระยะ      จนสามารถเป็นแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและประสิทธิภาพในมาตรฐานการคุ้มครองเด็ก รวมทั้งเป็นการคุ้มครองป้องกันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อันเกิดจากการมีหลักประกันในมาตรฐานการทำงานที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันว่าเด็กจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากหน่วยงานทุกหน่วยโดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง

  1. ขอให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ประกาศต่อสาธารณะชนว่าจะเคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการป้องกันผลกระทบมิให้เกิดผลกระทบต่อพลเรือนโดยเฉพาะเด็กจะต้องได้รับการคุ้มครอง
  2. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมาย โดยเฉพาะการเคารพต่อหลักการห้ามทรมานโดยเด็ดขาดและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

 

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม อัญชนา หีมมิน๊ะห์ 081-8098609

TAG

RELATED ARTICLES