[:th]CrCF Logo[:]

ความไม่เป็นธรรมที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ. ภูพาน จ.สกลนคร ไล่ตัดยางชาวบ้านเพิ่ม ชาวบ้านถูกจับกุมข้อหาบุกรุกระลอกที่สอง

Share

 

ความไม่เป็นธรรมที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ. ภูพาน จ.สกลนคร

ไล่ตัดยางชาวบ้านเพิ่ม ชาวบ้านถูกจับกุมข้อหาบุกรุกระลอกที่สอง

โดย : ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

944007_1063471420366396_6690332269123762014_n.jpg

ภาพ : นายทองอินทร์ มาตราช

 

วิบากกรรมของชาวบ้านจัดระเบียบระลอกที่สองเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559  โดยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารของกอรมน.ได้โค่นยางของชาวบ้าน 93 ไร่  อีกทั้งในวันที่ 7 เมษายน ได้มีการจับกุมนายเก่ง มาตราช อายุ 36 ปีบุตรของนายทองอินทร์ มาตราชในข้อหาบุกรุก

เมื่อวันที่ 11  เมษายน 2559 นักกิจกรรมในพื้นที่ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศหน้าศาลสกลนครหลังจากทราบว่าศาลไม่ให้ประกันตัวนายเก่ง มาตราช ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบที่ถูกจับกุมคดีป่าไม้ที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ญาติยื่นเป็นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวเป็นที่ดินตาบอด โดยผู้ที่ไปรอรับมีทั้งผู้เป็นพ่อ ภรรยา ลูกชาย และเพื่อนบ้าน แต่ผิดหวังเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลอ้างความเห็นของตนเองว่าที่ตาบอดมีมูลค่าไม่ถึงหลักทรัพย์ 100,000 บาทที่ทางศาลกำหนดไว้   ข้อมูลจากนักกิจกรรมในพื้นที่ระบุว่า “นายเก่ง มาตราช อายุ 36 ปี ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เขาก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านที่เส้นทางชีวิตต้องออกเดินทางไปรับจ้างตัดยางที่ภาคใต้ ระหว่างรบจ้างตัดยาง เขาก็ได้พบรักและแต่งงานกับสาวสุราษฎร์ฯ และปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน คนโต อายุ 12 ปี คนเล็ก 10 ปี  ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านจัดระเบียบถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนบุกรุกป่า นำไปสู่การยึดพื้นที่สวนยางที่ชาวบ้านสะสมจากเงินที่เดินทางไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้  และการจับกุมชาวบ้าน 34 รายดำเนินคดีเมื่อปี 2557”

12705368_10156555510655442_523797205025240742_n

หนึ่งในครอบครัวชาวบ้าน 34 รายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส คือครอบครัวมาตราช  นายทองอินทร์ มาตราชอายุ 61 ปี  และนายวิทยา มาตราช อายุ 25 ปีบุตรชายทั้งสองคนเคยถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2557  นายทองอินทร์ฯ ตัดสินใจสารภาพแม้จะไม่เข้าใจและสงสัยเหตุที่ป่าไม้แจ้งความว่าชาวบ้านบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติภูพาน ทั้งที่ชาวบ้านทำกินมานานแล้ว ขณะที่นายทุนตัวจริงบุกรุกป่าทำสวนยางกว่า 2,000 ไร่ ที่ไม่ห่างจากบ้านจัดระเบียบกลับลอยนวล

นายทองอินทร์หัวหน้าครอบครัวมีพื้นเพที่วาริชภูมิ จ.สกลนคร ที่ดินดังกล่าวนายทองอินทร์ได้ซื้อจากชาวบ้านบ้านกกโด่ ปี 2549 และได้แบ่งให้นายวิทยาจำนวน 18 ไร่ ขณะอายุ 17 ปีตอนรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้ ต่อมา นายวิทยาได้กลับจากภาคใต้เมื่อปี 2553 มีรายได้จากการทำสวนยางพาราบนที่ดินดังกล่าวเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท  เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557  เจ้าหน้าที่ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมกว่า 100 คนพร้อมด้วยรถยนต์กว่า 18 คัน เข้าตรวจค้นและมีการยึดรถจักรยานยนต์ ไข่ไก่และของกินบางส่วนไป แม้แต่นมของเด็กทารกไป  นับแต่นั้นจากเศรษฐีสวนยางมีรถยนต์ขับจึงต้องย้ายมาเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านด้วยอัตราค่าเช่า 700 บาทต่อเดือน ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ของตนเอง  และมีการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบติดอาวุธให้ย้ายทรัพย์สินลงมาทั้งหมด  ตลอดระยะเวลานับแต่โดยตั้งข้อหาดำเนินคดีนายทองอินทร์ มีอาการกังวล นอนไม่หลับและรถยนต์ที่ซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากสวนยางที่ต้องการฝากผีฝากไข้ด้วยก็ถูกยึดไปด้วย  วิบากกรรมรอบที่สองนี้ตอกย้ำถึงความเป็นธรรมต่อชาวบ้านจัดระเบียบที่ต้องการการแก้ไขและเยียวยา

ประวัติบ้านจัดระเบียบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูลกรณีที่ดินพิพาทที่บ้านจัดระเบียบในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2558 โดยได้สอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมต่อชาวบ้านกรณีที่ดินป่าไม้  พบข้อมูลเบื้องต้นว่าชาวบ้านหมู่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร เข้ามาอยู่อาศัยทำกินตั้งแต่สมัยปี 2518 เรื่อยมา จนตั้งหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2522 แม้ว่ารัฐบาลได้มีการออกกฎกระทรวงตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนประกาศ เขตป่าสงวนดงชมภูพาน-ดงกระเชอ เมื่อ22 พฤศจิกายน 2530  และชาวบ้านก็อยู่อาศัยทำกินเรื่อยมา

แต่เมื่อมีการบังคับใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557และคำสั่ง 66/2557 ที่เกี่ยวกับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่า ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ และการประกาศใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2558  เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะแก้ไขปัญหาการยึดถือครองที่ดิน   ทั้งนี้ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

ระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 – พฤศจิกายน 2558 ชาวบ้านถูกฟ้องเป็นคดีในพื้นที่พิพาทกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย 31 คดี ในจำนวนนี้ 5 รายให้การรับสารภาพและศาลตัดสินให้จำคุกสี่ปีลดโทษเหลือสองปีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2557  เป็นรายแรก ชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีส่วนมากไม่ได้เป็นผู้ครอบครองส่วนแรก แต่เป็นการซื้อมาจากผู้ครอบครองเเรกหรือมีการเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้ง  อย่างไรก็ดีปัญหาข้อพิพาทลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาที่ทำกิน และได้มีการอนุโลมให้อยู่ต่อเรื่อยมา และอนุญาตให้ชาวบ้านได้ทำกินมีการปลูกต้นยางและมันสัมปะหลังจนเต็มพื้นที่ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก

 

การดำเนินคดีข้อหาบุกรุกชาวบ้านบ้านจัดระเบียบรอบแรก

20152210014454

ภาพ:  ศรายุทธ ฤทธิพิณ

ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อเดือน 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ที่โรงเรียนน้ำพุงจัดระเบียบ ต. หลุบเลา อ.ภูพาน จังหวัดสกลนครชาวบ้านได้รับการติดต่อประชาสัมพันธ์จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าจะมีการจัดทำแบ่งแยกที่ดินให้เป็นจัดส่วนโดยการรังวัดและให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแก่ชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านยื่นหลักฐานและแจ้งว่าได้ทำกินในพื้นที่พิพาทดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ดำเนินรวบรวมเอกสาร ให้ลงลายมือชื่อ และต่อมาเมื่อวันที่  26 กรกฎาคม 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ชาวบ้านไปชี้ที่ดินของตนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไปยืนแปลง โดยมีชาวบ้านจัดระเบียบจำนวนประมาณ  30 รายได้เข้าไปดำเนินการ แล้วต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ได้ดำเนินการติดประกาศห้ามเข้าแล้วก็มีแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีการฟ้องคดีดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

 

โดยทางศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (The center for Development and Education on Human Right Lawyers) ศพกส. (CDEHL) ได้ให้ความช่วยเหลือคดีชาวบ้านทั้งหมด คดีป่าไม้ที่ดินของจังหวัดสกลนครในช่วงปี 2557 – 2558 เกือบสองปีเต็ม แม้คดีความของชาวบ้านจัดระเบียบจะสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งเป็นคดีที่ชาวบ้านรับสารภาพจำนวน 4 คดีไปก่อนหน้าที่ทีมทนายความของศูนย์ฯ เพราะไม่ได้รับคำปรึกษาหารือทางกฎหมาย คือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2557  มีชาวบ้านจำนวน 4 รายได้ให้การรับสารภาพ โดยศาลตัดสินให้มีวามผิดในคดีบุกรุกแผ่วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พร้อมกันนั้นทางราชการยังประกาศว่าได้ยึดพื้นที่คืน  ชาวบ้าน 4 รายเป็นชาวบ้านหญิงอายุ 62 ปีและ 58 ปี อีกสองรายเป็นสามีภรรยาอายุ 50 และ 51 ปี ได้ให้การรับสารภาพและศาลตัดสินให้จำคุกสี่ปีลดโทษเหลือสองปี 3 ราย อีก 1 รายตัดสินให้จำคุกสองปีลดเหลือหนึ่งปี

ในขณะนั้นเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นคำสั่งหลังการรัฐประหารชาวบ้านสี่รายสารภาพก็ยังถูกตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญาจึงทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวต่อการต่อสู้คดีและมีแนวโน้มว่าจะรับสารภาพจำนนต่อชะตากรรม ต่อมทางทีมศูนย์ฯเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านบ้านจัดระเบียบ 29 คนทั้งหมดถูกนำตัวส่งฟ้องศาลจังหวัดสกลนครข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้  ศาลจังหวัดสกลนครนัดสมานฉันท์ ชาวบ้านยังคงให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ศาลสกลนครนัดสมานฉันท์ทุกคดีในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 – ตุลาคม  2558 ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มดังกล่าวมีนัดพิจารณาคดีทุกเดือน และพิจารณาคดีเกือบทั้งเดือน

ชาวบ้านนอกจากจะถูกฟ้องคดีบุกรุกป่าสงวนและมีการขับไล่ให้ออกจากพื้นที่แล้ว ยังต้องถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ (คดีโลกร้อน)อีกด้วย โดยคำนวณค่าเสียหายแล้วเฉลี่ยตกไร่ละ 150,000 บาทหากเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และค่าเสียหายลดหลั่นกันออกไป หากคิดคำนวณเป็นเงินแล้วถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของชาวบ้าน

ยังมีความเป็นธรรมอยู่บ้างเมื่อทีมทนายความได้ให้คำแนะนำกับชาวบ้านและช่วยประสานงานกับกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยทางกรมฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีการอนุมัติวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท แต่สามารถประกันได้เพียง 19 ราย เนื่องจากมีที่ดินที่ถูกระบุมาในคำฟ้องไม่เกิน 25 ไร่ ส่วนที่ถูกระบุในคำฟ้องเกิน 25 ไร่ ศาลกำหนดวงประกันคนละ 200,000 บาท จึงยังไม่สามารถประกันตัวได้ เพราะวงเงินอนุมัติมีไม่พอตามจำนวนที่ศาลกำหนด  ต่อมาได้มีการประกันตัวชาวบ้านที่เหลืออีก 10 คน ในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 โดยสามารถหาหลักทรัพย์มาเพิ่มอีกคนละ 100,000 บาท และสามารถประกันตัวได้หมดทุกคน ศาลมีกำหนดนัดพร้อมเพื่อสมานฉันท์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558  สรุปผลคดีทั้งหมด ณ ตุลาคม 2558  ศาลได้พิพากษาแล้ว 30 คดี 28 ราย อีก 1 คดียังอยู่ในการพิจารณาศาลเยาวชนสกลนคร  โดยพิพากษารอการลงโทษ 20 คดี 18 ราย ไม่รอการลงโทษ7 คดี ผู้ต้องหา 7 ราย  และพิพากษายกฟ้อง 3 คดี ผู้ต้องหา 3 ราย

แม้ชาวบ้านได้ดำเนินการร้องขอหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจากกองทุนยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัด แต่ด้วยปริมาณคดีที่มีมากทำให้ได้รับการพิจารณาที่ยากมากยิ่งขึ้น  นับแต่เดือนพฤษภาคม   2557 -ปัจจุบันชาวบ้านบ้านจัดระเบียบมีความยากลำบากในการทำมาหากิน ไม่สามารถเข้าไปกรีดยางได้เพราะความหวาดกลัว หากต้องการใช้เงินตามความจำเป็นก็ต้องหลบไปกรีดยางเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายประจำวันและใช้จ่ายในวันที่ต้องไปขึ้นศาล  ชาวบ้านจะรวบรวมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไปศาลจังหวัดสกลนครด้วยกันทุกนัด แม้คดีทั้งหมดจะจบสิ้นไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2558  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 วิบากกรรมของบ้านจัดระเบียบเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อนายเก่ง มาตราช ถูกจับกุมและดำเนินคดี โดยมีเนื้อหาคดีเหมือนคดีของชาวบ้านจัดระเบียบในครั้งแรก จนดูเหมือนว่าชาวบ้านจัดระเบียบจะยังไม่รอดพ้นจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกนานเท่าใดภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า

 

=============

 

TAG

RELATED ARTICLES