ชะตากรรมยายจันทรากับต้นยางพาราที่ถูกโค่น : หยาดน้ำตาที่บ้านหนองแวง จ.สกลนคร

Share

ชะตากรรมยายจันทรากับต้นยางพาราที่ถูกโค่น : หยาดน้ำตาที่บ้านหนองแวง จ.สกลนคร

โดย : ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

12963674_627785717375026_2309110973848594041_n

ภาพ: จันทร์ โพธิจันทร์

บทนำ เรื่องราวของนางจันทรา บังทอง วัย 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง หมู่ 19 ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ภายหลังจากเมื่อวันที่ 15 พ.ค.58  นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารจากค่ายกฤษณ์สีวะรา บุกเข้าทำลายโค่นตัดฟันต้นยางพาราไปกว่า 2,000 ต้น ในเนื้อที่ 18 ไร่ และเมื่อวันที่  7 เมษายน 2559 ลูกชาย นายสาโรจน์ บังทอง ถูกจับกุมข้อหาบุกรุก ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงิน 100,000บาทเพื่อออกมาสู้คดีบุกรุกที่ดินของบรรพบุรุษ  เรื่องราวนี้เป็นบันทึกการลงพื้นที่ เมื่อปลายปี 2558 ที่อธิบายบริบทความทุกข์ยาก  การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านครอบครัวหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม

คราบน้ำตาของจันทรา

ข้อมือด้านในที่มีร่องรอยจากอุบัติเหตุนับแต่วัยเด็ก ต้องเปรอะเปื้อนคราบน้ำตาอีกครั้งแล้ว ต่างเพียงว่า ‘จันทรา’ ในวัยเด็กน้อย ยังมีแม่คอยปลอบขวัญ ทว่าบัดนี้ น้ำตาของยายจันทราที่ไหลรินลงอาบแก้มในวัย 80 กว่าปี ไม่มีใครหรือสิ่งใดอีกแล้วที่จะช่วยปลอบขวัญยายให้กลับมาเข้มแข็งและลืมเลือนความเจ็บช้ำ เมื่อความฝันที่สร้างมานานปีต้องสูญสลายในพริบตา สวนยางพารา 18 ไร่ที่แผ้วถางด้วยหยาดเหงื่อแรงกายกลับต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐโค่นทิ้งภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เงินที่กู้หนี้ยืมสินจาก ธกส.มาลงทุนลงแรง ยังไร้หนทางจะหามาชดใช้ ไหนจะค่าเล่าเรียนหลานที่ก่อนนี้ยังพอมีรายได้จากการกรีดยางคอยส่งเสีย แต่จากนี้ไป รายได้ในส่วนนี้ของยายจันทรา ไม่มีอีกแล้ว

เมื่อช่วงปลายปี 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ลงพื้นที่บันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ แผนแม่บทป่าไม้ กอ.รมน. ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนำไปปฏิบัติและดำเนินการอย่างเข้มข้น อาทิ ยุทธการขอคืนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร ที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนายสนธิกำลังเข้าปฏิบัติการตัดโค่นยางพาราของยายจันทรา หญิงชราวัย 83 ปี ที่บ้านหนองแวง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร

เบื้องหลังยุทธการดังกล่าวจากข้อเท็จจริงของชาวบ้านในพื้น เต็มไปด้วยร่องรอยความสูญเสียผลกระทบต่อประชาชนที่รัฐควรต้องรับฟัง

12745840_10156555510740442_3135815540047751223_n

12705368_10156555510655442_523797205025240742_n

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน : อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

ในจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากยุทธการทวงคืนผืนป่า มีกรณีของยายจันทราหญิงชราวัย 83 ปี ที่นับว่าได้รับผลกระทบจนชีวิตเดือดร้อนอย่างหนัก กล่าวคือไม่มีเงินส่งเสียค่าเล่าเรียนหลาน ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียนให้หลาน เนื่องจากการกรีดยางพาราเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของยาย อีกทั้งล่าสุด ชะตากรรมของครอบครัวนี้ยังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ลูกชายของยายจันทราถูกจับกุม

ชะตากรรมของยายจันทราจึงนับเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยและทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จ.สกลนคร

ภายหลังยุทธการโค่นยางพาราเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ลงพื้นที่ประชุมหารือที่บ้านของยายจันทราร่วมกับเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร

ข้อมูลจากตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เปิดเผยว่าเดิมทีอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กครอบคลุมพื้นที่ 250,000 ไร่ มีอาณาเขตในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.อุดรธานี และจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครได้รับข้อมูลว่าการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาทำให้ชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ ในปี2552 ซึ่งเดิมทีเคยประกาศเป็นเขตป่าสงวนภูวง ในปี 2529 จากนั้นจึงประกาศเขตอุทยานทับที่ป่าสงวน

GMT1.jpg

ชาวบ้านเคยรวมตัวร้องเรียนต่อผู้ว่าฯ นำมาสู่การชะลอตัดโค่นไล่รื้อ

ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม 2553 ทางเครือข่ายเคยไปขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อให้รับฟังปัญหา มีชาวบ้านไปกันถึง 500 คน ทำให้ผู้ว่าฯ ในตอนนั้นเปิดห้องประชุมเพื่อรับฟังปัญหา และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายไทบ้านฯ โดยคณะทำงนชุดดังกล่าว ประกอบด้วยตัวแทนของขาวบ้านในเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานทางปกครอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

การประชุมร่วมกันในคราวนั้นนำมาสู่การสร้างกลไกการทำงานของชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐกระทั่งถึงปี 2556 ก่อนรัฐประหาร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ได้ประชุมขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีโอกาสได้ประชุมกัน 3 ครั้ง โดยครั้งหลังสุด มติในที่ประชุม ให้คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ร่วมกับฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้นๆ พื่อนำข้อมูลที่ได้ไปร่วมกันแก้ไขปัญหา

การประชุมดังกล่าว นำมาสู่การที่ชาวบ้านได้รับข้อมูลแผนที่เขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

“เราเกิดมาตรงนี้ เราไม่เคยได้รู้ว่าเขาประกาศเขตอุทยานเมื่อไหร่ เราก็ไปสวน ไปไร่ ตามที่เราเคยใช้ชีวิตมาแต่ดั้งเดิม “

เมื่อเห็นแผนที่เราก็เลยรู้ว่าเขามาจับเราเพราะเราอยู่ในเขตป่า ทั้งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เขามาทำการตรวจยึด จับกุม ปัญหาเร่งด่วนนี้เราก็ผลักดันจนนำไปสู่การเจรจา เพราะในตอนนั้นที่มีการประกาศพื้นที่เขตอุทยาน เคยมีคนถูกจับกุม 3 คน ถูกตรวจยึดมากกว่า 20 คน มีการติดป้ายยึด 40 แปลง เราก็นำเอาเรื่องการจับกุมเข้าหารือกับหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องเร่งด่วน ตอนนั้นจำได้ว่ามีคำสั่งให้ใช้อำนาจตามมาตรา22 ให้รื้อถอน รวมถึงสวนของยายจันทราที่เป็นปัญหานี่ ก็โดนด้วยตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร” ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ระบุ และเปิดเผยด้วยว่า ภายหลังการเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดในปี 2553 ก็นำมาสู่การเจรจาของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับอำเภอ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและส่งเรื่องไปยังอนุกรรมการระดับจังหวัด

“ในส่วนมติของอนุกรรมการระดับอำเภอในตอนนั้นมีข้อตกลงร่วมกันว่ากรณีสวนของยายจันทรา ขอให้ชะลอการตัดฟันสวนยางพาราไว้ก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ นี่คือการตกลงกันในช่วงปี2553” ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครระบุ และย้ำด้วยว่าข้อตกลงดังกล่าวทีมีขึ้นในปี 2553 นอกจากชะลอการตัดฟันสวนยางพาราในแปลงของยายจันทราแล้ว ในส่วนที่ตรวจยึดอื่นๆ ก็ตกลงกันในครั้งนั้นว่าให้ชาวบ้านสามารถทำกินในพื้นที่ต่อไปก่อน ทำกินได้ในพื้นที่เดิม แต่จะไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม นี่คือข้อตกลงที่ยอมรับกันในครั้งนั้น ซึ่งหลังจากมติดังกล่าวนี้ออกมาสิ่งที่เครือข่ายไทบ้านฯ ต้องทำต่อไปก็คือการบันทึก ตรวจสอบข้อมูลผู้เดือดร้อนว่าอยู่ที่ไหนบ้าง คอยทำหน้าที่บันทึกข้อมูล และให้ความช่วยเหลือต่อไปเรื่อยๆ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครอง

CH3.jpg

12987049_627602504060014_835544803501827672_n

ภาพ: จันทร์ โพธิจันทร์

ข้อตกลงคนอยู่ร่วมกับป่าไร้ความหมายหลังรัฐประหาร 2557

“แม้ว่าการแก้ไขปัญหาร่วมกันที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน จะเปลี่ยนหัวหน้าอุทยานมาแล้ว 3 คน แต่ทุกคนก็ยังยึดมตินี้เรื่อยมากระทั่งถึงก่อนรัฐประหาร มติครั้งสุดท้ายที่เรามีร่วมกันคือในเดือนเมษายน ปี 2556 นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้ทำร่วมกับภาครัฐ  คือมีการตกลงกันว่าจะไม่มีการจับกุม แต่มีการสำรวจข้อเท็จจริงไปก่อน นี่คือครั้งสุดท้ายที่ได้มีโอกาสประชุมร่วมกัน” ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านฯระบุ

จากนั้น ในปี 25557 หลังรัฐประหาร กลไกต่างๆ ก็ชะงักหมดเลย เจ้าหน้าที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไป ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมให้ยุติการไล่รื้อการโค่นสวนยางพาราของชาวบ้าน เมื่อทางเครือข่ายไทบ้านฯ ไปยื่นเรื่องร้องเรียนปัญหาต่อศูนย์ดำรงธรรม จากนั้น เครือข่ายก็ได้รับหนังสือจากกรมอุทยานแห่งชาติ หนังสือดังกล่าวระบุให้อุทยานแห่งชาติ ภูผาเหล็กมาพูดคุยกับชาวบ้าน

ในการพูดคุยชาวบ้านได้เรียกร้องให้ระงับการจับกุม ระงับการไล่รื้อ ให้ราษฎรได้ทำกินในพื้นที่ทับซ้อนจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ แล้วก็ให้มีการนัดหมายคณะทำงานชุดเดิมที่เคยทำงานมาตั้งแต่ปี 2553 ให้ทำงานต่อ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ

“แต่สิ่งที่อุทยานฯ เชิญเราคือ จริงๆ แล้ว ในการยื่นหนังสือเราไปในนามของชาวบ้านเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครแต่เขาอยากจะพบเพียงแค่สามคนที่เป็นคนลงนามในหนังสือร้องเรียน ซึ่งเราก็บอกไปว่าเราไม่สารถจะทำอย่างนั้นได้ เพราะเราเดือดร้อนกันเป็นกลุ่ม เราต้องรับฟังเป็นกลุ่ม ไม่สามารถให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปตัดสินเรื่องใดๆได้ เราจึงขอให้เจ้าหน้าที่ลงมาในพื้นที่เพราะพี่น้องเราลำบากที่จะต้องไปประชุมที่ จ.อุดรธานีที่สำนักงานบริหารพื้นที่ 10 ที่จังหวัดอุดรธานี   แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ให้เราไปคุยที่อำเภอวังสามหมอ ที่จังหวัดอุดรธานี เราก็ไปพูดคุยที่นั่น เมื่อ 29 เมษายน 2558 ซึ่งในหนังสือที่เราได้รับมาหลังจากไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมนั้นระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากอุทยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออก แต่เมื่อเราไปถึงจริงๆ ปรากฏว่าหัวหน้าอุทยานก็ไม่มา มีเพียงลูกน้องมาขอสำเนาบัตรประชาชน ของชาวบ้านผู้ลงนาม และมีปลัดอำเภอวังสามหมอมาร่วมประชุม เราก็เลยมีมติว่าเมื่อไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจ เรายังขอไม่หารือใดๆ แต่เราขอให้ทางอุทยาน ประสานมาว่าพร้อมเมื่อไหร่ แต่ว่าตั้งแต่นั้นก็ยังไม่มีการนัดหมายเพื่อไปหารืออีก

หลังจากการเดินทางไปที่อำเภอวังสามหมอ ที่จังหวัดอุดรธานี โดยชาวบ้านยืนยันว่าขอให้มีการนัดหมายอีกครั้ง แต่จากนั้นอีกไม่ถึง 1 เดือน คือเมื่อ 15 พ.ค.2558 ก็มีการสนธิกำลังบุกเข้าตัดสวนยางพาราของยายจันทรา มีทั้งทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้

12742082_10156555509730442_2426708429629563677_n

GM

ชะตากรรมหญิงชราชะตากรรมต้นยาง 18 ไร่ ที่ถูกโค่น

ยายจันทรา ลูกชายของยาย นายสาโรจน์ รวมทั้งชาวบ้านตัวแทนเครือข่ายไทบ้านฯ ร่วมกันบอกเล่าความทรงจำอันแสนเจ็บปวดในเช้าวันนั้น วันที่ต้นยางพาราของยายทั้ง 18 ไร่ ถูกตัดโค่นไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียว

“วันนั้น เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันประมาณ 100 คน ปฏิบัติการตั้งแต่ตี 5 โค่นเสร็จตอนเที่ยง ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ตัดโค่นเฉพาะที่ของยายจันทราคนเดียว”

ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านฯ เล่าว่า ชาวบ้านในเครือข่ายทราบว่าจะมีการตัดโค่นยางพารา เพราะลูกชายของยายจันทราไปกรีดยาง แล้วเห็นรถทหาร ในวันนั้นลูกชายของยายจันทราจึงประสานมาที่เครือข่ายว่ามีทหาร สงสัยว่าอาจจะมีการตัดยาง ชาวบ้านจึงไปรวมตัวกันในวันนั้นเลย พอไปรวมตัวกัน พบว่าทหารตั้งด่านสกัดไว้ 2 ชั้น ในชั้นแรกมีทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้พร้อมอาวุธครบมือ

เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไป ชาวบ้านประมาณ 30 คนก็มารวมตัวตรงที่ทหารสกัดไว้ ในตอนนั้น ชาวบ้านพยายามจะอธิบายกับหัวหน้าอุทยาน ว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่นี้เคยมีกลไกต่างๆ ที่ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานรัฐมาโดยตลอดและมีเคยมีมติชะลอการไล่รื้อตัดโค่น แต่เจ้าหน้าที่อุทยานที่มาตัดโค่นต้นยางบอกกับชาวบ้านว่า คนที่จะสั่งเขาได้คือเจ้านายหน่วยงานของเขาเท่านั้น

ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่า ในวันที่มีการตัดโค่น ชาวบ้านพยายามอธิบายว่าสวนของยายจันทราแม้จะมีคำสั่งตัดมาตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานฯ มาตั้งแต่เริ่มแรกที่เริ่มมีการรวมกลุ่มเครือข่ายไทบ้านฯ แต่ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็ชะลอการตัดโค่นไว้ตามที่เคยประชุมตกลงกันกับชาวบ้าน นอกจากนี้ เครือข่ายไทบ้านฯยังพยายามต่อรองเจ้าหน้าที่ที่มาตัดโค่นในวันนั้นว่าจะมีการเจรจาช่วงบ่ายกับพีมูฟ ช่วยรอก่อนได้ไหม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าผมไม่คุยกับคุณแล้ว แล้วก็ให้ทหารมาคุมตัวชาวบ้าน

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้น ระบุว่า เจ้าหน้าที่บอกว่า ต้นไม้นี้ก็เป็นของอุทยาน คนที่จะเข้าไปเอาได้ต้องขออนุญาตอุทยานก่อน ไม่เช่นนั้น การเข้าไปเอาต้นไม้ก็คือการกระทำที่ผิดกฎหมาย

หยาดเหงื่อแรงกายที่สูญสลาย

ซากต้นยางนับไม่ถ้วนไกลสุดสายตาในอาณาเขต 18 ไร่ กลายเป็นซากที่ไร้ชีวิตและวิญญาณ ภายหลังยุทธการตัดโค่นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 สิ่งที่หลงเหลือไว้มีเพียงต้นมะม่วงที่ยายปลูกเป็นหลักหมาย กับอดีตที่ยายเล่าขานให้ฟังพร้อมมือที่คอยป้ายปาดน้ำตาที่รินไหลไม่ขาดสาย

ยายเล่าว่า “ไร่ของยายนี้ ทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เป็นผู้ไปแผ้วถางที่ดินทำกิน พ่อแม่ของยายก็เกิดที่นี่ ตอนไปถางตอนนั้นก็ยังเป็นป่า ยายก็เกิดที่นี่ ทำกินอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนนี้ เดินจากบ้านไปสวนก็ประมาณ 2 กิโลเมตร”

ยายเล่าว่าเดิมที คนที่เข้าไปทำประโยชน์ใช้พื้นที่แบบยาย ในตอนนั้นก็มีหลายคน แต่สาเหตุที่ที่ตอนนี้เหลือของยายคนเดียว เพราะยายยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ แต่คนอื่นๆ อีกหลายคน เมื่อถูกคุกคาม เขาก็ถอยหนีไป แต่ยายไม่มีที่อื่นให้ไปยายก็ยืนหยัดอยู่ที่นี่ จนตอนนี้ 83 ปีแล้ว

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ยายก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น และพูดอย่างยากลำบากเพราะร้องไห้ไปด้วย ว่ายายเพิ่งเก็บผลผลิตคือเพิ่งกรีดยางได้ 2 ปี

“แต่ตอนนี้ ยายไม่มีเงินจะส่งหลานเรียนแล้ว ค่าอุปกรณ์การเรียนก็ไม่มีให้หลาน ยายมีรายได้แค่เงินตัดยาง ยายต้องไหว้เจ้าป่าเจ้าที่ขอให้ช่วยเหลือยายด้วยเถิด ขอให้ท่านปกปักรักษา”

ส่วนลูกชายของยายจันทราเล่าว่าทุกวันนี้ลำบากมาก โดนตัดโค่นสวนยางแล้วก็ไม่มีเงินจะส่งลูกเรียน

เพราะที่ผ่านมาครอบครัว มีรายได้จากสวนยางอย่างเดียว

ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร กล่าวทิ้งท้ายว่าสวนยางพาราของยายจันทราเคยได้รับการพิสูจน์สิทธิแล้ว ยายเคยไปพิสูจน์สิทธิแต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่ายายผ่าน แค่ 2 ไร่จากที่มีทั้งหมด 18 ไร่ ยายก็เลยไม่ยอมรับผลการพิสูจน์สิทธินั้น เนื่องจากมันสวนทางกับข้อเท็จจริง ยายก็เลยไม่ไปยืนยันใดๆ ต่อ

ซึ่งในการพิสูจน์สิทธิดังกล่าว กลุ่มของชาวบ้านผู้ไร้สิทธิฯ ก็ได้ทำหนังสือคัดค้านการพิสูนจ์สิทธินั้นที่มีขึ้นในปี 2555 ด้วย เพราะบางคนมีหลายไร่ แต่ผ่านแค่ไม่กี่ตารางวาก็มี ไม่ใช่ว่าเรามีที่เท่าไหร่ รัฐก็จะให้เท่านั้น

นอกจากตัวแทนของเครือข่ายไทบ้านฯแล้ว ลูกชายของยายจันทราก็เล่าถึงวิธีการพิสูจน์สิทธิดังกล่าวว่า

“เจ้าหน้าที่ให้ไปถ่ายรูป ไปยืนอยู่จุดเดียว และให้เซ็นเอกสาร”

และนี่คือเรื่องราวของยายจันทรา หญิงชราที่มีชะตากรรมซ้อนทับกับเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กอย่างแยกไม่ออก และยังมองไม่เห็นหนว่ามีทางใดที่ยายจะได้รับการเยียวยาจากพื้นที่ทำกินซึ่งก่อร่างสร้างด้วยหยาดเหงื่อแรงกายมากว่า 2 ชั่วอายุคนที่ต้องถูกตัดโค่นไปหมดสิ้น…ไม่เหลือดอกผลใดให้เก็บเกี่ยวอีกต่อไป

 

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading