แถลงการณ์ 12 ปี ทนายสมชาย ประเทศไทยยังมีคนถูกบังคับให้สูญหายโดยไร้การสืบสวนสอบสวนอย่างเร่งด่วน

Share

วันนี้เป็นวันครบรอบ 12 ปีที่นายสมชาย นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 โดยมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 5 คนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปครั้งนั้น และครอบครัวของนายสมชาย ยังคงพยายามแสวงหาความยุติธรรมมเพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ต่อมาพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาพิเศษ 6 ได้เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจรวม 5 นายได้แก่ พ.ต.ต. เงิน ทองสุก พ.ต.ท. สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ จ.ส.ต. ชัยเวง พาด้วง ส.ต.อ. รันดร สิทธิเขต และ พ.ต.ท. ชัดชัย เลี่ยมสงวน ต่อศาลอาญาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1952/2547 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 และ 391 เพราะเหตุประเทศไทยยังไม่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง จึงต้องฟ้องในฐานความผิดอาญาอื่น และศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ครอบครัวผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์กับอัยการได้

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้อนุญาตให้ภรรยาของนายสมชายเข้าเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลฎีกาพิพากษายืน โดยทั้งสองศาลให้เหตุผลว่าคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (2) กล่าวคือภรรยาและบุตรไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่านายสมชายได้ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมเองได้ แม้ว่าศาลแพ่งจะได้มีคำสั่งให้นายสมชายเป็นบุคคลสาบสูญแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 61 เมื่อบุคคลใดถูกสั่งให้เป็นคนสาบสูญ กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายทางกฎหมายแล้ว และคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้นายสมชายเป็นคนสาบสูญนั้นยังคงอยู่และไม่มีการขอเพิกถอนแต่อย่างใด ประเด็นที่ญาติของนายสมชายไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในการนำคนผิดมาลงโทษอย่างสิ้นเชิง

โดยส่วนสำคัญของปัญหาคือการขาดซึ่งกฎหมายอาญาที่กำหนดว่าการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญหรืออุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา และการตีความกฎหมายอย่างแคบไปในทางจำกัดสิทธิของญาติในการเข้าเข้าเป็นโจทก์ร่วมของศาลลทำให้สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้เสียหายไม่ได้รับการยอมรับนับถือ

ยิ่งไปกว่านั้น การบังคับให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งในกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ความล้มเหลว ขาดความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพในสืบสวนสอบสวนโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนนำมาซึ่งการนำเสนอพยานหลักฐานสำคัญที่ขาดน้ำหนักน่าเชื่อถือยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดที่มีอิทธิพลหรือที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด ยังเกาะกินสังคมไทยอย่างเหนียวแน่น และกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนได้ดำเนินโครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชนยังคงได้รับข้อเท็จจริงว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งการควบคุมตัวลับอย่างต่อเนื่อง และการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานรัฐ และองค์การอิสระกลับล้มเหลว ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพไม่เกิดผลในการนำคนผิดมาลงโทษ อีกทั้งไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงให้ญาติเพื่อคลี่คลายชะตากรรมของบุคคลที่ถูกบังคับให้หายไป

เช่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เกิดเหตุกรณีนายณัฐพงศ์ ศรีคะโชติ อายุ 19 ปี ถูกอุ้มหายไปจากบ้านพัก อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา จากกรณีเหตุการณ์มีกลุ่มชายฉกรรจ์ 4 คน อ้างเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดจังหวัดฉะเชิงเทรา บุกเข้ามาจับกุมนายณัฐพงศ์ ศรีคะโชติ หรืออาร์ม อายุ 19 ปีไปจากบ้านพัก อ.เมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดกับทางครอบครัวก่อนที่นายณัฐพงศ์จะหายไปอย่างไร้ร่องรอยปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนการสืบสวนสอบสวนยังไม่สามารถคลี่คลายความจริงให้กับญาติเพื่อให้ทราบชะตากรรมของเยาวชนคนนี้

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 มีรายงานว่าชายฉกรรจ์จำนวน3 คนจับนายฟาเดล เสาะหมานอายุ 28 ปี บังคับขึ้นรถยนต์สีดำคันหนึ่งจากบริเวณลานจอดรถของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นายฟาเดลเป็นอดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ศาลจังหวัดปัตตานีได้ตัดสินยกฟ้องในคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 เดือนกว่าแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนคนหาย แต่การสืบสวนสอบสวนยังไม่เป็นผล ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม หากแต่สถานการณ์การบุกอุ้มตัวนายฟาเดลที่เกิดขึ้นอย่างอุกอาจในเวลากลางวันในโรงเรียนที่เป็นพื้นที่สาธารณะก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนในพื้นที่ในเรื่องความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญนักกิจกรรมชาวกระเหรี่ยงได้ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีจับกุมในข้อหามีน้ำผึ้งจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นของป่าไว้ในครอบครองมีความผิดตามพรบ.อุทยานแห่งชาติ อย่างไรก็ดีมีข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีว่า “ไม่มีการปล่อยตัวนายบิลลี่จริง” การสืบสวนสอบสวนยังคงจำกัดแต่เพียงการกระทำความผิดตามมาตรา 157 โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐยังไม่สมสัดส่วนของข้อกล่าวหาที่ว่านายพอละจีถูกบังคับให้สูญหายโดยมีการจับกุมควบคุมตัวและปกปิดชะตากรรมตลอดระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเสนอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

  1. ขอให้ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงต้องดำเนินการให้มีตรวจสอบอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนในกรณีที่มีข้อมูลเชื่อว่ามีบุคคลใดก็ตามมีเรื่องร้องเรียนว่าถูกทำให้หายตัวไปเพื่อคลี่คลายคดีร้องเรียนและสืบสวนสอบสวนจนทราบชะตากรรม โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่น เนื่องจากมาตรการที่จริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเรื่องร้องเรียนจะเป็นมาตรการที่ป้องปรามการบังคับให้บุคคลสูญหายรายต่อๆไป การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญกรรมที่ร้ายแรงที่สุดจึงต้องมีการสืบสวนสอบสวนอย่างคดีอาญาสำคัญโดยพลัน อย่างจริงจัง อิสระ เป็นมืออาชีพ
  2. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการจัดทำให้ร่างพรบ.การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายให้สอดคล้องกับหลักการสากล โดยกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและให้สัตยาบันในอนุสัญญาการคุ้มครองบุคคลไม่ให้มีการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติโดยไม่ชักช้า เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศโดยเร็วตามที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาคมระหว่างประเทศและในระหว่างการทบทวนรายงานสิทธิมนุษยชนต่อองค์กรสหประชาชาติ
  3. ขอให้ยกเลิก ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการควบคุมตัวลับ การควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น การควบคุมตัวตามคำสั่ง คสช. 3/ 2558 และการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกจำนวน 7 วัน การควบคุมตัวตามตามพรก.ฉุกเฉิน 30 วัน การควบคุมตามพรบ.ปราบปรามยาเสพติดจำนวน 3 วัน เป็นต้น และเมื่อปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำด้วยอย่างเป็นธรรม

อนึ่งการบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย โดยรัฐจะต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะสถานการณ์ เหตุผล หรือต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ Tel. 02-6934939

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading