กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและแพร่หลายไปที่อื่น โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส (คำแปล) แปลจาก http://www.khaosodenglish.com/detail.php?newsid=1455008927
กรุงเทพฯ, การทรมานตั้งแต่การทำ waterboarding ไปจนถึงการบีบคอ ข่มขู่ด้วยความรุนแรง และการละเมิดทางเพศ เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เพื่อบีบบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ยอมรับสารภาพ ตามข้อกล่าวหาในในรายงานใหม่
นับเป็นรายงานฉบับที่สองของเดือนนี้ที่เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว และจะมีการเปิดตัวรายงานในวันพุธโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเตือนว่าการปฏิบัติมิชอบที่กล่าวหาเหล่านี้ไม่เพียงบ่อนทำลายระบบยุติธรรม หากยังทำให้ความสนับสนุนต่อรัฐไทยในบรรดาคนมุสลิมสัญชาติไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ลดน้อยลงด้วย
“การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ” รายงานจำนวนรวม 120 หน้าระบุ “เป็นการทำลายความเชื่อมั่นโครงสร้างของรัฐ ทั้งความรู้สึกการยอมรับการปกครอง ความไม่เชื่อมั่นในระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ท้ายที่สุดอาจถูกชักโจงให้เข้าร่วมในการต่อสู้หรือใช้ความรุนแรง”
กองทัพบกประณาม รายงานการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้เกิดจาก “จินตนาการ”
พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.) กล่าวว่ายังไม่เห็นรายงาน แต่บอกปัดว่าคงเป็นผลมาจากจินตนาการของผู้เขียน เขายังกล่าวหาว่าหนึ่งในผู้เขียนรายงานหลักคือพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพียงแต่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพและรัฐ
พรเพ็ญกล่าวกับ Khaosod English ว่า ทางการควรอ่านเนื้อหาใน “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” เสียก่อนจะปฏิเสธโดยทันที เธอยืนยันข้อมูลตามที่ค้นพบ และระบุว่ามีการประเมินด้านจิตวิทยาของผู้ให้ข้อมูลซึ่งมีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับ ในรายงานประกอบด้วยคำสัมภาษณ์ของผู้เสียหาย 54 ราย ซึ่งกล่าวหาว่าเกิดเหตุการณ์ทรมานกับตนทั้งในปัจจุบันและในอดีตระหว่างปี 2557-2558
ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 6,200 รายระหว่างปี 2547-2557 ในจังหวัดชายแดนใต้ ตามข้อสังเกตของรายงาน
“ดิฉันคิดว่ากอ.รมน.ไม่เข้าใจหน้าที่ของตนเอง รัฐต้องรับผิดชอบตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พวกเขากลับไม่อ่านรายงาน ไม่ตรวจสอบข้อบกพร่องและนโยบายของตนเอง” พรเพ็ญกล่าว และบอกว่ากอ.รมน.มีจุดยืนที่จะเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาการทรมานเหล่านั้น
เป็นรายงานฉบับที่สองต่อจากรายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่ปัตตานี ซึ่งมีข้อกล่าวหาคล้ายคลึงกันโดยระบุว่า ทหารใช้การปฏิบัติมิชอบทั้งทางกายและใจหลายประการในปี 2558 เพื่อบังคับให้ผู้ต้องสงสัยคดีก่อความไม่สงบรับสารภาพ
สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชนคนสำคัญและหนึ่งในบรรณาธิการของรายงานระบุว่า ปัจจุบันมีการใช้เทคนิคการทรมานกับคนไทยคนอื่น ๆ ในภูมิภาคอื่นด้วย โดยเฉพาะกับคนที่ทางการเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
“เราไม่ต้องการประณามพวกเขาหรือสร้างความเกลียดชัง แต่ต้องการให้พวกเขาแก้ไขสถานการณ์เนื่องจากเป็นการบ่อนทำลายรัฐเอง” สมชายกล่าว
รายงานตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแม้แต่รายเดียวที่ได้รับโทษจำคุกเนื่องจากข้อหาการทรมาน กรณีที่ใกล้เคียงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 คือ อัสฮารี สะมะแอ อายุ 25 ปี ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศาลปกครองสูงสุดสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินให้นางแบเดาะห์ สะมะแอ ผู้เป็นแม่เป็นจำนวน 534,301 บาทพร้อมดอกเบี้ย รวมกันคิดเป็นเงิน 1,014,000 บาทเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทน หลังจากศาลเห็นว่าอัสฮารีเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่ศีรษะระหว่างการควบคุมตัวของกอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีการนำตัวทหารรายใดมาลงโทษในคดีนี้
รายงานระบุว่า การควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาตามกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 37 วัน ทำให้เกิดโอกาสที่จะมีการปฏิบัติมิชอบ การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ต้องสงสัย
“สิทธิของบุคคลเหล่านั้นกลับถูกจำกัดเสียยิ่งกว่าผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียอีก” รายงานระบุและเสริมว่าผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับญาติหรือทนายความ ไม่สามารถขอประกันตัว และในบางกรณีจะถูกส่งตัวไปสถานที่ควบคุมตัวแห่งอื่นโดยไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบ
รายงานยังอ้างว่าการทรมานทั้งทางกายและใจมักเริ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวบอกว่าการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นมีทั้งการเอาปากกระบอกปืนเอ็ม 16 จ่อเข้าไปในปาก การทุบตี การขู่ฆ่าพวกเขาหรือครอบครัว ขู่จะข่มขืนภรรยาและอื่น ๆ
ในกรณีที่ร้ายแรงครั้งหนึ่ง รายงานระบุว่าผู้ต้องสงสัยอายุ 27 ปีบอกว่าถูกจับโดยไม่มีข้อกล่าวหาในเดือนมีนาคม 2547 เขากล่าวหาว่าตำรวจบอกให้เขาวิ่งจากรถเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เขาไม่ยอมวิ่งหนีเพราะกลัวว่าจะถูกใช้เป็นเหตุให้ยิงสังหารเขา
“เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าให้ยิ่งหนี ถ้ามึงหนีรอด มึงก็รอด…ผมบอกว่าหนีทำไม ไม่ได้ทำผิดอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดต่อว่า เสียดายไม่หนี ถ้างั้นก็จะส่งมึงไปอยู่กับพ่อมึง” เขากล่าวไว้ในรายงานหน้า 22
ระหว่างการสอบปากคำ รายงานกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการซ้อมทรมานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น
Waterboarding บังคับให้เปลือยกาย การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัสด้วยการปิดตาและการใช้ถุงคลุมศีรษะ การเฆี่ยนตี การบังคับให้ยืนตากแดดถอดรองเท้า การช็อตด้วยไฟฟ้า การใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นหยดตรงจุดหนึ่งในร่างกายอย่างช้า ๆ ทีละหยด และอื่น ๆ
เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์มีส่วนร่วมในการปฏิบัติมิชอบด้วย ตามข้อมูลในรายงาน
รายงานหน้า 23 ระบุว่ามีผู้ต้องสงสัยที่ไม่ระบุชื่ออายุ 29 ปีซึ่งบอกว่าถูกซ้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และกว่าจะได้พบแพทย์ก็อีกวันต่อมา
“พอเช้าเขาก็พาไปตรวจร่างกายในค่าย แต่หมอไม่ได้ตรวจ แค่ให้ใบรับรองแพทย์ว่าไม่มี ไม่ได้โดนทำร้ายร่างกาย” เขากล่าว
ชายคนดังกล่าวยังกล่าวหาว่าสุดท้ายเขายอมรับสารภาพ หลังจากถูกซ้อมและถูกข่มขู่อย่างรุนแรงเป็นเวลาสามวัน
“ในที่สุดผมก็เซ็นเอกสารเพราะเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายเจ็บหมดทั้งตัว มีการขู่จะทำร้ายภรรยา เผาบ้าน ทำร้ายพ่อ แม่ มีการข่มขู่ว่า ถ้าไม่ยอมรับ กูทำได้ให้ติดคุก”
ผู้วิจัยกล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยและผู้เสียหายต่างเผชิญกับปัญหาความตื่นเต้นกังวล ภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียดรุนแรงหลังวิกฤต ความโกรธเคือง และความต้องการจะล้างแค้น
“ถ้าขับรถเห็นเจ้าหน้าที่ ก็จะรู้สึกกลัว เจ็บใจ พยายามหลีกเลี่ยงไม่เจอเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด” ผู้เสียหายคนหนึ่งกล่าว
“(ผมรู้สึก) เครียด กังวล ทำไมถึงจับซ้ำ ๆ ในขณะที่เราไม่ได้ทำ” เขากล่าวในรายงาน “ผมรู้สึกเจ็บใจ รู้สึกแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม”
รายงานฉบับนี้เป็นภาษาไทย โดยจะมีการเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษในภายหลัง
สามารถติดต่อประวิตร โรจนพฤกษ์ได้ที่ pravit@khaosodenglish.com และ @Pravit_R