เผยแพร่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559
แถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ – HRLA
แถลงการณ์
ขอให้ยุติการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ และ
เรียกร้องให้สภาทนายความปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผู้ร่วมวิชาชีพ
ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศและอำนวยความยุติธรรมของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อข่มขู่คุกคาม ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขัดขวางการทำหน้าที่ของทนายความอย่างน้อยสองกรณี ได้แก่
- กรณีการกักตัว การคุกคาม และการดำเนินคดีต่อทนายความเบญจรัตน์ มีเทียน
สืบเนื่องจากกรณีที่ทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ได้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ลูกความ ให้แจ้งความดำเนินคดีต่อพล.ต.วิจารณ์ จดแตง คณะทำงานกฎหมายของ คสช. และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แจ้งความเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีแถลงข่าวการออกหมายจับนายธนกฤต โดยระบุว่าเขาเป็น 1 ในผู้เตรียมก่อเหตุความไม่สงบในกรุงเทพฯ ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล ทั้งที่นายธนกฤต ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา หลังจากนั้น มีการแจ้งความดำเนินคดีกับทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ในข้อหาแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท และข้อหาอื่นๆ รวมห้าข้อหา และมีการติดตามคุกคามทนายความเบญจรัตน์เพื่อให้ถอนการแจ้งความ และมีความพยายามกักตัวหลังการเข้าทำหน้าที่เยี่ยมลูกความในเรือนจำ
- กรณีการดำเนินคดีต่อทนายความศิริกาญจน์ เจริญศิริ
สืบเนื่องจากกรณีที่ทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ผู้ต้องหาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถเนื่องจากไม่มีหมายค้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 และถูกเจ้าหน้าที่กักรถไว้ระหว่างดำเนินการออกหมาย ทนายศิริกาญจน์ จึงเข้าแจ้งความฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาทนายศิริกาญจน์ ถูกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน
องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ และนักกิจกรรมทางสังคม เห็นว่าทนายความมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) และการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมาและตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ทั้งนี้ เพื่อประกันว่าสิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ทนายความจะต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้อย่างเป็นอิสระและปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรม และการเผชิญกับการถูกดำเนินคดีหรือแทรกแซงทางการบริหาร ทางเศรษฐกิจ หรือทางอื่นใด จากการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางวิชาชีพตามมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการรับรองไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกความ
ดังนั้น จากพฤติกรรมการแจ้งข้อกล่าวหา และข่มขู่คุกคามทนายความ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกความตามหลักวิชาชีพ และการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงถือเป็นการแทรกแซงไม่ให้ทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้อย่างเป็นอิสระ อีกทั้งเป็นการใช้กฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อให้ทนายความยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งย่อมจะกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรมของประชาชน ทั้งยังเป็นการปิดกั้นการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย
องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย ทนายความ และนักกิจกรรมทางสังคม ตามรายนามแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องดังนี้
- ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินคดี ตลอดจนยุติการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ต่อทนายความทั้งสองคนโดยทันที
- ขอเรียกร้องให้สภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพทนายความและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำใดๆอันเป็นการแทรกแซง ขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในการปกป้องลูกความตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ
- สมชาย หอมลออ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
- ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
- ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย
- พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
- สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ
- สุรชัย ตรงงาม ทนายความ
- รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ
- สุภาภรณ์ มาลัยลอย
- ไพรัช สุภัคคะ ทนายความ
- สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
- สัญญา เอียดจงดี ทนายความ
- ปรีดา นาคผิว ทนายความ
- ปรีดา ทองชุมนุม ทนายความ
- วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ
- คอรีเยาะ มานุแช นักกฎหมาย
- ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ
- อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความ
- กฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ
- ภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักกฎหมาย
- ยูฮานี เจ๊ะกา นักกฎหมาย
- อุบลวรรณ บุญรัตนสมัย นักกฎหมาย
- ปรียาภรณ์ ขันกำเนิด นักกฎหมาย
- มนตรี อัจฉริยสกุลชัย
- มึดา นาวานาถ Mekong Youth Assembly
- เฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมาย
- ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ นักกฎหมาย
- อัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมาย
- สุนิดา ปิยกุลพานิชย์ นักกฎหมาย
- ประดิษฐา ปริยแก้วฟ้า
- มนทนา ดวงประภา นักกฎหมาย
- ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมาย
- ชันษา สุพรรณเมือง นักกฎหมาย
- อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความ
- มาซีเต๊าะ หมันหล๊ะ นักกฎหมาย
- บัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
- ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ
- สุธาทิพย์ อมปาน นักกฎหมาย
- อดิสร เกิดมงคล นักวิชาการ