12 ปี การทำงานเรื่องการยุติการทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานี โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

12 ปีกลับมาวนอยู่ที่เดิมเหมือนไม่ได้ไปไหนเลย

12 ปีที่ผ่านมาจากเด็กก็กลายเป็นผู้ใหญ่ จากต้นไม้ต้นเล็กก็จะเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ 12 ปีนับเป็นเวลายาวนานพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แต่การทำงานเรื่องยุติการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในปัตตานีพบว่ากลับมาวนอยู่ที่เดิมเหมือนไม่ได้ไปไหนเลยเมื่อมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอับดุลลายิบ ดอเลาะในระหว่างการควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558

วันที่ได้รับทราบข่าวตอนเช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ว่ามีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร นับเป็นวันที่เศร้าอีกวันของการรับรู้เรื่องราวต่างๆในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เศร้าสร้อยไม่ต่างจากวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรได้มาหายไปจากการเปิดเผยเรื่องการทรมานต่อผู้ต้องสงสัยคดีปล้นปืนเมื่อเดือนมกราคม 2547 สิบสองปีเต็มๆ ที่เรื่องรุนแรงภายใต้เสียงแผ่วเบาของเหยื่อถูกกระตุกเตือนด้วยสภาพศพของนายอับดุลลายิบที่ค่ายอิงคยุทธ และกระตุกต่อมการรับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมอีกครั้งในคำพิพากษาฎีกาของการหายตัวไปของทนายสมชาย ทุกคนทราบดีว่าที่ทนายสมชายหายไปเพราะการเรียกร้องเรื่องการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อลูกความทั้ง 5 คนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

สำหรับพวกเราคนทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาติดต่อกันสิบสองปี เราได้พัฒนาการทำงานเพื่อยุติการทรมานมาเป็นลำดับตั้งแต่ไม่มีใครกล้าพูดกล้าเล่า จนเมื่อในปี 2549 มีอดีตนักศึกษา มอ.ปัตตานีที่ถูกจับและถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ค่ายเดียวกับที่นายอับดุลลายิบเสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2558 อดีตนักศึกษาคนนั้นเป็นนักศึกษากฎหมายที่เป็นลูกศิษย์ของทนายความในพื้นที่ นับเป็นกรณีแรกที่เราได้รับรู้โดยญาติได้นำเรื่องที่เขาถูกทำร้ายร่างกายในค่ายมาร้องเรียน ต่อนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น จนนำไปสู่การขอเข้าเยี่ยมเป็นการส่วนตัวพร้อมแพทย์อิสระ

กรณีที่ผู้เสียหายจากการทรมานเสียชีวิต

บันทึกเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรณีสำคัญในจังหวัดชายแดนใต้ เท่าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคดีร่วมกับศูนย์ทนายความมุสลิม หลักฐานของการทรมานเกิดขึ้น และปรากฎมากที่สุดเมื่อผู้เสียหายจากการทรมานเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว เราได้เรียนรู้ขั้นตอนการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายพิเศษ จากคดีความทั้งการไต่สวนการตาย และการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎในชั้นศาลเป็นข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาคดี คดีเหล่านี้ได้แก่ เหตุการณ์การเสียชีวิตของนายอัสอารี สามะแอ ที่จังหวัดยะลา เสียชีวิต 22 กรกฎาคม 2550 การเสียชีวิตของนายยาการียา ปะโอมานิ จังหวัดยะลาที่ทั้งสองรายมีลักษณะของการทรมานก่อนการเสียชีวิต ในปี 2551 มีเหตุการณ์เสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เสียชีวิต 21 มีนาคม 2551 ที่ค่ายเฉพาะกิจ 30 วัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

และต่อมาก็มีรายงานการแขวนคอตายเสียชีวิตนายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต 5 มิถุนายน 2554 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกส่งตัวมารักษาจากค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส

รวมทั้งกรณีนายอับดุลอาซิส สาและเสียชีวิต 15 ตุลาคม 2556 ภายหลังการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยมีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายกรณีบ้านน้ำดำ จ.ปัตตานี รายละเอียดในคดีมีมากพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นระหว่างการจับกุม ควบคุมตัว การซักถามและการสอบสวนของเจ้าหน้าที่

รวมทั้งกรณีนายอับดุลลายิ ดอเลาะ เสียชีวิต 4 ธันวาคม 2558 ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ที่ยังคงอยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุการตายและรอขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเป็นคดีไต่สวนการตาย

กรณีผู้เสียหายจากการทรมานไม่เสียชีวิต

กรณีที่ผู้เสียหายจากการทรมานไม่เสียชีวิต การทำงานยิ่งมีความยากลำบากในการหาพยานหลักฐาน แต่ตั้งแต่ปี 2554 โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ( UN Voluntary Fund for Torture victims) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี ได้ทำงานร่วมกันในภาระกิจที่สำคัญคือการจดบันทึกการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เราได้รับฟังเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องของผู้เสียหายจากการทรมานทั้งสิ้น 146 ราย ทั้งหมดเป็นชายชาวมลายูมุสลิมมีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้

จุดตั้งต้นของการจดบันทึกอย่างละเอียดจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานโดยตรงก็เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในวาระที่ที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจะพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2557

การเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์โดยใช้แบบฟอร์มที่มีมาตรฐาน ผู้สัมภาษณ์ได้รับการอบรมและทำความเข้าใจกับแบบฟอร์ม 34 หน้า มีการจัดอบรมทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและความเข้าใจเรื่องการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมทั้งความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์และสุขภาพจิตของผู้เสียหายจากการทรมานตามลำดับเพื่อเพิ่มพูนทักษะของผู้ทำการสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักในการสัมภาษณ์รับฟัง ส่วนการจดบันทึกเนื่องจากจะต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษดังนั้นจึงทำการจดบันทึกเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการใช้เพื่อการดำเนินคดี การร้องเรียนตามกลไกทางกฎหมายของไทย รวมทั้งการส่งต่อเพื่อให้มีการเยียวยาบำบัดรักษาผู้เสียหายจากการทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

อาสาสมัครจากกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีเป็นกำลังสำคัญในการเข้าถึงผู้เสียหายผ่านการทำงานทางสังคมในด้านอื่นๆ และการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ผู้เสียหายกล้าที่จะพูดและเล่าเรื่องราวที่โหดร้ายทั้งในขั้นตอนการจับกุม การควบคุมตัว การถูกซักถาม สอบสวน การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งการถูกคุมขังในกรณีถูกดำเนินคดี

ซึ่งหลายกรณีกว่าที่ผู้เสียหายจะกล้าที่จะเล่าและระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาพูดต่อหน้าบุคคลอื่นนั้นอาจใช้เวลานานเป็นปี เชื่อว่ามีผู้เสียหายจากการทรมานอีกหลายรายที่อาจจะยังไม่เคยเล่าหรือบอกเรื่องราวทั้งหมดหรือเพียงแค่บางส่วนแม้แต่ต่อสมาชิกในครอบครัวตนเอง แต่เรื่องราวความเลวร้ายทั้งหมดกลับวนเวียนอยู่ในความคิด จิตใต้สำนึก และในฝันร้ายๆของพวกเขาตลอดเวลา

บทเรียนเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานในประเทศไทยและในจังหวัดชายแดนใต้

อุปสรรค์ในการให้ความช่วยเหลือยังคงมีอยู่มากมายหลายประการ โดยสรุปบทเรียนเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานในประเทศไทยและในจังหวัดชายแดนใต้ อุปสรรค์สำคัญทางกฎหมายคือการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาในกฎหมายไทย ขั้นตอนการร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเรื่องความปลอดภัยของผู้ร้อง กลไกในการตรวจสอบ และการดำเนินคดี นำคนผิดมาลงโทษ

การสอบสวน และฟ้องร้องคดีทางอาญาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปปช. ปปท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพฯ ยังมีอุปสรรคในการทำให้ความจริงปรากฎในกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน ทำให้กลไกกฎหมายและกลไกการร้องเรียนในปัจจุบันยังข้อจำกัดของสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาภายใต้กลไกที่มีอยู่ การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพมีด้วยกันห้ารูปแบบจึงยังไม่มีประสิทธิภาพ การเยียวยาที่ได้ผลนั้นได้แก่ การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การชดใช้สินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

ไม่มีกฎหมายแล้วยังขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ประเทศไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากการทรมานในหมู่บุคคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก แพทย์ที่ปฎิบัติหน้าที่ปกติในสถานพยาบาลมักไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายและการตรวจรักษาอย่างละเอียด หรือไม่มีโอกาสในเข้าถึงผู้เสียหายในระยะเวลาแรกๆ หรือกลัวหรือเกรงว่าจะต้องมีบทบาทในชั้นศาลหรือขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งๆ ที่อยากจะปฏิบัติหน้าที่บุคคลกรทางการแพทย์อย่างเป็นกลางและมีจรรยาบรรณ

ประเทศไทยยังไม่มีความรู้และการทำงานที่เป็นลักษณะเป็นองค์รวมและครอบคลุมการดูแลด้านการรักษาและจิตใจ รวมทั้งบริการทางกฎหมายและสังคม การบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะหรือการฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการยอมรับว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นทางการจึงไม่มีแผนงานการสนับสนุนให้เกิดให้มีการสร้างให้เกิดสมรรถนะทางกาย ใจ สังคม และอาชีพ และการกลับเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้ตามหลักการคณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะย้ำว่า พันธกรณีของรัฐภาคีที่จะต้องจัดให้มีช่องทางเพื่อ “การบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องบำบัดฟื้นฟูและชดเชยต่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย

ประเทศไทยควรกำหนดให้มีมาตรการและโครงการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสภาพของผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ผู้เสียหายจากการทรมานไม่สามารถเข้าถึงโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพโดยเร็ว อีกทั้งหน่วยงานทางการแพทย์อาจไม่มีบริการล่ามแปลภาษา ในการรักษาหรือตรวจรักษาอันเกี่ยวกับการทรมาน การบริการขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นไปเพียงตามกำลังและศักยภาพ เช่นในกรณีจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยังไม่ให้การสนับสนุน แม้ว่าจะยังไม่มีคุกคามต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้

การป้องกันมิให้มีการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกทรมานถือได้ว่าล้มเหลวเมื่อพบว่าการทรมานยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏในข่าวตามช่องทางต่างๆ ทั้งข่าวกระแสหลัก และข่าวกระแสรอง อีกทั้งยังไม่ปรากฏการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวใดๆ ดังนั้นจึงควรมีการรณรงค์ และ สื่อสารเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการกระทำทรมาน และควรสร้างแนวคิดเรื่องการทรมานเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งในระดับสังคมและสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนได้ริเริ่มที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ เราได้ศึกษาถึงกลไกในการดูแล ช่วยเหลือ เหยื่อจากการทำงานขององค์กร H2H หรือ The Human to Humane Transcultural Centre for Torture Victims (H2H) แบบองค์รวม ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ การรับเรื่องร้องเรียน /การไปเยี่ยมเพื่อเก็บข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ /การประชุมทีมเพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม /การเยียวยาฟื้นฟูตามความต้องการของเหยื่อซึ่งมีหลายประเภทดังนี้ทางด้านร่างกาย/ทางด้านจิตใจ/ทางกฎหมาย/ทางสังคม/การติดตามประเมินผล

พันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการทรมาน

ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและประเทศไทยก็ได้สมัครใจลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 การลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสำคัญฉบับนี้เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลทหารภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549

ตั้งแต่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการทรมาน ฯ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต่อพันธกรณีได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ประเทศไทยยุติการทรมานทั้งทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้มีข้อหาการทรมาน การจัดการอบรมอนุสัญญาฉบับนี้อย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและในบริบททั่วประเทศโดยทั้งทางกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมหรือแม้แต่ทางฝ่ายกองกำลัง ทางกรมทหารพระธรรมนูญ รวมทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้จัดตั้งให้มีอนุกรรมการต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2549 หนึ่งปีก่อนที่จะมีการลงนามในอนุสัญญาฯ และได้ทำงานต่อเนื่องเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งตรวจสอบ และมีข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องการห้าม และยุติการควบคุมตัวที่จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการทรมาน

การเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญของไทยแม้จะมีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับพร้อมๆ กันในการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการตรวจเยี่ยมสถานที่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยบุคคลภายนอก จะเป็นแนวทางในการป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม

ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นแนวทางที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยินดีที่จะเป็นคณะกรรมการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว (National Preventive Mechanism) หาประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว หรือที่เรียกกันว่า OPCAT

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีคำร้องที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่ง กสม.ได้รับการร้องเรียนที่ขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซ้อมทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีการลงโทษอื่นที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งกสม.เคยพิจารณาคำร้องจากประชาชนในพื้นที่จำนวน 33 คำร้อง โดยกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ฯกระทำทรมาน ปฏิบัติหรือใช้วิธีลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมตัวเพื่อมุ่งประสงค์ทีจะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้น

กสม.จึงเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยในด้านกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รัฐ ต้องสร้างระบบและว่างมาตรการในการป้องกันการทรทานทุกขั้นตอน มีการทำทะเบียนการตรวจบันทึกการตรวจร่างกายโดยแพทย์ สร้างระบบให้โปร่งใสและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ รวมทั้งกำหนดหน่วยงานที่คุมขังให้แยกต่างหากจากหน่วยงานที่ทำการจับกุม สอบสวนหรือซักถามต้องเป็นคนละหน่วยงาน และต้องกำหนดระยะเวลาการควบคุมตัวของแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน

 นอกจากนี้ กสม. ยังเสนอให้จัดให้มีคณะทำงานอิสระให้ทำหน้าที่ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ และผู้ถูกควบคุมตัวเป็นประจำ ต้องปรับปรุงกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ทั้งในเชิงด้านการข่าว การแสวงหาข้อมูล หรือการปรับทัศนคติโดยจะต้องกระทำโดยไม่สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม และไม่ใช้วิธีการที่รุนแรง และต้องดูแลผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่เมื่อมีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาซักถามและการควบคุมตัว

โดยกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อให้การซักถามผู้ต้องสงสัยเป็นไปตามหลักการสืบสวน สอบสวนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิในกระบวนการุติธรรม และเมื่อผู้ต้องสงสัยตามหมายเรียกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งทางราชการแจ้งว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องลบชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากระบบฐานข้อมูลทางระเบียนว่าเป็นบุคคลถูกออกหมายเรียกที่ยังปรากฏอยู่ตามด่านตรวจต่างๆในพื้นที่ฯ

ส่วนข้อเสนอด้านกระบวนการยุติธรรม กสม. ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนต้องดำเนินการสอบสวนข้อร้องเรียนโดยพลัน โดยเที่ยงธรรม และโปร่งใส และต้องกำหนดมาตรการในการคุ้มครองพยานปกป้องเหยื่อหรือญาติที่ร้องเรียนให้พ้นจากการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งควรมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับ กัก หรือควบคุมตัวที่ไม่ต่ำกว่าตรฐานสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา และมาตรฐานระหว่างประเทศ

และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เสนอต่อสำนักงานศาลยุติธรรมให้นำตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ มารายงานตัวต่อศาลทุกครั้งที่มีการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวและโดยมติ ครม.

นอกจากมีมติรับทราบแล้วยังได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. รับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาว่าสมควรจะดำเนินการได้หรือไม่ประการใดก่อน โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมผลการดำเนินการแล้วแจ้งต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ทราบต่อไป

ข้อมูลจาก http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=761995

ความมุ่งมั่นของบุคคลกรระดับนโยบายต่อพันธกรณีที่สำคัญของประเทศไทยต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานก็คือการที่กระทรวงยุติธรรม ได้ริเริ่มให้มีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. ที่มีการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีที่ประเทศไทยพึงนำมาแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองประการคือการทรมาน และการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด

อย่างไรก็ดียังมีประเด็นทางกฎหมายและทางปฏิบัติที่ตัวแทนผู้เสียหายทั้งกรณีทรมาน และการบังคับให้สูญหาย และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานใกล้ขิดกับประเด็นนี้ยังมีข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเพื่อเป็นข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. ให้สมบูรณ์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

พัฒนาการที่ดีในทางนโยบายกลับสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีเรื่องร้องเรียนกว่า 100 กรณีส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบว่ามีการทรมานเกิดขึ้นหรือไม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2552-2557 สำหรับศูนย์ทนายความมุสลิมที่มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ก็รับเรื่องร้องเรียนกว่า 300 กรณี บางส่วนก็ได้จัดส่งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบ

สถานการณ์การทรมานหลังรัฐประหารปี 2557

หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 เพียงสามวันคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ที่มีการประชุมทบทวนรายงานด้านการทรมานของประเทศไทยหลังจากได้รับบันทึกการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจำนวน 92 รายรวมได้จนถึงปี พ.ศ. 2556 ทั้งได้สอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งภาคประชาสังคม ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจากประเทศไทยก็ได้สรุปสถานการณ์ว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์เรื่องการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมหลายประการในบริบททั่วประเทศ สำหรับในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ระบุว่า

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ย่อหน้า 11. คณะกรรมการมีความห่วงใยที่ข้อกล่าวหาจำนวนมากว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตั้งข้อสังเกตว่ามีการคงสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลานาน และมีข้อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัฐภาคีควรดำเนินการให้แน่ใจว่า สิทธิที่บุคคลจะไม่ได้รับการกระทำทรมานเป็นสิทธิสัมบูรณ์และไม่สามารถทำการยกเว้นได้

และรัฐพึงดำเนินการให้แน่ใจว่า จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ข้อ 2 วรรค 2 ซึ่งกำหนดว่า ไม่มีพฤติการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดที่ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้นอกจากนี้รัฐควรประเมินความจำเป็นในการมีกฎหมายพิเศษที่มีอยู่ โดยตระหนักว่า เงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการตรากฎหมายฉุกเฉินควรเป็นไปด้วยความอย่างเคร่งครัดและตีความอย่างแคบและควรจะจำกัดไว้สำหรับสถานการณ์กรณีพิเศษเท่านั้น

กฎหมายพิเศษ ย่อหน้า 12. ในขณะที่คณะผู้แทนของรัฐภาคีได้อ้างถึงเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ 2,889 เหตุการณ์ และจำนวนการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน และบุคลากรทหาร คณะกรรมการยังมีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับการจำนวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นปกติวิสัย ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ

สถานการณ์เช่นนี้ถูกทำให้เลวร้ายขึ้นจากการใช้กฎหมายพิเศษสามฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งให้อำนาจฉุกเฉินในวงกว้างแก่ทหาร และกองกำลังรักษาความมั่นคง นอกการควบคุมภายใต้กระบวนการยุติธรรม

อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศของการลอยนวลพ้นผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คณะกรรมการมีความกังวลอย่างยิ่ง ดังนี้ (ข้อ 2, 4, 12, 13 และ ข้อ 15)

(ก) กฎหมายพิเศษให้อำนาจบริหารขยายการควบคุมตัวด้วยอำนาจฝ่ายบริหารโดยปราศจากการควบคุมจากฝ่ายตุลาการอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดการลดทอนการป้องกันขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ถูกทำให้เสียไปซึ่งเสรีภาพตาม กฎอัยการศึกมาตรา 15 และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 12 ซึ่งผู้ต้องสงสัยสามารถ ถูกควบคุมตัวได้นานถึง 37 วัน โดยไม่มีหมาย หรือกำกับดูแลจากกระบวนการยุติธรรมก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่ศาล นอกจากนี้ไม่ระบุว่าต้องนำตัวผู้คุมขังถูกมาปรากฏตัวต่อศาลในการควบคุมตัวขั้นตอนใดๆ และมักไม่มีการเปิดเผยที่ตั้งของสถานที่ควบคุมตัวเสมอไป

(ข) มีการกล่าวอ้างว่า มักไม่มีการเคารพสิ่งป้องกันการทรมานที่มีไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกคุมขังมักจะได้รับการปฏิเสธสิทธิที่จะติดต่อสมาชิกครอบครัวและให้สมาชิกในครอบครัวเยี่ยมทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ และขาดการคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นบางอย่าง เช่น สิทธิที่จะติดต่อทนายความและได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมาย หรือไม่มีการนำหลักการนี้ไปปฏิบัติ

(ค) กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎอัยการศึก มาตรา 7 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17 จำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ความคุ้มครองมิให้เจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งการกระทำทรมาน ซึ่งเป็นการละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญา คณะกรรมการมีความกังวลกรณีผู้เสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัว เช่น อิหม่ามยะผา กาเซ็ง และนายสุไลมาน แนซา

ซึ่งแสดงให้เห็นอุปสรรคที่จะผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐควรตรวจสอบอย่างแข็งขัน โดยมิชักช้าและพึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะทบทวนกฎหมายฉุกเฉินและแนวปฏิบัติที่มีอยู่ และพึงยกเลิกสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่า: (ก) ผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาภายใต้กฎหมายการรักษาความมั่นคง จะได้ปรากฏตัวต่อหน้าศาล (ข) ผู้ถูกคุมขังภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับสมาชิกครอบครัว ทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีหลังสูญเสียเสรีภาพ ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ และมีการตรวจสอบหลักประกันสิทธิโดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ (ค) ไม่ให้ความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย รัฐภาคีควรดำเนินการสอบสวนทันที เป็นธรรมและละเอียดถี่ถ้วน นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรม เมื่อผู้ใดได้รับการตัดสินว่ากระทำผิดจริง ต้องได้รับโทษสมควรแก่ความร้ายแรงของความผิดที่กระทำนั้น (ง) ไม่พึงมีผู้ใดถูกบังคับให้ปากคำปรักปรำตนเองหรือผู้อื่น หรือจะสารภาพผิด การสารภาพดังกล่าวต้องไม่ได้รับการยอมรับเป็นหลักฐานในศาล ยกเว้นกรณีที่ใช้ปรักปรำผู้ถูกกล่าวว่ากระทำการถูกทรมานหรือกระทำการโหดร้าย เพื่อเป็นหลักฐานว่า มีการสร้างคำสารภาพ หรือคำให้การนั้นขึ้น “

รายงานสถานการณ์การทรมานปี 2557-2558 กับการเจรจาครั้งใหม่

นับเป็นเวลา 12 ปีเต็มที่ประเทศไทยได้ใช้เวลากับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงและชีวิตของประชาชนในพื้นที่และบุคคลากรหลายฝ่ายเพื่อนำความสุขสงบกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจาสันติภาพกำลังจะเกิดขึ้นใหม่โดยการนำของฝ่ายทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารจัดการประเทศในรอบใหม่นี้ เราอยากนำเสนอยุทธศาสตร์ใหม่ที่พยายามเชื่อมโยงว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยที่เกิดขึ้นมาตลอด 12 ปีนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพาไปสู่สันติภาพและต้องการให้ผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องการเจรจาแก้ไขโดยเร่งด่วน

ในเดือนมกราคม 2559 นี้จะมีการนำเสนอรายงานฉบับหนึ่งจำนวน 59 หน้า ชื่อ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมจะส่งตรงถึงพลโท อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทรโอชาให้รับผิดชอบเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ. 2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 22 ราย

ผู้ร้องเรียนทั้งหมดเป็นชายชาวมลายูมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 19-38 ปี จำนวน 49 คน ช่วงอายุ 39-48 ปี จำนวน 5 คน จากผู้เสียหายรวม 54 คน การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และมีรายงานว่าเกิดขึ้นในสถานที่เดิม และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากเหยื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร

เหตุการณ์การทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการจับกุม การเดินทางอยู่ในการควบคุมตัวบนยานพาหนะ ระหว่างการควบคุมตัวในค่ายย่อยและในค่ายใหญ่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ซักถาม การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในระหว่างการซักถามและการสอบสวน จากบันทึกที่ได้รับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร 48 รายและเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 ราย ลักษณะการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมมีรูปแบบทั้งการทำให้เกิดการเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสทางด้านร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่างๆ จากบันทึกของผู้เสียหายจำนวน 54 ราย อย่างเช่น

  • การทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี เตะ ต่อย ตบหัว ถีบหลัง บริเวณใบหน้า หน้าท้อง ลำตัว ฯลฯ
  • การเอาน้ำสาดหัวและตัว โดยการใช้น้ำเย็น
  • การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า อยู่ในห้องแอร์
  • การทำให้สำลักน้ำ หรือบีบคอ
  • การบดหรือขยี้ตามร่างกาย และอวัยวะสำคัญบางจุดเช่นศีรษะ อวัยวะเพศ หน้าอก
  • การทำให้จมน้ำ จุ่มน้ำ และการทำ Water Boarding
  • การให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำหรือร้อน
  • การใช้ไม้ หรืออุปกรณ์อื่นในการตี เฆี่ยน
  • การทำให้วิ่ง ออกกำลังกายโดยเท้าเปล่า ตอนกลางวันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • การใช้ไฟฟ้าซ๊อต
  • การบังคับให้ดื่มหรือกิน
  • การทำให้บาดเจ็บที่เข่า
  • การใช้เสียงดังรบกวน
  • การทำให้ขาดอากาศหายใจ เช่นการบังคับจุ่มหัวในถังน้ำ การใช้ถุงดำคลอบศีรษะ
  • การล่วงละเมิดทางเพศ เช่นการดึงหรือบีบอวัยวะเพศ
  • การเปลือยกาย
  • การกระทำรุนแรงกับอวัยวะเพศ
  • การใช้ไฟฟ้าช๊อตที่อวัยวะเพศ
  • การบังคับให้ทำท่าต่างๆ เช่น บังคับให้ยืน ให้นั่งในท่าที่ไม่สะดวก
  • การบังคับให้ทำท่าทางต่างๆ ขณะเปลือยกายเป็นเวลานาน เช่น ให้ยืนขาเดียว ให้ลุกนั่งจนกว่าจะหมดแรง ให้ยืนก้มหัวลง

เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องร้องเรียนที่ได้จัดส่งให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติจำนวน 92 กรณีแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2557 การสืบค้นและการดำเนินการทางกฎหมายที่ผ่านมามีข้อจำกัดมากมายทำให้การดำเนินการไม่สามารถระบุถึงผู้กระทำความผิดรายบุคคลได้ เป็นเหตุให้ไม่มีการดำเนินการทางอาญาต่อผู้กระทำความผิด เรื่องร้องเรียนในช่องทางปกติเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่นำพาไปสู่การสืบสวนสอบสวนที่เพียงพอที่จะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้

อีกทั้งไม่มีข้อมูลว่ามีการสอบสวนภายในของทางหน่วยงานหรือไม่เพื่อเป็นการค้นหาความจริงต่อข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 12 ปี คำกล่าวที่ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดเลยถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญาในข้อหาเรื่องการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นคำกล่าวที่ไม่มีคำปฏิเสธ (เท่าที่ติดตามคงมีแต่กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็งที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งถูกลงโทษทางวินัย) ยังคงมีแต่เพียงคำปฏิเสธว่า “เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่เป็นจริงและไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเลย” จากผู้บังคับบัญชาทั้งระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติ

การยื่นรายงานต่อหน่วยงานระดับสูงที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและค้นหาความจริงนั้นยังเป็นความหวังของคนทำงานกลุ่มนี้ที่จะยุติการทรมานและขอให้การเสียชีวิตของนายอับดุลดายิบ ดอเลาะ ในการควบคุมตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีสุดท้าย ถ้าการยุติการทรมานเป็นไปได้จริงทางปฏิบัติ มีคำสั่งห้ามโดยตรงต่อสาธารณะว่าไม่ใช่นโยบาย และมีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรมและเอาผิดเอาโทษกับผู้กระทำผิดที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ส่วนน้อย นั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาสันติภาพที่แท้จริงระหว่างคู่ขัดแย้งที่แท้จริงทั้งในห้องซักถามและบนโต๊ะเจรจาสันติภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้น

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading