Download at 08_01-2016_ submitting torture report to peace talk leader
กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ใบแจ้งข่าว
ขอให้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขและแม่ทัพภาค 4
ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานปี 2557-2558
และเปลี่ยนโต๊ะซักถามในค่ายทหารเป็นโต๊ะเจรจา
วันที่ 8 มกราคม 2559 ที่ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส เวลา 15:30 น. นางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ ตัวแทนคณะจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ปี 2557-2558 จำนวน 59 หน้า ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้นำส่งรายงานฉบับนี้พลโท อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทรโอชา และพลโทวิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการทรมานจำนวน 54 ราย พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีพ.ศ. 2558 จำนวน 15 รายและในปี 2557 จำนวน 17 ราย และเหตุการณ์ระหว่างปี 2547-2556 จำนวน 22 ราย รวม 54 ราย
ในรายงานระบุว่าผู้ร้องเรียนทั้งหมด 52 รายเป็นชายชาวมลายูมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ในช่วงอายุ 19-38 ปี จำนวน 45 คน และช่วงอายุ 39-49 ปี จำนวน 5 คน มีข้อร้องเรียนว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและมีรายงานว่าเกิดขึ้นในสถานที่เดิม และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากเหยื่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร เหตุการณ์การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นทั้งในขั้นตอนการจับกุม การเดินทางอยู่ในการควบคุมตัวบนยานพาหนะ ระหว่างการควบคุมตัวในค่ายย่อยและในค่ายใหญ่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ซักถาม การทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในระหว่างการซักถามและการสอบสวน จากบันทึกที่ได้รับมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร 48 รายและเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 ราย
ลักษณะการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมมีรูปแบบทั้งการทำให้เกิดการเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสทางด้านร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่างๆ จากบันทึกของผู้เสียหายจำนวน 54 ราย อย่างเช่น
•การทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี เตะ ต่อย ตบหัว ถีบหลัง บริเวณใบหน้า หน้าท้อง ลำตัว ฯลฯ
•การเอาน้ำสาดหัวและตัว โดยการใช้น้ำเย็น
•การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า อยู่ในห้องแอร์
•การทำให้สำลักน้ำ หรือบีบคอ
•การบดหรือขยี้ตามร่างกาย และอวัยวะสำคัญบางจุดเช่นศีรษะ อวัยวะเพศ หน้าอก
•การทำให้จมน้ำ จุ่มน้ำ และการทำ Water Boarding
•การให้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำหรือร้อน
•การใช้ไม้ หรืออุปกรณ์อื่นในการตี เฆี่ยน
•การทำให้วิ่ง ออกกำลังกายโดยเท้าเปล่า ตอนกลางวันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
•การใช้ไฟฟ้าซ๊อต
•การบังคับให้ดื่มหรือกิน
•การทำให้บาดเจ็บที่เข่า
•การใช้เสียงดังรบกวน
•การทำให้ขาดอากาศหายใจ เช่นการบังคับจุ่มหัวในถังน้ำ การใช้ถุงดำคลอบศีรษะ
•การล่วงละเมิดทางเพศ เช่นการดึงหรือบีบอวัยวะเพศ
•การเปลือยกาย
•การกระทำรุนแรงกับอวัยวะเพศ
•การใช้ไฟฟ้าช๊อตที่อวัยวะเพศ
•การบังคับให้ทำท่าต่างๆ เช่น บังคับให้ยืน ให้นั่งในท่าที่ไม่สะดวก
•การบังคับให้ทำท่าทางต่างๆ ขณะเปลือยกายเป็นเวลานาน เช่น ให้ยืนขาเดียว ให้ลุกนั่งจนกว่าจะหมดแรง ให้ยืนก้มหัวลง
นับเป็นเวลา 12 ปีเต็มที่ประเทศไทยได้ใช้เวลากับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงและชีวิตของประชาชนในพื้นที่และบุคคลากรหลายฝ่ายเพื่อนำความสุขสงบกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเจรจาสันติภาพกำลังจะเกิดขึ้นใหม่โดยการนำของฝ่ายทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารจัดการประเทศในรอบใหม่นี้ ผู้จัดทำรายงานต้องการให้ผู้กำหนดนโยบายเชื่อมโยงให้ได้ว่าการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยที่เกิดขึ้นมาตลอด 12 ปีนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพาไปสู่สันติภาพและต้องการให้ผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องการเจรจาแก้ไขโดยเร่งด่วน
แม้ว่าเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับเรื่องร้องเรียนที่ได้จัดส่งให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติจำนวน 92 กรณีแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2557 การสืบค้นและการดำเนินการทางกฎหมายที่ผ่านมามีข้อจำกัดมากมายทำให้การดำเนินการไม่สามารถระบุถึงผู้กระทำความผิดรายบุคคลได้ เป็นเหตุให้ไม่มีการดำเนินการทางอาญาต่อผู้กระทำความผิด เรื่องร้องเรียนในช่องทางปกติเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ไม่นำพาไปสู่การสืบสวนสอบสวนที่เพียงพอที่จะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ อีกทั้งไม่มีข้อมูลว่ามีการสอบสวนภายในของทางหน่วยงานหรือไม่เพื่อเป็นการค้นหาความจริงต่อข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 12 ปี คำกล่าวที่ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดเลยถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญาในข้อหาเรื่องการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นคำกล่าวที่ไม่มีคำปฏิเสธ (เท่าที่ติดตามคงมีแต่กรณีอิหม่ามยะผาที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งถูกลงโทษทางวินัย) ยังคงมีแต่เพียงคำปฏิเสธว่า “เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ไม่เป็นจริงและไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเลย” จากผู้บังคับบัญชาทั้งระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติ
การยื่นรายงานต่อหน่วยงานระดับสูงที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและค้นหาความจริงนั้นยังเป็นความหวังของคนทำงานกลุ่มนี้ที่จะยุติการทรมานและขอให้การเสียชีวิตของนายอับดุลดายิบ ดอเลาะ ในการควบคุมตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีสุดท้าย ถ้าการยุติการทรมานเป็นไปได้จริงทางปฏิบัติ มีคำสั่งห้ามโดยตรงต่อสาธารณะว่าไม่ใช่นโยบาย และมีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรมและเอาผิดเอาโทษกับผู้กระทำผิดที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ส่วนน้อย นั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาสันติภาพที่แท้จริงระหว่างคู่ขัดแย้งที่แท้จริงทั้งในห้องซักถามและบนโต๊ะเจรจาสันติภาพที่เราอยากให้เกิดขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ อัญชนา หีมมิหน๊ะ Tel. 081-8098609
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ Tel. 086-7093000