[:th]CrCF Logo[:]
[:th]ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน Zeid Ra’ad Al Hussein[:]

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน UN ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน กระตุ้นให้รัฐบาลไทยสอบสวนอย่างเต็มที่กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย

Share

​เจนีวา (6 มกราคม 2559) เมื่อวันพุธ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน (Zeid Ra’ad Al Hussein) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) กระตุ้นให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง เพื่อสืบทราบชะตากรรมของบุคคลอย่างน้อย 82 คนที่อยู่ในรายชื่อผู้สูญหาย รวมทั้งทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและหายตัวไปเมื่อเกือบ 12 ปีที่แล้ว

​ซาอิดยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยบัญญัติเป็นกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

​“บรรดาครอบครัวของผู้สูญหายมีสิทธิจะได้ทราบความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของญาติของตน รวมทั้งความคืบหน้าและผลลัพธ์การสอบสวนใดๆ” ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว

​เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและการหายตัวไปของทนายสมชาย ทนายความชาวมุสลิมซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ระหว่างเป็นตัวแทนทางกฎหมายให้กับผู้ถูกจับกุมตามกฎอัยการศึกในภาคใต้ที่กำลังมีความรุนแรง บรรดาผู้ต้องสงสัยเหล่านี้กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ได้ซ้อมทรมานพวกเขาระหว่างควบคุมตัว

​ประจักษ์พยานให้ข้อมูลว่า เห็นทนายสมชายถูกผลักเข้าไปในรถคันหนึ่งตอนกลางคืนวันที่หายตัวไป นายกรัฐมนตรีสองคนก่อนหน้านี้ประกาศอย่างเปิดเผยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสืบสวนสอบสวนคดีทนายสมชาย

​เนื่องจากกฎหมายในประเทศไทยไม่มีข้อบัญญัติเพื่อเอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายจึงถูกฟ้องในข้อหาลักทรัพย์และบังคับขืนใจ ก่อนหน้านี้ศาลอาญากรุงเทพฯ ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งมีความผิดตามข้อกล่าวหา แต่ให้ยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลือ เป็นการตัดสินตั้งแต่เดือนมกราคม 2549

​ในปี 2554 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจรายดังกล่าว และมีความเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานมากเพียงพอที่จะลงโทษผู้ต้องหาทั้งสี่รายที่เหลือ ทั้งยังมีคำสั่งยกคำร้องของครอบครัวทนายสมชายที่ร้องสอดเป็นโจทก์ร่วม ในคำพิพากษาล่าสุด ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำสั่งดังกล่าว ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ญาติของผู้เสียหายจากการบังคับบุคคลให้สูญหายถือว่าเป็นผู้เสียหายเช่นกัน

​ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า เขาผิดหวังอย่างยิ่งที่ศาลไม่นำคำวินิจฉัยของศาลแพ่งมาพิจารณา เนื่องจากมีการประกาศให้ทนายสมชายเป็นบุคคลผู้สูญหายแล้ว ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญที่ไม่มีการนำมาพิจารณาในคดีนี้

​“หน่วยงานตุลาการไม่เพียงมีบทบาทตีความกฎหมายและขั้นตอนปฏิบัติ หากยังรวมถึงการคุ้มครองและปกป้องสิทธิของพลเมืองตน ศาลฎีกาของไทยสูญเสียโอกาสคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายที่จะเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาในคดีเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ” ซาอิดกล่าว

​ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้บัญญัติกฎหมายซึ่งเอาผิดทางอาญากับการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ “ในประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายและกรอบในเชิงสถาบันที่ช่วยให้ผู้เสียหายและครอบครัวแสวงหาความเป็นธรรมจากกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายได้” ซาอิดกล่าว “ผมขอกระตุ้นให้ทางการไทยให้สัตยาบันรับรองโดยทันทีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)” *

​นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ได้บันทึกข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหาย 82 กรณีในประเทศไทย

​ซาอิดกล่าวว่า แม้ทางการไทยสัญญาจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ประเด็นการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง ยังเป็นความกังวลใหญ่หลวง

​ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลต่อกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวคือนายนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2547 “ทางการไทยมีความรับผิดชอบต้องประกันให้ผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นในการค้นหาบุคคลที่ตนรัก ประกันให้เกิดการฟ้องคดีที่เป็นธรรม และการลงโทษผู้กระทำความผิด และมุ่งมั่นที่จะขจัดการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าชิงชังรังเกียจให้หมดไป” ซาอิดกล่าว

*อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2549 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบันได้รับสัตยาบันรับรองจาก 51 ประเทศ ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/IntConventionEnforcedDisappearance.aspx

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=16924&LangID=E#sthash.n4rw6MTT.dpuf