[:th]CrCF Logo[:]
ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ภรรยาผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตปริศนาที่อิงคยุทธ์ฯ ปัตตานี จัดส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้รายงานพิเศษด้านการทรมาน UN

Share

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่วันที่ 28 ธันวาคม 2558

ภรรยา ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตปริศนาที่อิงคยุทธ์ฯ ปัตตานี จัดส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้รายงานพิเศษด้านการทรมาน องค์การสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2558 ภรรยา ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตปริศนาที่อิงคยุทธ์ฯ ปัตตานีได้จัดจดหมายอิเล็คทรอนิคร้องเรียนถึงผู้แทนพิเศษว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการทรมาน เรื่อง “ขอให้ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตกรณี นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ เสียชีวิตในขณะควบคุมตัวที่ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และขอความเป็นธรรม” เอกสารมีทั้งหมด 4 หน้ากระดาษ อ้างถึงเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2558 นับแต่วันที่นายอับดุลลายิบ ถูกควบคุมตัวเมื่อประมาณตีหนึ่งครึ่ง ด้วยเจ้าหน้าที่กว่า 100 นายที่บ้านพักที่ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ที่มาจับกุมมีการปิดบังใบหน้าทำให้ครอบครัวและญาติเกิดความหวาดกลัว

ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว 25 วันที่ค่ายอิงคยุทธ์ฯ ญาติได้เดินทางไปเยี่ยมนายอับดุลลายิบทุกวัน แต่มักได้รับการอนุญาตให้เยี่ยมเพียงระยะเวลาสั้นๆ และไม่สามารถคุยกันได้มากนัก ภรรยาสังเกตว่าสามีของตนมีความเครียดและบอกแต่เพียงว่าสามีเครียด กลัว ไม่มีร่องรอยบาดแผลที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนเวลากลางคืน และมีการบังคับให้รับสารภาพแต่สามีไม่ได้กระทำจึงไม่ได้รับสารภาพ จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เวลา 7.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่มาที่บ้านมารับตัวไปค่ายอิงคยุทธ์ฯ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน และเมื่อไปถึงที่ค่ายฯ ผู้ใหญ่บ้านกระซิบบอกว่า สามีของตนเสียชีวิตแล้ว ต่อมาได้มีการส่งศพไปตรวจชันสูตรโดยไม่ได้มีการผ่าศพที่โรงพยาบาลที่หาดใหญ่ เพื่อหาความยุติธรรม โดยมีการขออนุญาติตรวจดีเอ็นเอในน้ำลาย คราบอสุจิ คราบเลือด และเก็บน้ำในตา เพื่อตรวจสารพิษที่ตกค้าง ในระหว่างการตรวจศพฯ พบกว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาพูดและโต้เถียงกับนายแพทย์ที่ทำการตรวจเป็นระยะ ในวันเดียวกันได้นำร่างของสามีประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

หลังจากการเสียชีวิตสองวันมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยกอรมน. แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนระดับจังหวัดเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการ ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างยูเอ็นเข้ามาร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะต้องการคนกลางที่ญาติไว้ใจและเชื่อมั่นรวมทั้งได้รับการยอมรับ ข้าพเจ้าจึงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบด้วย

โดยในจดหมายฉบับดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสามี เช่น ท่านอน การใส่เสื้อผ้า ลักษณะเตียงและพรม คราบเลือดบริเวณหน้าอก ระยะเวลาการเสียชีวิตที่ขัดแย้งกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ทหารที่มีหน้าที่ควบคุมตัว รวมทั้งการอ้างถึงการเสียชีวิตในค่ายของนายสุไลมาน แนซาที่ต่อมาก็ไม่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 เมื่อมีการแถลงผลการชันสูตรศพของสามี ในครั้งนั้นก็ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้ สุดท้ายภรรยาของนายอับดุลลายิบ ได้ระบุว่าขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานขององค์การสหประชาชาติ นาย Juan E. Méndez นักกฎหมายชาวอาร์เจนตินามีหน้าที่สำคัญสามประการคือ การส่งเรื่องร้องเรียนเร่งด่วนมายังประเทศสมาชิกถึงข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น การจัดส่งรายงานสถานการณ์ต่อคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน และต่อที่ประชุมใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งการเดินทางเข้ามาในประเทศสมาชิกของยูเอ็นเพื่อค้นหาความจริงในประเทศได้ โดยประเทศไทยได้ส่งคำเชิญให้นาย Juan E. Mendez มาประเทศไทยเป็นระยะเวลาสี่ปีแล้ว นับแต่การรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยูพีอาร์ ( UPR – Universal Periodical Review) แต่ทางรัฐบาลได้ขอเลื่อนกำหนดวันที่จะมาตรวจเยี่ยมที่ประเทศไทยมาเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ครั้ง ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่ได้กำหนดวันที่จะอนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษฯท่านนี้มาเยี่ยมประเทศไทย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939