แถลงการณ์ กรณี ตรวจ ดีเอ็น เอ เด็ก กรณีเหตุการณ์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558
ขอให้ทุกฝ่ายให้การคุ้มครองและปกป้องเด็ก ใน จังหวัดชายแดนใต้
เผยแพร่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558
โดย กลุ่มด้วยใจ
ในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันสิทธิเด็กสากล” เพื่อเป็นการรณรงค์ในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์ แต่เมื่อเวลา 17.55 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงานได้เข้าปิดล้อมและตรวจค้น บ้านเลขที่ 57/1 ม.1 บ.ดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานีซึ่ง ได้ดำเนินการตรวจเก็บสารทางพันธุกรรม DNA ลายพิมพ์/ลายนิ้วมือ ของบุคคลดังนี้ คือ นายมาอุเซ็น แวจิ น.ส.ซอมารีย๊ะ มะลี น.ส.เจ๊ะปาตีเมาะ แว กะจิ และ เด็กชายอายุ 5 เดือน ดังปรากฏในภาพสื่อ ต่างๆ
ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่า รัฐต้องคำนึงถึง ว่า ตามที่ได้ระบุในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้น เด็กโดยเหตุที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจ จึง ต้องการการพิทักษ์และดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงต้องการการคุ้มครองตามกฎหมายที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการเกิด นอกจากนี้ ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า
ข้อที่ ๒ ๑. รัฐภาคีจะเคารพและประกันสิทธิตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ แก่เด็กแต่ละคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าชนิดใดๆ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการ เมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
๒. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติ หรือ การลงโทษในทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออก หรือความเชื่อของบิดา มารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือสมาชิกในครอบครัวของเด็ก
ข้อที่ ๓ ๑. ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 50 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนฯข้อมูลเกี่ยวกับเด็กโดยเจตนาที่จะทำให้เด็กเสียหายแก่จิตใจชื่อเสียง หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่น
การกระทำเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ทางกลุ่มด้วยใจ ติดตามข่าวนี้ด้วยความไม่สบายใจอย่างยิ่งยวดถึงแนวทางการทำงานของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการว่า การตรวจดีเอ็นเอเด็กเป็นการกระทำที่สามารถกระทำได้หรือไม่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์การตรวจดีเอ็นเอเด็กมาแล้วจากการบันทึกโดยกลุ่มด้วยใจถึง 3 ครั้ง ในปี 2558 และมีเด็กถูกตรวจดีเอ็นเอจำนวน 13 คน และในครั้งนี้เด็กที่ถูกตรวจดีเอ็นเอมีอายุพียง 5 เดือน
กลุ่มด้วยใจจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงถึง ความจำเป็น เหตุผล รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย ในการปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รวมไปถึงการแสวงหา มาตรการหรือแนวทางในการปฏิบัติงานที่เหมาะสมต่อไป รวมไปถึงผู้ที่เผยแพร่ ภาพ ชื่อ ในสื่อต่างๆ