กำหนดการ กิจกรรม A Beautiful Children Rights Day
วันเสาร์ ที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เวลา 08:30-15:00 น
ณ อาคารเอนกประสงค์สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี
เวลา 08.30-09.00 น. ลงทะเบียนและแจกของที่ระลึกให้เด็ก
เวลา 09.00-10.20 น.พิธีเปิดโครงการฯ
– กล่าวเปิดงาน
– การแสดงชุด “ลิเกบุตรี” โดยโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี
เวลา 10.20-11.20 น.ล้วงความคิด “ เมืองในอนาคตของเด็ก” โดยทีมงานกิจกรรมเด็กฯ
เวลา 11.20-12.00 น.การแสดงชุด “ ลิเกฮูลู” โดยเด็กๆจากบ้านกูจิงลือปะ
เวลา 12.00-13.00 น.รับประทานอาหารและปฏิบัติศาสนกิจ
เวลา 13.00-14.30 น.การแสดงบนเวทีของเด็ก
– การแสดงชุดละครเร่ โดยกลุ่มข้าวยำ ( มอ.ปัตตานี)
– การแสดงชุดอานาซีส การแสดง แงแปะ
เวลา 14.30-15.00 น.แถลงการณ์ร่วม “องค์กรเครือข่ายทำงานด้านเด็ก”
เวลา 15.00 น.เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ: มีการจับฉลากในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนกิจกรรมบนเวทีและมีกิจกรรมในซุ้ม และการละเล่นพื้นบ้าน สำหรับอาหารและเครื่องดื่มบริการฟรีตลอดงาน * กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
โครงการ การรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง A Beautiful Children Rights Day
หลักการและเหตุผล
จากสถานการณ์เด็กจังหวัดชายแดนใต้ใน ปี 2558หากมองจากตัวเลข และสถิติที่แต่ละหน่วยงานได้แสดงให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีต่อเด็กดีขึ้น แต่หากเรามองผ่านห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ได้เกิดการละเมิดสิทธิเด็กมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสิทธิในการมีชีวิตรอด เพราะ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ทั้งทีเกิดจากการกระทำของกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ และ เจ้าหน้าที่รัฐ และส่งผลให้เกิด การโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะความไม่ปลอดภัยหรือการย้ายตามผู้ปกครอง เด็กจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในการได้รับโอกาสในการพัฒนา โดยเฉพาะการศึกษาซึ่งก็มีหลายปัจจัยเช่นปัญหาความปลอดภัยของครูผู้สอน การถูกตีตราในโรงเรียนในกรณีของเด็กในครอบครัวกลุ่มเคลื่อนไหว และ ความ หวาดกลัวจากสถานการณ์ความไม่สงบนอกจากนี้ยังมีเด็กบางส่วนที่ถูกใช้แสวงประโยชน์จากการไปมีส่วนร่วมทางการทหารจนกระทั่งเด็กจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเด็กที่เผชิญเหตุความรุนแรงหรือต้องสูญเสียผู้ปกครองจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีการดูแลและเยียวยาจากหน่วยงานรัฐต่างๆ แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่น่ากังวลคือเด็กในครอบครัวที่ถูกกล่าวหาจากรัฐ เด็กในครอบครัวที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม เด็กในครอบครัวผู้สูญหาย และ เด็กในครอบครัวผู้ที่หลบหนี เด็กกลุ่มนี้คือเด็กที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือกการดูแลจากหน่วยงานรัฐ จึงเรียกว่าเด็กนอกระบบการเยียวยา เด็กทั้งสองกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง หรือถูกนำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์จากทุกฝ่าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับ สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะในการปกป้องคุ้มครองเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก และ ในพ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่
• สิทธิที่จะมีชีวิตรอด – ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย
• สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา – มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม
• สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง – ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ
• สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม – ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง
แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ พบว่าเด็กได้รับผลกระทบดังนี้
1. การละเมิดจากสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เพราะเด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรง จากรายงานของกลุ่มด้วยใจพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2557 พบว่าเด็กเสียชีวิต 86 คน และได้รับบาดเจ็บ 431 คนนอกจากนี้ยังมีเด็กที่ต้องพิการจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อย
2. การละเมิดจากสิทธิที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง จากความรุนแรง การถูกแสวงหาประโยชน์ การละเลยทอดทิ้ง หรือรูปแบบการกระทำต่างๆที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อร่างกายและจิตใจ การพัฒนา และศักดิ์ศรีของเด็กซึ่งในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ จากรายงานของ Child soldier international รายงานสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ของไทยเมื่อปี 2554เป็นงานวิจัยที่จัดทำโดยองค์กรพันธมิตรฯ และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ พบว่าเด็กชายอายุต่ำกว่า 18 ปี มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเป็นกลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่จัดตั้งโดยรัฐบาล กลุ่มชรบ.นี้ถือเป็นสถาบันระดับชาติที่ถูกจัดตั้งอยู่ทั่วประเทศ แต่กลับพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการปราบปราบกลุ่มขบวนการต่อต้านติดอาวุธและ 2558เป็นการวิจัยของชายด์ โซลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่านอกเหนือจากโรงเรียนแล้ว เด็กและเยาวชนยังถูกชักชวนจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักในชุมชนของพวกเขาซึ่งอยู่นอกเขตโรงเรียนด้วย สมาชิกผู้ชาย 3 คนของกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งสองคนอายุ 16 และ 17 ปีในขณะที่สัมภาษณ์ ได้รับการติดต่อจากเพื่อนของเขาที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธว่าได้มีการนำเด็กไปใช้แสวงหาประโยชน์ ในปฏิบัติการกองกำลัง
3. การละเมิดจากสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและสิทธิในการมีส่วนร่วมผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงได้ทำให้เด็กที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวไม่มีสิทธิในการตัดสินใจหรือแสดงความต้องการในการศึกษาหรือ การประกอบอาชีพ เพราะต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองและตามรูปแบบการเยียวยาที่รัฐกำหนด และในบางกรณีที่ไม่ได้รับการเยียวยาโดยรัฐเพราะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ส่งผลให้ผู้ปกครองไม่มีศักยภาพในการดูแลเด็ก ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้เด็กไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
ในเส้นทางของการสร้างสันติภาพสิ่งที่ทุกฝ่ายอยากเห็นกล่าวโดยสรุปก็คือ การที่ไม่มีเด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรง การที่เด็กจะต้องไม่ถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ และการที่เด็กจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมการที่จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องเริ่มสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็ก และต้องมีความร่วมไม้ร่วมมือในการปกป้องคุ้มครองเด็ก ดังนั้น กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กจึงจัดทำโครงการ การรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชนและ เด็ก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและสิทธิที่เด็กจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง อีกทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมที่จะส่งเสียงร่วมกับผู้ใหญ่ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายจึงขอเสนอโครงการนี้ต่อมูลนิธิเอเชียในการสนับสนุนการดำเนินโครงการ
วัตถุประสงค์โครงการ
1. เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านสิทธิเด็กให้กับหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
2. เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบ
3. เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสร้างปกป้องตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ
กลุ่มเป้าหมาย
1. เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 400 คนโดยแบ่งเป็น
2. หน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และ ประชาชน จำนวน 100 คน
วิธีดำเนินการ
1. ประชุมเพื่อออกแบบและวางแผนการดำเนินงาน
2. ดำเนินกิจกรรมการรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง( A day for children rights )
กิจกรรมงาน 10 ปี สิทธิเด็กในพื้นที่ขัดแย้ง
• นิทรรศการ
• การเล่าเรื่องราวโดยเด็ก (เสียงเด็กเพื่อสันติภาพ)
• กิจกรรมบนเวที
• การเสวนา เรื่อง สิทธิเด็ก
3. การถอดบทเรียนกิจกรรมและจัดทำรายงาน
ระยะเวลาดำเนินการ
21 พฤศจิกายน 2558 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี ผู้ประสานงานโครงการ กลุ่มด้วยใจ
องค์กรร่วมจัด
1. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
2. กลุ่มจู่โจมจิตอาสาเพื่อสังคม
3. กลุ่มพิราบขาวชายแดนใต้
4. กลุ่มบุหงารายา
5. มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา” หรือ (NUSANTARA)
6. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
7. กลุ่มเซากูน่า
8. กลุ่มฟ้าใส
9. สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
10. HAP
11. Deep south watch
12. สมาคมยุวมุสลิมแห่งประไทย
13. เครือข่ายช่วยเหลือเด็กกำพร้า
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและสังคมมีความตระหนักรู้ด้านสิทธิเด็ก เมื่อเกิดความตระหนักรู้ก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและร่วมในการจัดการและแก้ไขกับปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กที่เกิดขึ้นได้ – ตัวชี้วัด เช่น จำนวน องค์กรรัฐ องค์กรประชาสังคม ที่เข้าร่วมงาน หรือให้การสนับสนุนต่อการจัดงาน (เช่น สนับสนุนงบประมาณ นิทรรศการ วัสดุอุปกรณ์ วิทยากร ฯลฯ)
2. เกิดความร่วมมือของเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งในระดับพื้นที่ ส่วนกลาง และ ระหว่างประเทศอย่างน้อย 10 องค์กร – ตัวชี้วัด เช่น (1) มีแถลงการณ์ร่วมเพื่อปกป้องสิทธิเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบ (ได้รับผลกระทบ ถูกแสวงประโยชน์ และไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม) หรือ (2) เกิดกิจกรรมหรือโครงการต่อเนื่องเพื่อปกป้องสิทธิเด็กฯ
3. เด็กได้สื่อสารผ่าน บทความการสัมภาษณ์ การรายงานข่าว ไปยังสาธารณะผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรอง – ตัวชี้วัด เช่น จำนวนข่าว ช่องข่าว (หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ทีวี รายการวิทยุ หรือสื่ออื่นๆ) ที่รายงานกิจกรรมวันสิทธิเด็ก และเสียงของเด็ก