ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ นำคนผิดมาลงโทษ กรณีนายอนัน เกิดแก้ว ผู้ต้องหาเสียชีวิตปริศนาหลังสอบสวน 3 วัน

Share

ใบแจ้งข่าว ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ นำคนผิดมาลงโทษ กรณีนายอนัน เกิดแก้ว  ผู้ต้องหาเสียชีวิตปริศนาหลังสอบสวน 3 วัน

กรณีการเสียชีวิตของนายอนัน เกิดแก้ว ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่าเสียชีวิตหลังการจับกุมและสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ต่อมาญาติได้รับโทรศัพท์แจ้งเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่านายอนัน เกิดแก้วเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยไม่แจ้งสาเหตุ เมื่อญาติเดินทางไปก็พบว่านายอนัน ถูกทำร้ายร่างกาย บาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถสื่อสารได้ และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558

พันตำรวจตรีศิริวัฒน์ เรียมศิริ พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันว่าได้ร่วมกับพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง แพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพ (Inquest) นายอนัน เกิดแก้ว แล้ว โดยระบุว่า “ตามร่างกายมีร่องรอยถูกทำร้าย” โดยพนักงานสอบสวนได้ระบุเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพที่ 818/2558 และญาติได้รับหนังสือรับรองการตายออกโดยโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ระบุว่า “สมองบาดเจ็บรุนแรงจากการเหวี่ยงตีกระแทกที่ศีรษะ”

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน มีความเห็นว่า การเสียชีวิตของนายอานัน เกิดแก้ว มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดจากการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายในประเทศ แล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552  ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อทางราชการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ศพนายอนันจะต้องมีการผ่าพิสูตรศพ (Autopsy) โดยแพทย์นิติเวชที่มีหน้าที่ในทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด เนื่องจากถือว่าเป็นกรณีที่การตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 การผ่าพิสูจน์ศพจะทำให้ทราบสาเหตุการตายที่ชัดเจนถูกต้องตามหลักการทางนิติเวช  และย่อมจะทำให้คดีชันสูตรศพ 818/2558 ในชั้นศาลซึ่งเป็นการแสวงหาสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายครบถ้วนชัดเจนตามขั้นตอนของกฎหมายกำหนดเพื่อใครทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย  โดยญาติสามารถแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ซักถามได้ในขั้นตอนคดีไต่สวนการตายในชั้นศาล
  2. ประเทศไทยในฐานะภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ จะต้องดำเนินคดีเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดโดยไม่ละเว้น อย่างไรก็ดีญาติมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาเพื่อนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย   นอกจากนั้นรัฐบาลไทยต้องเร่งออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อนำพันธกรณีตามอนุสัญญามาปฏิบัติให้ได้ผลยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา
  3. การสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว ต้องดำเนินการโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจเกี่ยวข้อง หรือการใช้อิทธิพลใดๆในการบิดเบือนคดี ทั้งจะต้องย้ายหรือพักราชการเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานดังกล่าว
  4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนคดีโดยการซ้อมทรมานอีกต่อไป จัดการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจและสำนึกว่าวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่อาจยอมรับได้ ทั้งจะต้องมีการลงโทษทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดรวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่ละเลยปล่อยให้มีการซ้อมทรมานโดยไม่มีการละเว้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  โทร. 02-6934939 และทนายความณัฐาศิริ เบิรก์แมน โทร 02-693-4939

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading