ใบแจ้งข่าว ศาลจังหวัดปราจีนบุรีไต่สวนมูลฟ้อง นัดที่สอง นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายจากการทรมานให้การถูกทำร้าย ครอบหัวด้วยถุงดำ 3 ครั้ง เกือบขาดอากาศหายใจ ยืนยันเรียกร้องความเป็นธรรมถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดปราจีนบุรี ได้ไต่สวนมูลฟ้อง (นัดที่สอง) คดีอาญาหมายเลขดำที่ 925/2558 ซึ่งมีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี 7 คน ฐานร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 295, 305, 310, 391 ประกอบมาตรา 83, 91
คดีดังกล่าวเป็นคดีอาญาซึ่งนายณรง์ฤทธิ์ ชื่นจิตร ผู้เสียหายจำเป็นต้องดำเนินการฟ้องคดีด้วยตนเอง เนื่องจากเหตุหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ทรมานเมื่อปี พ.ศ. 2552 ตนและครอบครัวได้ ร้องเรียนทุกหน่วยงานแต่ไม่มีหน่วยงานใดสามาถดำเนินการเพื่อนำเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและลงโทษได้ นายฤทธิรงค์จึงได้ดำเนินการฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง ณ ศาลจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดี โดยยื่นฟ้องเป็นคดีดังกล่าวข้างต้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558
ในการไต่สวนเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 นายฤทธิรงค์ โจทก์เป็นการไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง นายฤทธิรงค์ ผู้เสียหายจากการทรมานโจทก์ผู้ฟ้องคดีให้การเป็นคนแรกและให้การว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายขณะที่สืบสวนโดยกล่าวหาว่าตนเป็นคนร้ายวิ่งราวทรัพย์ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ นายฤทธิรงค์ เบิกความว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับมือไขว้หลังและใส่กุญแจมือถูกสั่งให้นั่งลงกับพื้น จากนั้นนำถุงซึ่งคล้ายกับถุงขยะสีดำครอบศีรษะและรวบปากถุงเพื่อให้ตนขาดอากาศหายใจถึงสามครั้งและบังคับให้รับสารภาพ จากการถูกซ้อมทรมานดังกล่าวทำให้ตนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนแม้ต่อมาจะได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากได้มีการจับกุมและดำเนินคดีคนร้ายตัวจริงได้ก็ตาม แต่นายฤทธิรงค์ ก็ไม่อยู่ในภาวะที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข จากการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ทำให้นายฤทธิรงค์ มีร่างกายที่อ่อนแอแล้ว ยังมีอาการหวาดผวา จนเป็นเหตุให้ต้องยุติการเรียนกลางคันไปในที่สุด ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 คนซึ่งเป็นผู้ต้องหานั้นมีเพียงอัยการ เท่านั้นที่เข้ามาร่วมการไต่สวนในฐานะทนายความของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 7 คน
คดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดีสำคัญ กล่าวคือ นอกจากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมีการติดตามจับกุมที่ขาดความรอบคอบและไม่เป็นมืออาชีพทำให้จับกุมดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์ มีผลทำให้นายฤทธิรงค์ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ยังซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส ซึ่งเป็นการกระทำที่ทั้งผิดกฎหมายในประเทศ และผิดกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ตามอนุสัญญา ฯ การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง โดยรัฐภาคีรวมทั้งประเทศไทยจะต้องดำเนินคดีเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดโดยไม่ละเว้น
ในกรณีนี้ ทางการไทยได้ละเลยการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญา โดยไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด แม้นายฤทธิรงค์ ผู้เสียหายจากการทรมานและบิดา จะได้ใช้เวลาถึง 6 ปี ในการร้องเรียนแสวงหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระต่างๆ จึงจำเป็นต้องขอความเป็นธรรมจากศาลด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดเอง
ทั้งนี้ทางนายฤทธิรงค์ยังคงจะดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ต่อไปให้ถึงที่สุด โดยศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้นัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13.30 น. เนื่องจากยังมีพยานโจทก์อีก 4 ปากที่จะเบิกความต่อศาล จึงขอเชิญผู้ที่สนใจหรือสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาของ ตามวันและเวลาดังกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– นายปรีดา นาคผิว 098-6222474 ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
– นายสัญญา เอียดจงดี 084-1212596 ทนายความอิสระ
– นางสาวนันทนา แก้วนวล 086-3917049 ทนายความอิสระ