รำลึกตากใบ: ฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมไทย เรียบเรียงโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
25 ตุลาคม 2558
ในเดือนตุลาคม ของทุกปี เรามักจะรำลึกถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม นั้นคือวันที่ 14 ตุลา ปี 2516 และวันที่ 6 ตุลา ปี 2519 แต่หลายๆ คนก็ยังไม่ลืม เหตุการณ์วันที่ 25 ตุลา ปี 2547 เหตุการณ์นั้นคือเหตุการณ์ตากใบ ที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำต่อสังคมไทยอย่างมากและอย่างต่อเนื่อง ทางการมักจะกล่าวว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนชอบฟื้นฝอยหาตะเข็บ เมื่อเรื่องมันจบไปแล้วเรากำลังแก้ไขและก้าวต่อไป น่าจะลืมและเลิกที่จะกล่าวถึง ควรเลิกจัดงานรำลึกในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันได้แล้ว ในมุมมองของชาวบ้านและประชาชนที่จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่อประชาชนไม่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นมานานนับ 40 ปี หรือ 10 ปี นั้นเป็นการตอกย้ำถึงความรู้สึกและความจริงว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมของประเทศไทยนั้นยังห่างไกลจากคำว่า “ลืม” และความทรงจำในเรื่องราวเหล่านั้นมันเป็นความขมขื่นที่ยังคงยืนยันว่า การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในสังคมไทยยังคงต้องดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่คำว่า “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” จะไม่ถูกนำมาใช้เพื่อดูแคลนความพยายามในการเรียกร้องความยุติธรรมในการรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่อประชาชน
เดือนตุลาคม ปี 2558 ครบรอบ 11 ปีที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปจังหวัดนราธิวาสเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ การเดินทางครั้งนั้นนำพาให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้และได้สัมผัสถึงสิ่งที่ใกล้ชิดกันอย่างยิ่งนั้นคือ สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรม
จากวันนั้นถึงวันนี้คำถามที่ว่าเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นได้อย่างไรยังไม่มีความกระจ่าง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมตามระบบยุติธรรมไทยก็ตีบตันและสิ้นสุด ยกเว้นการฟ้องคดีอาญาด้วยกลุ่มผู้เสียหายเองซึ่งก็เป็นการยาก คดีตากใบเป็นกรณีที่เกิดการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมจำนวน 78 คน ระหว่างเคลื่อนย้ายไปสอบปากคำยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งคดีนี้ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนชันสูตรพลิกศพ หรือไต่สวนการตาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ว่าตายเพราะ “ขาดอากาศหายใจ” ทีมทนายความจากสภาทนายความได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว โดยระบุว่า “คำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลากรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
กล่าวคือในคำสั่งไต่สวนการตาย ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุก ทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งจากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปรับฟังคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาทั้งสองครั้ง ครั้งแรกมีการเลื่อนการอ่านคำสั่งไปหนึ่งเดือนโดยข้ออ้างที่ว่าญาติผู้เสียชีวิตมาศาลไม่ครบ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวดูจะไม่สมเหตุสมผล ญาติผู้เสียชีวิตในฐานะผู้ร้องคัดค้านมาศาลไม่ครบไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการไม่อ่านคำสั่ง จนเป็นข้อกังขากันว่าเกิดอะไรขึ้นกับคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบมีการแทรกแซงหรือมีคำสั่งนอกสำนวนหรือไม่อย่างไร แล้วหนึ่งเดือนต่อมาคำสั่งศาลคดีไต่สวนการตายเลื่อนไปอ่านอีกหนึ่งเดือนให้หลัง วันที่ศาลอ่านคำสั่งในประโยคสุดท้ายว่า สาเหตุการตายคือการขาดอากาศหายใจ ผู้ร้อง 34 รายญาติของผู้เสียชีวิตที่ร่วมรับฟังกล่าวเป็นภาษามลายูมีความหมายง่ายๆ ว่า “ใจหาย”คนเสียชีวิตไป 78 รายไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครเป็นผู้กระทำความผิด และไม่ลืมว่ายังมีกรณีคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุหน้าสถานีตำรวจตากใบอีก 6 รายโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอื้อมไปถึง
ในมุมมองทางกฎหมายคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตายและญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องในเรื่องนี้ เพราะผู้เสียหายต้องไปยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนี้ ซึ่งน่าจะพ้นเวลาที่กฎหมายเปิดช่องให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งไต่สวนการตายไปแล้ว
ศูนย์ข่าวอิศราได้รายงานว่ารัฐจ่ายเงินเยียวยารวมแล้วกว่า 700 ล้าน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพจากเหตุการณ์ ผู้ถูกจับกุมกว่า 1300 คน ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีและต่อมาได้รับการถอนฟ้องจำนวน 58 คน ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบกรณีตากใบก็ได้รับเงินเยียวยาในอัตราใหม่ด้วย โดยได้จ่ายไปทั้งสิ้น 641,451,200 บาท เฉพาะผู้เสียชีวิต 85 คน เป็นเงิน 561,101,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 คน, ทุพพลภาพ 1 คน, ผู้ที่ถูกรัฐดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 คน และผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 คน จากยอดรวมของเงินเยียวยา 641,451,200 บาท รวมกับค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายไปแล้ว 42 ล้านบาทเมื่อราวปี 2550 และเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุอีกจำนวนหนึ่ง ยังไม่นับมูลค่าความสูญเสียทางจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต ทุพพลภาพ และได้รับบาดเจ็บซึ่งประเมินค่ามิได้ ทั้งยังไม่รวมถึงความสูญเสียด้านภาพลักษณ์ของประเทศ และถูกกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนำไปใช้เป็นเงื่อนไขขยายมวลชนและก่อความรุนแรงต่อเนื่องไม่จบสิ้น
ดังที่ปรากฎอยู่ในตอนท้ายของฎีกาคำสั่งไต่สวนการตายที่ระบุอย่างชัดเจนถึงเหตุผลของการเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อกระบวนการยุติธรรมกรณีตากใบก้าวไม่พ้นไปจนถึงขั้นที่จะนำมาสู่การปรองดองและการฟื้นฟูเยียวยาที่เหมาะสม ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานยังคงเกิดขึ้นต่อไป
หลักการด้านสิทธิมนุษยชนจริงๆ เป็นกฎหมายธรรมชาติที่เป็นแก่นของการอำนวยความเป็นธรรม เราไม่ควรจะถูกทำร้าย ไม่ควรจะถูกฆ่า ไม่ควรจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยที่ไม่มีกฎหมายมากำหนด แต่กฎหมายบ้านเราตอนนี้ถูกกำหนดโดยกลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่มีความเป็นธรรม การขยายโอกาสให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนได้รับการปกป้องและความเป็นธรรมอาจมีโอกาสได้เหมือนดั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์ ภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม เพราะความโปร่งใส่ตรวจสอบได้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนร้องหา และนั่นคือบทบาทที่นักสิทธิมนุษยชนจะเดินเข้ามาช่วยคลำทางหาความกระจ่าง เพราะประเทศไทยเรายังไม่ได้ปราศจากจุดยึดโยงกับภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ เรายังเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและเรายังต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศอยู่
แต่งานด้านสิทธิมนุษยชนมักจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่ชอบฟื้นฝอยหาตะเข็บและเป็นองค์กรที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ แต่จริงๆ แล้วเราอยากจะให้มองว่า เราเป็นกระจกเงาส่องให้รัฐเห็นการทำงานว่าตอบสนองต่อประชาชนในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนได้สมบูรณ์แล้วหรือยัง รัฐไทยจะต้องก้าวเดินต่อไปทั้งในอาเซียนและในระดับโลก แต่ถ้ารัฐไทยไม่สามารถที่จะคุ้มครองให้ประชาชนในชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เราก็ไม่สามารถที่จะไปพูดคุยกับประเทศอื่นๆ ในบริบทอื่นได้ แม้ประเทศไทยยังมีความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมืองในภูมิภาค ในเวทีระหว่างประเทศทุกคนยังรักประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศเขาต้องการให้รัฐไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีความสวยงามและเคารพสิทธิมนุษยชน
ด้วยความรำลึกถึงครบรอบ 11 เหตุการณ์ตากใบ ปี 2558