[:th]CrCF Logo[:]
การต่อต้านการทรมาน

การกำหนดความผิดทางอาญาของการทรมาน: พันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย

Share

บทความ แปล การกำหนดความผิดทางอาญาของการทรมาน: พันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

เขียนโดย

Sir Nigel Rodley[1] และ Matt Pollard[2]

[1] Sir Nigel Rodley KBE, LLB (Leeds), LLM (Columbia, NYU), PhD (Essex) เป็นศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์และประธานศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยเอสเส็ก

[2] Matt Pollard, LLB (Victoria), LLM (Essex) เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายสมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา [www.apt.ch]

ความรับผิดทางอาญา อาชญากรรมนานาชาติ เขตอำนาจศาล การสั่งฟ้องคดี ความรับผิดชอบของรัฐ การทรมาน

บทความชิ้นนี้สำรวจพันธกรณีที่รัฐภาคีแต่ละแห่งต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ในการกำหนดโทษ สั่งฟ้องคดี และลงโทษการกระทำที่เป็นการทรมานตามกฎหมายอาญาแห่งชาติ ทั้งนี้โดยการวิเคราะห์บทบัญญัติที่ปรากฏในอนุสัญญาและกฎหมายนานาชาติและกฎหมายระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง

เกริ่นนำ                                                                                  

ในช่วงที่มีการลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: UNCAT)[1] มีกฎบัตรสากลซึ่งห้ามการทรมานอยู่แล้ว จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานคือการเสริมแรงให้กับข้อห้ามที่มีอยู่ โดยการกำหนดมาตรการป้องกันและเยียวยาเป็นการเฉพาะ ดังถ้อยแถลงของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ว่า เพื่อให้บรรลุซึ่ง “การดำเนินการตามข้อห้ามที่มีอยู่ในกฎบัตรสากลและกฎหมายระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี”[2] มาตรการเฉพาะซึ่งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นข้อกำหนดให้รัฐภาคีต้องห้ามการทรมานและกำหนดบทลงโทษในกฎหมายอาญาในประเทศ

โดยทั่วไปแล้วกฎบัตรสากลกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านกฎหมายของรัฐอธิปไตย แต่ไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบด้านกฎหมายของบุคคล มีข้อยกเว้นก็คือมีการพัฒนาชุดกฎบัตรสากลซึ่งกำหนดความรับผิดชอบทางอาญาในระดับสากลต่อบุคคลโดยตรง[3] อย่างไรก็ตาม กลไกสำคัญสุดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดเว้นโทษต่อการทรมานที่กระทำโดยบุคคลได้แก่ การกำหนดในกฎบัตรสากลเพื่อให้รัฐแต่ละแห่งกำหนดโทษทางอาญาในระดับชาติต่อการทรมานและให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำตามกฎหมายในประเทศ และมีการพิจารณาคดีในศาลในประเทศ บทความชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสรุปพันธกรณีซึ่งเป็นข้อกำหนดอย่างชัดเจนให้รัฐซึ่งเป็นภาคีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ให้ต้องกำหนดโทษทางอาญา ฟ้องร้องคดีและลงโทษการกระทำที่เป็นการทรมานตามกฎหมายอาญาในประเทศของตน

ระบบกฎหมายอาญาแห่งชาติย่อมมีอำนาจโดยรวมเหนือกว่า มีขั้นตอนซึ่งได้รับการพัฒนามากกว่า และโดยมากมักมีประโยชน์กว่าการใช้อำนาจของศาลอาญานานาชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าว การกำหนดให้มีความรับผิดทางอาญาของบุคคลและให้มีการบังคับใช้ตามระบบกฎหมายอาญาแห่งชาติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำจัดการงดเว้นโทษของการทรมานในระดับโลก ในฐานะที่เป็นข้อกำหนดให้รัฐต้องกำหนดโทษทางอาญาต่อการทรมานในทุกสภาพการณ์ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานจึงเป็นปราการมั่นคงเพื่อต่อต้านการงดเว้นโทษ แม้จะมีข้อกำหนดแต่เดิมให้รัฐต้องกำหนดโทษทางอาญาต่อการทรมานในกฎหมายในประเทศ แต่ข้อกำหนดเหล่านั้นก็ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย[4] หรือมีผลบังคับใช้ที่จำกัดตามลักษณะภูมิศาสตร์[5]หรือบริบท[6]

[1] Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment, G.A. res. 39/46/ annex, 39 UN GAOR Supp. (No.51) at 197/ UN Doc. A/39/51 (1984) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2530

[2] G.A. res. 39/46/ UN Doc. A/RES/39/46 (December 10/1984)/ preamble และโปรดดู  J.H. Burgers and H. Danelius, The United Nations Convention against Torture: A Handbook on the Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (Dordrecht, 1988), p.1

[3] N. Rodley, The Treatment of Prisoners Under International Law (2nd edn, Oxford, 1999), p.120

[4] Declaration on the Protection of All Persons from Being Subjected to Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment, G.A. res. 3452 (XXX), annex, 30 UN GAOR Supp. (No.34) at 91, UN Doc. A/I0034 (1975) (hereafter, “UN Declaration”),  Art.7

[5] Inter-American Convention to Prevent and Punish Torture, O.A.S. Treaty Series No.67, มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2530 ม.6

[6] 1949 Geneva Convention III Relative to the Treatment of Prisoners of War, 75 UNT.S. 135, มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2493 มาตรา 129 และ 130; 1949 Geneva Convention IV Relative to the Protection of Civilian Persons in Time of War, 75 UNT.5. 287, มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2493 มาตรา 146-147

 

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [245.00 KB]