บันทึกวันคนหายสากล 30 สิงหาคม 2558 โดยนางสาวพิมพ์ฉัตร เพิ่มพูน นิสิตรัฐศาสตร์ ปี 4 อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เรื่องเล่าของนูนรียา…หญิงสาวผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
“เพื่อนก็ถามว่าเธอออยู่ได้ไง นูนรียาก็ตอบว่าฉันอยู่แบบนั้นแหละ เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามัวแต่เศร้า เขาก็คงไม่กลับมาละ อะไรก็เหมือนเดิม เศร้าก็มีแต่น้ำตา อนาคตก็ไม่มี”
หากจะถามว่าผู้หญิงที่ชื่อนูนรียาคือใคร ก็คงจะตอบได้ว่าเธอเป็นผู้หญิงชาวมุสลิมคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และเธอเป็นภรรยาของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกอุ้มหาย
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน สามีของเธอหายตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ในวันเกิดเหตุมีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและนักการเมืองท้องถิ่นรวมทั้งหมด 8 คนบุกมาที่บ้านเพื่อเข้าจับกุมตัวสามีของเธอและอุ้มหายไป ในคราแรกเธอยังคงฝากความหวังไว้กับหน่วยงานรัฐให้ช่วยตามหาสามีและทำเรื่องแจ้งความแต่ท้ายที่สุดอัยการกลับสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อันเป็นจุดสิ้นสุดหนทางตามกระบวนการยุติธรรม แต่นั้นไม่ทำให้เธอยอมแพ้ เธอเป็นคนที่พิเศษกว่าใครๆ เธอไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคที่เธอต้องเผชิญและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง ในวันนี้เธอเรียนจบอนุปริญญาจากวิทยาลัยชุมชน จังหวัดนราธิวาส และได้เป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง พร้อมกับเรียนต่อ มสธ. ทางด้านศึกษาศาสตร์เนื่องจากเธอมีความฝันว่าสักวันเธอออยากจะบรรจุรับราชการเป็นครูและเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อก่อนเธอเล่าว่า ชีวิตเธอไม่ต้องดิ้นรนอะไรสามีของเธอทำให้หมด ไม่ว่าจะเป็นทำงานบ้าน จ่ายตลาด แม้แต่ขับรถมอเตอร์ไซค์เธอก็ยังขับไม่เป็น แต่พอเกิดเรื่องทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เธอก็มานั่งคิดว่าแล้วเธอจะทำอย่างไร หากอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีใครเลี้ยงเธอหรอก ดังนั้นเธอจึงต้องทำอะไรสักอย่างแล้วเพื่ออนาคตของตนเองและลูกสาววัย 5 ขวบในวันที่สามีหายไป รวมถึงจะได้ลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้เธอเลือกที่จะเรียนต่อ….
ช่วงเวลาที่เรียนก็มีไม่กี่คนที่รู้เรื่องของเธอ แม้แต่อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เพราะเธอไม่อยากให้ใครมาคบเธอด้วยความสงสาร เธออมองว่าถ้าจะคบกันก็คบที่เธอเป็นตัวของตัวเอง บางทีมีเพื่อนอยากรู้เรื่องของเธอแต่ไม่กล้าถาม เธอก็ออกไปหน้าห้องเรียนแล้วบอกว่า
“ใครอยากรู้เรื่องฉันถามมาเลย เรื่องของเขามาถามคนอื่นละคนอื่นจะรู้ไหม เดี๋ยวฉันจะบอกให้”
แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครกล้าถามหรอกนะ เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงติดตลก ถ้าอยากรู้ก็ให้มาถามเอง ไม่ต้องไปถามเพื่อนอย่างนี้เขาเรียกว่านินทา
ที่เธอเลือกที่จะเรียนต่อและทำงานด้านนี้เพราะเธออยากใช้ความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือลูกเล็กๆ ของคนอื่นบ้าง บางทีเด็กเล็กๆก็อาจจะขาดพ่อเหมือนลูกของเธอ
“เราก็ได้ดูแลเค้า เพราะบางทีเด็กที่โรงเรียนก็ไม่มีพ่อนะ พ่อแม่แยกทางกัน เราเห็นนะ บางทีพ่อแม่แยกทางกัน เวลาพ่อมาเด็กก็ไม่ไปหาพ่อ เราก็จะบอกว่า ถ้าพ่อมาต้องไปหาพ่อด้วยนะ ไม่มีพ่อไม่ได้หรอก แล้วก็รักพ่อด้วย”
นอกจากนี้การที่เธอได้อยู่กับเด็กๆ ก็ช่วยให้เธอลืมอดีตที่เกิดขึ้น
“เด็กๆ ก็ไม่ทันคิดอะไร เค้าจะจริงใจ เค้าไม่รู้เราผ่านอะไรมา เค้าไม่มาถามเรื่องเก่าๆ ว่า แฟนเธอหายไปไหน เค้าก็ไม่ถามเราแบบนั้น บางทีเราก็อยากลืมเพราะเป็นอดีตไปแล้วไง”
เธอเล่าให้เราฟังจนเราคิดว่าการเลี้ยงลูกเธอก็ทำได้ดีไม่แพ้การเรียนหนังสือของเธอ เธอดูแลลูกอย่างดีที่สุดเท่าที่คนๆหนึ่งจะทำให้ลูกได้ เธอมองว่าสังคมปัจจุบันผู้หญิงและผู้ชายมีความทัดเทียมกัน ไม่เกี่ยวแล้วว่าผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง ดังนั้นถ้าพ่อคนอื่นทำได้เธอก็ทำได้ ตอนเช้าเธอไปกรีดยาง เธอทำหน้าที่ในฐานะพ่อ เสร็จแล้วเธอก็ทำกับข้าวให้ลูก ในฐานะแม่ เธอเลี้ยงลูกด้วยตัวเองมา 8 ปี ลูกไม่เคยพูดว่า พ่อคนอื่นทำได้ ทำไมแม่ทำไม่ได้ บางทีลูกยังชมเธอเลยว่า ดีเนอะ มีแม่ก็เหมือนมีพ่อ เพราะแม่ทำได้ทุกอย่าง มีสองบทบาทในคนๆเดียว
“ตอนนั้นพ่อเพื่อนมารับที่โรงเรียน เธอเลยถามลูกว่า ลูกรู้สึกยังไงที่มีเพื่อนมีพ่อมารับที่หน้าประตูโรงเรียน ลูกอยากให้พ่อมารับไหม ลูกก็บอกว่าอยากให้พ่อมารับ เธอก็บอกกับลูกว่าเดี๋ยวแม่มารับเอง ช่วงนั้นเธอยังคงเป็นคนขายของในโรงเรียน เธอก็เดินไปบอกครูว่ามารับลูกและให้คุณครูประกาศชื่อลูกแล้วบอกว่าผู้ปกครองมารับ เธอก็ออกไปข้างนอกเพื่อเข้าประตูหน้าโรงเรียนแล้วไปรับลูก ไม่ต้องให้พ่อทำละ เธอก็ทำได้ เธอก็เป็นพ่อได้ เชื่อยัง…”
ท้ายที่สุดเธอได้ฝากข้อคิดอะไรเล็กๆน้อยให้กับคนที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาเดียวกับเธอหรือแตกต่างออกไป
“อยากบอกว่าถ้าเรายังเศร้าอยู่ สิ่งที่มันทำให้เราเสียแล้ว มันไม่มีวันกลับมา เราก็ต้องหาสิ่งใหม่ๆให้มันทดแทนให้มันดีขึ้น เพราะว่า เราจะได้มีแบบ สังคมที่ดีขึ้น มีสภาพที่ดีขึ้น จิตใจที่ดีขึ้น เราต้องเดินสู่โลกกว้าง ไม่ใช่อยู่กับที่ ชีวิตไม่ได้อยู่กับที่ เราต้องเผชิญอีกหลายๆอย่าง ถ้าเรามัวแต่เศร้า เราจะจมปลักอยู่กับสิ่งนั้นตลอด เราก็หันมาทำสิ่งใหม่ๆให้กับชีวิต ชีวิตจะดีขึ้น….”