[:th]CrCF Logo[:]

ข้อเท็จจริงเรื่องการตรวจเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่ จชต.

Share

ข้อเท็จจริงเรื่องการตรวจเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่ จชต.
1. ปัจจุบันการตรวจเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่มีการดำเนินการด้วยกันสองหน่วยคือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งสองหน่วยงานเป็นหน่วยงานของรัฐ
2. การจัดเก็บดีเอ็นเอส่วนใหญ่จัดเก็บจากเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มจากบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบที่ถูกติดตามจับกุมโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน ในขณะที่ถูกเชิญตัว ควบคุมตัว ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรรมทางอาญา โดยกฎหมายทั้งสองฉบับไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่เจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บอ้างว่ามีการขอคำยินยอม โดยให้ทุกคนลงชื่อยินยอมในเอกสารทุกราย

3. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ. ปัตตานี น่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2550 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีการจัดเก็บดีเอ็นเอทั้งสิ้นกว่า 120,000 รายการทั่วประเทศ เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้มีทั้งสิ้นกว่า 90,000 รายการ
4. ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 เริ่มจัดเก็บจริงจัง ปีพ.ศ. 2555 ของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานมีที่ตั้งที่จังหวัดยะลามีการจัดเก็บดีเอ็นเอในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งสิ้นกว่า 50,000 รายการ
5. กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวนของไทยกำหนดว่าการสั่งให้เก็บและตรวจดีเอ็นเอเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือไม่ก็ศาลต่อผู้ต้องหาที่มีข้อหามากกว่าสามปีขึ้นไป อาจเก็บจากญาติและผู้เสียหายได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และจัดเก็บโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตามที่พนักงานสอบสวนหรือศาลสั่ง
6. เจ้าหน้าที่อ้างว่าการจัดเก็บดีเอ็นเอเป็นขั้นตอนการสืบสวนของทางราชการโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน แม้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่ก็กระทำได้เพราะทุกคนที่ถูกตรวจเก็บ”ยินยอม” โดยลงนามในเอกสารยินยอมทุกราย

7. เจ้าหน้าที่อ้างว่า ไม่ใช่ขั้นตอนการสอบสวนที่กำหนดว่าดำเนินการโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ตรวจเก็บได้ (ปัจจุบันไม่แน่ชัดว่าใครเก็บ ยศ หรือตำแหน่งใด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะหรือไม่อย่างไร)
8. ปัจจุบันนอกจากดีเอ็นเอ ยังมีการจัดเก็บลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสิบนิ้วไปพร้อมๆ กัน เหมือนบุคคลถูกตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
9. ปัจจุบันมีการจัดเก็บดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย
10. อนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์กรสหประชาชาติได้ขอให้ชี้แจงในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีรายงานระบุว่าการตรวจเก็บดีเอ็นเอโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน

TAG

RELATED ARTICLES