มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าพบ พ.อ. อิศรา ที่หน่วย ฉก. 41 ถามแนวทางการตรวจเก็บดีเอ็นเอ และการควบคุมตัวบุคคล โดย: ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2558 ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 (ฉก.41) วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเข้าพบ พ.อ. อิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 เพื่อหารือในเบื้องต้น เกี่ยวกับนโยบายการตรวจเก็บดีเอ็นเอ หรือประวัติพันธุกรรม ทั้งนี้สืบเนื่องจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีข้อกังวลเกี่ยวกับการตรวจดีเอ็นเอบุคคล รวมถึงการจับกุมคุมขังบุคคล เช่นเดียวกับข้อกังวลของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย หน่วย ฉก.41 เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อมูลและเรื่องร้องเรียนว่ามีการนำตัวเยาวชนมาซักถามที่หน่วยดังกล่าว ภายหลังจากผ่านกระบวนการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ทั้งนี้ พ.อ.อิศรา ได้ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และตอบข้อซักถามในประเด็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลรายละเอียดของการตรวจเก็บดีเอ็นเอนั้น พ.อ. อิศรา กล่าวว่าขอให้รับฟังจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นี้โดยตรงพร้อมกันในวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 พร้อมรับฟังและพบปะกับเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยในวันดังกล่าวน่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและละเอียดรอบด้านจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม พ.อ. อิศรา ได้อธิบายโดยคร่าวว่าในเรื่องของการตรวจเก็บดีเอ็นเอนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ตรวจเฉพาะผู้ต้องสงสัยหรือประชาชนตามที่ภาคประชาสังคมได้รับร้องเรียนเท่านั้น แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ยังครอบคลุมถึงการตรวจเก็บดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงด้วย
“ไม่ว่า อาสาสมัคร ทหาร พลทหารทุกคนเราก็ทำการเก็บดีเอ็นเอ เจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธ เราก็เก็บ” พ.อ. อิศรา กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ที่เจ้าหน้าที่ทหารเองก็ถูกตรวจเก็บดีเอ็นเอด้วยเช่นเดียวกันนี้ เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นที่รับรู้มากนัก ทั้งที่อยากให้ข้อมูลนี้ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะในวงกว้างเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ “ถ้าหากตรวจพบดีเอ็นเอที่ตรงกันกับเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ พิสูจน์ตัวเองให้ได้” พ.อ. อิศราระบุ
เมื่อสอบถามถึง กระบวนการหรือขั้นตอนการตรวจเก็บดีเอ็นเอบุคคล พ.อ. อิศรา กล่าวว่าประเด็นดังกล่าวขอให้รับฟังจากเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด ในวันที่ 11 ส.ค. นี้ แต่อธิบายได้ในเบื้องต้นว่า ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นมา ชื่อว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมประจำจังหวัด (นปพ.) โดยหน่วยดังกล่าวร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และชุดสืบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ซึ่งหน่วยดังกล่าวประจำอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในส่วนของการควบคุมตัวบุคคล พ.อ. อิศรา กล่าวว่าเดิมที ในกรณีที่เป็นคดีสำคัญ อาจให้ญาติเยี่ยมได้ หลังจากผ่านไปแล้ว 3 วัน แต่ปัจจุบัน นโยบายของพลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ที่ถูกควบคุมตัวมาได้ตั้งแต่วันแรกและในกรณีที่บ้านญาติของผู้ถูกเชิญตัวมานั้น มีระยะทางไกลและลำบากต่อการเดินทาง ในหน่วย ฉก.41 ก็มีเรือนรับรองไว้ให้สำหรับญาติได้พักค้างคืนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวก โดยเรือนรับรอง อยู่ในบริเวณที่แยกไปต่างหากจากห้องพักของผู้ที่ถูกเชิญตัว
ทั้งนี้ ภายหลังการพูดคุยสอบถามแล้วเสร็จ พ.อ.อิศรา ได้นำคณะมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชมสถานที่ซักประวัติผู้ที่ถูกเชิญตัวมายังหน่วยฉก.41และสถานที่สำหรับการซักถามในเชิงลึกที่มีลักษณะเหมือนห้องพักรับรองของหน่วยงานราชการทั่วไปภายในห้องมีเฟอร์นิเจอร์อำนวยความสะดวก อาทิ โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ และโทรทัศน์ ในบริเวณใกล้เคียงกัน มีห้องบาราเซาะ สำหรับให้ผู้ที่ถูกเชิญตัวใช้เป็นสถานที่ทำละหมาด
สำหรับการพบปะที่ค่ายสิรินธรในวันที่ 11 สค. เวลา 14.00 น.นั้น นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและคณะ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จำนวนหนึ่งจะได้เข้าพบเพื่อขอให้ทางกอรมน.ชี้แจ้งเรื่องการตรวจเก็บดีเอ็นเอบุคคลโดยเฉพาะกับอาสาสมัครเยาวชนในพื้นที่ รวมทั้งมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองนักกิจกรรมภาคประชาสังคม การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตามที่ทางคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์กรสหประชาชาติได้ขอให้ชี้แจงในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดทำรายงานให้ทบทวนเรื่องการตรวจเก็บดีเอ็นเอโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึก