[:th]CrCF Logo[:]
ศาลปกครองสงขลา

คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลใช้เวลากว่า 2 ปีระบุคดีชาวบ้านปุโละปุโย ต้องฟ้องค่าเสียหายที่ศาลยุติธรรม

Share

เผยแพร่วันที่ 6 สิงหาคม 2558

ใบแจ้งข่าว คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลใช้เวลากว่าสองปี ระบุคดีชาวบ้านปูโละปูโยต้องฟ้องร้องค่าเสียหายทางละเมิดให้ฟ้องที่ศาลยุติธรรม

ในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 32/2558 ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่าง ในคดีระหว่างนายยา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี และกองทัพบกที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี วินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี กองทัพบก ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เป็นที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าคน พร้อมด้วยญาติที่เข้าร่วมรับฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล แม้ขั้นตอนการพิจารณาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปีกว่าจะได้ข้อยุตินั้นมีความล่าช้าเกินสมควร ทำให้การพิจารณาคดีหยุดชะงัก ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมพอเพียง แต่ทางผู้ฟ้องคดีทั้งห้าและญาติๆยังต้องต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป โดยผู้ฟ้องคดีจะทำคำร้องขอให้ศาลปกครองสงขลาโอนคดีไปยังศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดปัตตานี) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ฟ้องคดีแต่หากศาลไม่อนุญาต โดยสั่งจำหน่ายคดี ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการยื่นฟ้องเอง ภายใน 60 วัน นับแต่วันสั่งจำหน่ายคดี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ 083-1896598​
นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 089-6222474

สรุปรายละเอียดเรื่องคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

สืบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีนี้คือศาลปกครองสงขลาว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมคือศาลจังหวัดปัตตานี และศาลปกครองสงขลาและศาลจังหวัดปัตตานีมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ สำนักงานศาลปกครองสงขลาจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง (3)

คณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท มาตรา 218 บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา 223 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

ดังนั้นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 223 วรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218

ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า วันเวลาที่เกิดเหตุเห็นว่าขณะเกิดเหตุพิพาทในคดีนี้ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และรัฐบาลขณะนั้นประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทับซ้อนกัน ซึ่งมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ส่วนมาตรา 17 เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ต้องพิจารณาให้ได้ก่อนว่าเป็นการละเมิดหรือไม่ เมื่อพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา 16 นั้นเป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดละเมิดและการเยียวยาตามมาตรา 17 จึงต้องพิจารณาโดยศาลเดียวกัน

ดังนั้นคดีนี้การที่ผู้ร้องทั้งห้าฟ้องค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี กองทัพบก ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คำวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เป็นที่สุด