เผยแพร่ 18 กรกฎาคม 2558
คดีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ศาลนัดฟังคำพิพากษา 1 กันยายน 2558
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ที่ห้องพิจาณาคดี 4 ศาลจังหวัดภูเก็ต ได้มีการสืบพยานจำเลยในคดีที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 กันยายน 2558 เวลา 09.00 น.
คดีนี้กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานซึ่งเป็นเวบไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษออนไลน์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 กรณีเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่อง ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ ในคดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์ กับ บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด โดยนายอลัน จอห์น มอริสัน กรรมการผู้มีอำนาจ กับพวกรวม 3 คน จำเลย
โดยจำเลยทั้งสอง ได้เบิกความยืนยันถึงการทำตามหลักวิชาชีพของสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีพยานในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พยานนักวิชาการ ผู้เชียวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผู้ทำงานกับโรฮิงญา รวมทั้งสิ้น 7 ปาก มีประเด็นสำคัญ คือ
นายอลัน จอห์น มอริสัน ได้เบิกความยืนยันเอกสารที่มีการอ้างว่ากองทัพเรือได้เงินค่าหัวจากชาวโรฮิงญาหัวละ 2,000 บาท นั้น มาจากรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่ากองกำลังทางเรือเป็นผู้ที่ได้รับเงิน ไม่ใช่กองทัพเรือ เหตุที่ลงข้อความดังกล่าว เนื่องจากสำนักข่าวภูเก็ตหวานติดตามเกี่ยวกับเรื่องชาวโรฮิงญามาเป็นเวลานาน และสำนักข่าวภูเก็ตหวานเห็นว่าเรื่องของโรฮิงญาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและคาดหวังว่ารัฐบาลจะมองเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และเพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีการเรียกเก็บเงินจากชาวโรฮิงญา
นางสาวชุติมา สีดาเสถียร เบิกความต่อศาลว่า หลังจากอ่านข่าวของรอยเตอร์แล้ว ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 3 ในขณะนั้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โดยติดต่ออยู่หลายครั้ง จนกระทั่งโทรศัพท์ไปที่สำนักงานแล้วมีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะโทรติดต่อกลับมา แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด หลังจากนั้นอีก 3 วัน กองทัพเรือได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยทางสำนักข่าวภูเก็ตหวานก็ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวด้วย การที่พยายามติดต่อไปเป็นการรับฟังอีกฝ่ายที่ถูกพาดพิง ไม่ใช่เป็นการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว นอกจากติดต่อไปที่กองทัพเรือแล้ว ก่อนลงข่าวก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่ กอ.รมน. และตำรวจน้ำ โดยบุคคลที่พยานติดต่อคือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนแยก 1 ในขณะนั้น ปัจจุบันถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 พยานได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอลันและนางสาวชุติมาว่ามีการละเมิดสิทธิของสื่อมวลชน หลังจากรับคำร้องแล้ว ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบ โดยได้เรียกฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาให้ถ้อยคำ ตลอดจนได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ พยานเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่จากประสบการณ์การทำงาน การบังคับใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เนื่องจากมีการนำมาใช้กับความผิดอื่น เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นางสาวสาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชียวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เบิกความต่อศาลว่า จากการทำวิจัยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น มาตรา 14 ซึ่งค่อนข้างที่จะหาขอบเขตได้ยากในการตีความและปล่อยให้เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจมากเกินไป มีการวางตำแหน่งของคำและการใช้ถ้อยคำที่สับสน โดยอธิบายว่า มาตรา 14(1) ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาท เจตนารมณ์ที่แท้จริงเพื่ออุดช่องว่างของการกระทำปลอมแปลงเอกสารที่ไม่สามารถจับต้องได้ ความผิดที่มุ่งหมายตามกฎหมายนี้ คือ ความผิดอาชกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การล่อเหยื่อออนไลน์ (Phishing) เป็นการหลอกลวงโดยใช้อีเมล์หรือเวบไซต์ปลอมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล แต่ปัจจุบันมีการนำไปใช้ฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมากซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับดังกล่าว
โดยในการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 14 -16 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น มีองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทยร่วมรับฟังและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย เช่น พันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Aliance) คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) ผู้แทนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้แทนจากสถานทูตออสเตรเลีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล (ทนายความ) 081-8332619
ดูรายละเอียดคดีเพิ่มเติมได้ที่
http://phuketwan.com/tourism/phuket-journalists-face-court-april-says-prosecutor-20042/
หรือ http://freedom.ilaw.or.th/case/554
—
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
โทรศัพท์ /แฟ๊กซ์ : 02-6930682
อีเมล์ : hrla2008@gmail.com
http://www.naksit.org
………………………………………………..
Human rights Lawyers Association (HRLA)
email : hrla2008@gmail.com tel/fax : 02-6930682
http://www.naksit.org