[:th]CrCF Logo[:]
รายอที่คลองไผ่

รายอที่คลองไผ่ โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

“รายอที่คลองไผ่” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ช่วงนี้เป็นช่วงสิบวันก่อนวันฮารีรายอตามประเพณีนิยมของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้และอาจหมายถึงมุสลิมทั่วทั้งโลก ทำให้เราคิดถึงเพื่อนๆ ที่ร่วมทำกิจกรรมในเรือนจำทั้งสามจังหวัดและที่จังหวัดสงขลา ว่ายังคงมีอีกหลายคนที่ไม่ได้โอกาสในการร่วมประเพณีฮารีรายอกับคนในครอบครัว การปฏิบัติศาสนากิจในเรือนจำในประเทศไทยไม่ได้เป็นข้อจำกัดใดใด ทั้งในช่วงเดือนปกติและช่วงเดือนรอมฎอน หากแต่ประเพณีนิยมนี้ผูกพันชาวมลายูมุสลิมทั้งในด้านศาสนา และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เมื่อวันรอยอกำลังจากมาถึงในเวลาไม่ถึง 10วัน รอยอ ในเรือนจำก็ทำให้เราคิดถึงคลองไผ่ ชื่อเรือนจำกลางคลองไผ่ นครราชสีมาก็ลอยเข้ามาในความรู้สึก

เมื่อราวเดือนมีนาคม 2558 ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลาว่ามีเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำกลางสงขลาว่า มีการย้ายผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจากเรือนจำกลางสงขลาไปยังเรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 คน โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสงขลาให้เหตุผลว่าแต่เพียงว่ามีความกระด่างกระเดื่องเหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่แดน 2 เราไม่ทราบเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างไรแต่ผลของเหตุการณ์วันนั้นทำให้ผู้ต้องขังอย่างน้อย 5 คนย้ายเรือนจำไปยังเรือนจำที่ห่างไกลคนละภูมิภาค มีความแตกต่างทางภาษา ศาสนา ส่งผลให้ครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะยากจนจึงสร้างความทุกข์ใจและยากลำบากให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามอ้างถึงเหตุผลถึงความยากลำบากของผู้ต้องขังที่ต้องห่างไกลครอบครัวเพื่อขอให้ย้ายกลับภูมิลำเนามาตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาแต่ก็ไม่เป็นผล จากการพูดคุยกับญาติของหนึ่งในผู้ต้องขังพบว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยมเพียงหนึ่งครั้ง

photo (11)

โดยปกติในการบริหารจัดการเรือนจำในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งเรือนจำกลางสงขลา ทั้งทางราชทัณฑ์และหน่วยงานด้านความมั่นคงมีความประสงค์จะสร้างกระบวนการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังโดยเฉพาะคดีความมั่นคงซึ่งเป็นนักโทษทางความคิด โดยอนุญาตให้หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการสานเสวนาหรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นถึงสภาพปัญหาของแต่ละฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่น่าส่งเสริมโดยทุกฝ่ายมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรมนอกเรือนจำก็ว่ากันไปในอีกบริบทหนึ่งกับหน่วยงานด้านความยุติธรรมทั้งศาล อัยการ ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงที่มีส่วนเกี่ยวกับการจับกุม สอบสวนสอบสวน และการควบคุมตัว หรือแม้แต่เรื่องเขตปกครองพิเศษ แบ่งแยกดินแดน หรืออะไรก็ตาม แม้ว่าเราพัฒนาการทำงานร่วมกันมาได้ระดับหนึ่งระหว่างรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนรวมทั้งภาคประชาสังคมแต่สภาพปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมอยู่

พอคิดถึงคลองไผ่ เรือนจำห่างไกลบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใจทำให้คิดไปว่าผู้ต้องขังจังหวัดชายแดนใต้ในคดีความมั่นคงเหล่านี้จะได้โอกาสปฎิบัติกิจทางศาสนาและมีพื้นที่ให้คิดให้แลกเปลี่ยนเหมือนอย่างเคยหรือไม่ในดินแดนอีสาน อคติในใจก็ยังคงมีแม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากเพื่อนคนราชทัฑณ์เสมอมาว่าไม่ต้องห่วง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมาจึงได้ตัดสินใจขออนุญาตเข้าพบผู้ต้องขังทั้ง 5 รายแทนเพื่อนในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมนำสิ่งของมาบริจาคตามกำลังทรัพย์ ต้องขอบอกว่าเกินคาดและประทับใจ และ รู้สึกอุ่นใจขึ้นเมื่อทราบว่า พต. รัฐกฤษณ์ ใจจริง แม้จะมี ยศเป็นทหารแต่มีความเป็นราชทัณฑ์เต็มตัว อีกทั้งเคยเป็นผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาก่อนและท่านได้มาปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำคลองไผ่แห่งนี้เมื่อ6เดือนทีผ่านมานี้เอง นั่นคงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราได้รับโอกาสในการเข้าพบและพูดคุยอย่างเปิดเผยกับ ผบ. เรือนจำ รัฐกฤษณ์ และกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและผู้ต้องขังมุสลิมซึ่งได้มาอยู่ร่วมกันในสองแดน เพื่อการบริหารจัดการการปฎิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอน

ผบ.เรือนจำคลองไผ่ท่านนี้เล่าให้ฟังว่า ประสบการณ์ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดตากทำให้มีความเข้าใจมุสลิมและศาสนาอิสลามมากขึ้น เมื่อใกล้เดือนถือศีลอดก็จึงได้มีการจัดการย้ายแดนให้มีสองแดนที่ผู้ต้องขังมุสลิมมาอยู่รวมกันและจัดการบริหารทั้งเรื่องผ้าละหมาด เสื้อใหม่ อินทผลัม ผ้าโสร่ง อาหารจำเป็นเช่น อาหารสำเร็จรูปที่เป็นฮาลาล สิ่งเหล่านี้ได้ความอนุเคราะห์จากเรือนจำนราธิวาสที่จัดส่งมาให้และจากชมรมมุสลิมต่างๆ ที่เสนอมาขอบริจาคมาในช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั้งโลกและก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้ต้องขังมุสลิมในเรือนจำคลองไผ่ แต่ที่แตกต่างกันและยังคงเป็นเสียงที่ก้องอยู่ในหู จากผู้ต้องขังรายหนึ่งในวันที่เราได้พบปะกับเขาว่า “ผมอยากกลับบ้านรายอ”

ประเพณีที่ผูกพันระหว่างหลักการทางศาสนากับครอบครัวมีอยู่ด้วยกันทุกศาสนา ว่าไปแล้วเทศกาลรายอก็คงเหมือนคริสต์มาสของคริสตศาสนา และก็เหมือนกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หลายปีแต่ละปีก็มีเรื่องเล่าวันรายอแตกต่างกันไป การกลับบ้านรายอเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาแต่คงเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่คลองไผ่ปีนี้

11709657_1036130756398225_7826018305635825948_n

เรือนจำกลางคลองไผ่ที่เห็นวันนี้มีความสะอาด กว้างขวาง และทันสมัยในเรื่องการตรวจร่างกายก่อนเข้าสู่เรือนจำมาตรฐานเดียวกับสนามบินนานาชาติทีเดียว มีเครื่อง Body scan ที่เห็นแม้กระทั่งกระดุมและกระดูกไปพร้อมๆ กัน เรือนจำกลางคลองไผ่แห่งใหม่มีอายุ 16 ปี แต่เรือนจำหลังเก่าตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2479 มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล และคำสั่งลงโทษของผู้มีอำนาจ โดยมีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษตั้งแต่ 15 ปี ถึงประหารชีวิต มีความจุควบคุมผู้ต้องขังจำนวน 3,500 คน ตัวเลขปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 3444 คน เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชายรวม 2650 คน ระหว่างการอุทธรณ์ฎีกาชายรวม 645 คน คามผิดส่วนใหญ่กว่าครึ่งเป็นคดียาเสพติด รองลงมาเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

ผบ.เรือนจำรัฐกฤษณ์เล่าให้ฟังว่าเรือนจำนี้มีชื่อว่า เป็นเรือนจำดื้อด้าน คือจะควบคุมผู้ต้องขังโทษสูงในจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ หรือผู้ต้องขังที่ถูกส่งมาจากเรือนจำอื่นที่มีพฤติการณ์แหกหักหลบหนี พยายามแหกหักหลบหนี หรือการก่อจราจล การเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมก็มีไม่บ่อยนัก กลุ่มพวกเราอาจเป็นกลุ่มผู้หญิงกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้ามาในเรือนจำชายความมั่นคงสูงแห่งนี้ การควบคุมและการบริหารก็มีการวางแผนที่จะจัดระเบียบและให้ผู้ต้องขังเหล่านี้กลับสู่ภูมิลำเนาหลังจากจบโครงการ โครงการมีระยะเวลา 9 เดือน แบ่งเป็นสามช่วง สามเดือนแรกฝึกทบทวนตัวเอง สร้างลักษณะนิสัย จัดระเบียบการอยู่ร่วมกัน สามเดือนถัดมาจัดให้มีโครงการอบรมงานด้านอาชีพและศิลปะ สามเดือนสุดท้ายมีการฝึกระเบียบแถวและการสวนสนาม เมื่อครบโครงการโดยไม่สอบตกนั้นก็จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการให้กลับภูมิลำเนาตามประสงค์ รวมทั้งการได้เข้าร่วมโครงการครอบครัวสัมพันธ์ ซึ่งครั้งนี้ของเพื่อนๆมุสลิมจำนวน 68 รายคงไม่ทันรายอ

จากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนในระยะเวลาสั้น ๆ และไม่ได้เป็นการพูดคุยเป็นการส่วนตัว เราเห็นบรรยากาศทางกายภาพที่สะอาด อากาศดี เสื้อผ้าหน้าตาสะอาสะอ้าน มีผ้าโสร่งใหม่ๆ และผ้าละหมาดผืนใหม่กันทั่วหน้า หากแต่บางคนมีในตาหมองเศร้าและครุ่นคิดหากแต่เราคงไม่มีโอกาสได้ทราบความในใจ ครั้นถามว่ามีใครที่ยังไม่เคยมีญาติมาเยี่ยมไหมอย่างน้อย 15 คนได้ยกมือขึ้นและบอกว่าส่วนใหญ่เป็นพี่น้องจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนสิ้นสุดการสนทนาเพื่อนมุสลิมในคลองไผ่ได้คำมั่นจากผบ.เรือนจำท่านนี้ว่าเรามีกติกาเดียวคือเราเห็นว่าทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เราทุกคนมีศักดิ์มีศรีและเพื่อนมุสลิมก็ได้ปฏิบัติตนให้เราเคารพซึ่งกันและกันได้ดีตลอดมา จากนั้นก็มีการขออนุญาตที่จะจัดพิธีกรรมทางศาสนาในวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่จะถึงคือการละหมาดและการรับประทานอาหารร่วมกัน รายการอาหารที่เสนอมาคือ “ข้าวหมก”

ครั้งนี้เราคงมีพันธกิจแค่เพียง “ข้าวหมก” สำหรับเพื่อนมุสลิมในคลองไผ่ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แม้ไม่สามารถเติมเต็มในสิ่งที่พร่องที่ขาดไปคือการกลับไปรายอที่บ้านหรือการย้ายกลับภูมิลำเนา สำหรับรอยอที่คลองไผ่สำหรับปีนี้หวังว่า “ข้าวหมก” จะมีมากพอสำหรับทุกคน ผบ.กล่าวตอนท้ายว่า เจ้าหน้าที่ที่เรือนจำคลองไผ่จำนวน 161 คนก็ชอบข้าวหมก นะครับ เป็นจบการสนทนาที่เป็นมิตรต่อกัน สลามัตฮารีรายอ ณ คลองไผ่

ปล. พอเดินทางกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพ ทางผบ.เรือนจำได้ส่งจดหมายขอบคุณเขียนด้วยตัวบรรจงจากผู้ต้องขังคดีความมั่นคงแดน 5 รายหนึ่ง เขียนขอบคุณท่านที่จัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารแก่ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาอิสลามมาให้ ขอขอบคุณทาง ผบ. เรือนจำรัฐกฤษณ์ มา ณ ที่นี่ด้วยค่ะ