สรุปความคิดเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเด็น สิทธิสตรีและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีมหาเถรสมาคมมีมติห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย สรุปประเด็นได้ดังนี้
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองพิจารณาดำเนินการโดยพิจารณาดำเนินการตรวจสอบในสองประเด็นนี้คือ ประเด็นที่หนึ่ง มหาเถรสมาคมมีมติห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทยขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ประเด็นที่สอง การขับไล่สามเณรีออกจากวัดสืบเนื่องจากมติของมหาเถรสมาคมเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
- สืบเนื่องจากประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมีความเห็นว่ามติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 27/2557 มติที่ 609/2557 แม้จะอิงอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แต่ก็ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่คุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนา มติดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
- ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มหาเถรสมาคมมีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ต่างชาติ ดังนั้นการแจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศงดตรวจลงตรา (visa)ให้กับคณะสงฆ์ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการบวชสตรีเป็นสามเณรี สิกขมานาและภิกษุณีและกรณีที่คณะสงฆ์ตามกรณีดังกล่าวจะเข้ามาในประเทศไทยต้องมีหนังสือนิมนต์จากองค์กรของคณะสงฆ์ไทยและมีหนังสือรับรองจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งลงไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อตรวจลงตราให้เข้ามาในประเทศไทย การงดตรวจลงตราดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพในการเดินทางซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ และเป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาของสตรีไทยที่มีสิทธิจะบวชสามเณรีและภิกษุณีกับคณะสงฆ์ชาวต่างชาติที่อยู่นอกกรอบขอบเขตอำนาจของมหาเถรสมาคม
- สืบเนื่องจากประเด็นการไล่สามเณรีออกจากวัดตามมติของมหาเถรสมาคม ถือได้ว่าเป็นการขับไล่สามเณรีซึ่งเป็นอาคันตุกะออกไปเสียจากวัดควรได้รับการตรวจสอบจากมหาเถรสมาคมเนื่องจากวัดในพุทธศาสนาเป็นสมบัติร่วมกันของพุทธศาสนิกชนไม่ว่าผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะหญิงจะชาย หรือนักบวชต่างนิกายก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะพำนักอาศัยในวัดต่างๆ ได้เมื่อมีเหตุจำเป็น