HRLA

ขอให้ศาลอาญา ตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

Share

เผยแพร่วันที่ 29 มิถุนายน 2558

จดหมายเปิดผนึก ขอให้ตรวจสอบการขอออกหมายค้นรถยนต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่  27  มิถุนายน  2558  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้ขออนุญาตออกหมายค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 9966  ยโสธรของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ  ซึ่งเป็นหนึ่งในทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความของผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษา 14 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าตามหลักการในทางสากลและตามหลักการปฏิบัติหน้าที่ทนายความนั้น ย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความดังที่กำหนดไว้ในการทำหน้าที่ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529   ซึ่งมีสาระสำคัญตามข้อ 11 และข้อ 12 ว่า ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล และห้ามกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ซึ่งออกตามความในมาตรา 27(3)(จ)  และมาตรา 51 และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528

ด้วยเหตุดังกล่าว ในกระบวนการขั้นตอนการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวน  พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องให้ข้อมูลต่อศาลว่าเป็นการขอออกหมายเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความผู้ต้องหา  ทั้งนี้  เพื่อให้ศาลมีข้อมูลดังกล่าวประกอบการตรวจสอบการขอออกหมายค้นของพนักงานสอบสวน ตามระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ.2545  ข้อ 18  ซึ่งระบุว่า  “ในกรณีที่การจับหรือการค้นมิอาจจะกระทำได้เพราะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นให้เอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันแก่บุคคลหรือสถานที่ใดไว้  ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น” ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ทนายความย่อมได้รับความคุ้มครองตามระเบียบข้าราชการตุลาการฯ ข้อ 18 ดังกล่าวด้วย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องแจ้งข้อมูลต่อศาลว่าเป็นการขอออกหมายค้นเพื่อค้นรถยนต์ของทนายความ  เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ออกหมายค้น  หากไม่มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ศาลทราบ  อาจมีผลให้การออกหมายค้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สิ่งของใดๆ ที่ได้มาจากการค้นย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ทั้งนี้  เพื่อให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  อันจะเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความโดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมต่อไป

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading