ขอเชิญร่วมงาน ปฏิบัติการ (ไม่)ลับ ฉบับสื่อๆ : สื่อกับการป้องกันการทรมาน กิจกรรมวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากลขององค์การสหประชาชาติ
วันพุธที่ 24 มิถุนายน 2558
เวลา 10.00-12.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปกรุงเทพฯ
เนื่องด้วยวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ.1984 เป็นวันที่อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน หรือการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการย่ำยีศักดิ์ศรี ได้รับการรับรองโดยประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ ดังนั้นองค์กรสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ วันที 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านการทรมานฯ และเป็นวันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทรมานฯ และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯขององค์การสหประชาชาติแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมานับเป็นเวลาแล้ว 8 ปี
ผู้เสียหายจากการทรมานมีทั่วโลก และในประเทศไทยก็มีผู้เสียหายจากการทรมานทั้งที่ได้มีการจดบันทึกและทั้งที่ไม่มีการจดบันทึกข้อเท็จจริงไว้หลายราย ผู้เสียหายจากการทรมานหลายคนไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวการทรมานให้ใครฟังแม้แต่คนในครอบครัว บางคนใช้เวลานานนับปีจึงจะเริ่มเล่าเรื่องราวเหล่านั้น หลายคนมีอาการหวาดกลัวและผลกระทบทางจิตใจในลักษณะ PTSD ทั้งๆ ที่บาดแผลตามเนื้อตัวร่างกายได้หายไปแล้ว
ในปัจจุบันการทรมานในหลายประเทศยังไม่เป็นความผิดอาญา รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยกฎหมายได้กำหนดแต่เพียงว่าถ้อยคำหรือพยานหลักฐานใดๆ ที่ได้มาจากการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา หรือสารภาพ ศาลจะไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยไม่มีมาตรการทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติในการป้องกันและยุติการทรมานที่่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีมาตรการฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมาน นอกจากนี้ความเข้าใจเรื่องทรมานยังคงอยู่ในวงจำกัดเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายจากการทรมาน กลุ่มผู้เสียหายและญาติ แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในกลุ่มประชาชนทั่วไป อีกทั้งสื่อมวลชนก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการนำเสนอประเด็นการป้องกันการทรมาน ทำให้ความพยายามในการต่อต้านการทรมาน ยังเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้รับการเปิดเผยอย่าง กว้างขวาง ส่งผลให้สังคมโดยรวมไม่เข้าใจผลกระทบ จากการทรมานที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม และไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบทั้งต่อผู้เสียหาย ครอบครัว สังคม และต่อมนุษย์ด้วยกัน ส่งผลให้สังคมไทยยังไม่ตระหนักถึงความร้ายเเรง ของการทรมานเท่าที่ควร
ดังนี้เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องการทรมานให้ชัดเจนและมากขึ้น โดยมุ่งหมายให้สื่อเห็นความสำคัญถึงการต่อต้านการทรมาน และให้เกิดความตระหนักร่วมกันในการป้องกันและยุติการทรมานในประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มผส) ร่วมกับ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงต้องการทำความเข้าใจกับสังคมในเรื่องการป้องกันการทรมาน โดยจัดให้มีเสวนาในหัวข้อ “สื่อและการป้องกันการทรมาน” และจัดให้มีการเผยแพร่หนังสั้น อินโฟกราฟิค และวารสารฉบับพิเศษ ในหัวข้อ “การทรมาน” ซึ่งเป็นสื่อที่จัดทำโดยนักศึกษาที่จัดทำร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Canada Fund โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะจัดขึ้นวันที่ 24 มิถุนายน 2558 เวลา 10.00-12.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ
- 9.30 น. ลงทะเบียน
- 10.00 น. กล่าวเปิด Opening Remarks by Ambassador of Canada, Excellency Philip Calvert
- 10.10 น. การฉาย Information Graphic จำนวนสอง เรื่อง วิทยากรรับเชิญ (ทีมผู้ผลิต)
- 10.30 น. การฉายหนังสั้น เรื่อง “ผู้ร้าย” และคุยกับผู้กำกับและทีมงาน พร้อมผู้กำกับหนังสั้น
- 11.00 น. พูดคุยเรื่องการจัดทำวารสารฉบับพิเศษเรื่อง “ทรมาน” เรื่องของใครก็เป็นเรื่องของคุณ
เวทีเสวนา สื่อและการป้องกันการทรมาน
- ดร.รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข มูลนิธิกระจกเงา
- ดร. ปานใจ โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
- อาจารย์ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ภาควิชาสื่อศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ดำเนินรายการ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ILAW
- 12.15 น. ถามตอบ
- 12.30 น. กล่าวปิด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม